21 ก.ค. 2023 เวลา 08:42 • การเกษตร

จักจั่นในอ้อยและการป้องกันกำจัด

จักจั่น
ชื่อสามัญ Cicada
ชื่อวิทยาศาสตร์ Platypleura cespiticola Boulard
อันดับ Hemiptera
วงศ์ Cicadidae
“จักจั่น” ที่พบการระบาดในไร่อ้อย เป็นชนิด Platypleura cespiticola Boulard มีขนาดเล็ก ลำตัวอ้วนป้อมสีน้ำตาลเข้ม หัวสั้น มีความกว้างเท่ากับแผ่นหลังปล้องที่ 2 ปากเป็นแบบเจาะดูด ขาหน้ามีขนาดใหญ่ ใช้สำหรับขุดดิน มีหนวดเป็นรูปขน มีตาเดี่ยว 3 ตาเรียงกัน เป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนหัว ลำตัว และท้องจะเชื่อมต่อเป็นส่วนเดียวกัน แผ่นหลังสีเหลือง มีแถบสีดำทอดตามยาวลงมา 4 แถบ
แผ่นปิดอวัยวะทำเสียงค่อนข้างใหญ่และค่อนข้างแยกห่างกัน ปีกมีสีน้ำตาลอ่อน ปีกคู่หน้า ส่วนโคนปีกมีสีน้ำตาลขุ่น ส่วนปลายปีกค่อนข้างใส เส้นปีกมีสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หลังพื้นปีกเป็นสีน้ำตาลอ่อนตรงกลางปีกมีจุดวงกลมสีน้ำตาลเข้ม บริเวณเส้นปีก ใกล้ขอบปีกเป็นสีน้ำตาลเข้ม
ไข่
ลักษณะการวางไข่ ตัวเมียจะเจาะใบอ้อยที่บริเวณเส้นกลางใบอ้อย เป็นรูเล็ก ๆ เพื่อวางไข่ มักพบที่ใบแก่สีเขียว ประมาณใบที่ 3 – 5 นับจากใบล่าง จากนั้นเส้นกลางใบ จะเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อพลิกดูใต้ใบอ้อยจะเห็นเป็นจุด ๆ เรียงเป็นแนว ซึ่ง 1 กลุ่มไข่มีประมาณ 7 - 12 จุด และ 1 จุด มีไข่ประมาณ 7 - 12 ฟอง เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อนจะร่วงลงสู่พื้นดิน
ลักษณะของตัวอ่อน
มี 5 ระยะ ตัวอ่อนในระยะแรก มีขนาดเล็กมากประมาณ 2 มิลลิเมตร ตัวอ่อนจะทิ้งตัวลงดิน และใช้ขาคู่หน้าที่พัฒนาเป็นขาขุด ขุดดินลงไปอาศัยอยู่ใต้ดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึงมากกว่า 2.5 เมตร มีปากแบบเจาะดูดโดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากอ้อย
ตัวเต็มวัย
มีลักษณะลำตัวอ้วนป้อม สีน้ำตาลเข้ม หัวสั้น เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่ จะไต่ขึ้นมาบนลำต้น เพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ในเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม วงจรชีวิตโดยรวมประมาณ 2-5 ปี แต่มีบางชนิดที่มีวงจร ชีวิตยาวนาน ถึง 17 ปี จักจั่นตัวผู้สามารถทำเสียงได้ดังมาก มักส่งเสียงร้องในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน ส่วนตัวเมีย ไม่สามารถทำเสียงได้ส่วนใหญ่แล้วการทำเสียงของจักจั่นจะเป็นการร้องเรียกเพื่อหาคู่ ตัวเมียจะเป็นฝ่ายเลือกตัวผู้ โดยจะยอมผสมพันธุ์กับตัวผู้ที่เสียงถูกใจมากที่สุด
ความเสียหาย
ทำให้ต้นอ้อยชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น เหี่ยวและแห้งตาย ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงเป็นจำนวนมาก
แนวทางการป้องกันกำจัด
เนื่องจากการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดจักจั่นในอ้อย เป็นการลงทุนที่สูงและยังไม่ได้ผล จึงแนะนำแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
ระยะสั้น (เร่งด่วน)
1. การไถตากดินหรือไถพรวนดินก่อนปลูก เป็นวิธีการกำจัดตัวอ่อนจักจั่นอย่างมีประสิทธิภาพ
2. การจับตัวเต็มวัยโดยใช้แสงไฟเป็นตัวล่อในเวลากลางคืน และการไล่จักจั่นไปรวมกันในมุ้งตาข่ายแล้วจับในเวลากลางวัน
3. การปลูกพืชชนิดอื่นสลับกับการปลูกอ้อย เช่น เปลี่ยนพื้นที่ไปทำนา เป็นต้น
4. รณรงค์การตัดใบอ้อยที่พบกลุ่มไข่ของจักจั่น และนำไปทำลายนอกแปลง
ระยะยาว
ศึกษาวงจรชีวิตเพื่อให้ทราบถึงระยะการเจริญเติบโตของจักจั่นในแต่ละช่วงวัยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาวิธีในการป้องกันกำจัดโดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานอ้อยและน้ำตาล ผู้นำท้องถิ่น และเกษตร
วงจรชีวิตของจักจั่น
จักจั่นเจริญเติบโตเป็นแบบไม่สมบูรณ์ คือ ระยะตัวอ่อนมีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับตัวเต็มวัยต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก เมื่อลอกคราบแล้วปีกจึงจะค่อย ๆ ยาวออก
เรียบเรียง : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา