Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
24 ก.ค. 2023 เวลา 08:51 • กีฬา
สนามกีฬาแห่งชาติเกรด A ในไทย ฝันที่รู้สึกจะไกลเกินเอื้อม
เหตุการณ์ฝนตก-น้ำขังในสนามฟุตบอล ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เอาจริงๆ มันเกิดขึ้นบ่อยมาก ทุกๆ หน้าฝน
2
ถ้าเป็นสนามของสโมสรที่เอกชนจัดการ ผมว่าผู้คนอาจจะไม่ซีเรียสอะไรมาก แต่พอมันเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ ใช้ชื่อว่า National Stadium แล้วคุณภาพได้แค่นี้ ไม่แปลกที่ประชาชนจะตั้งคำถามกัน ว่าประเทศเราจะหาสนามคุณภาพสูง ที่สมบูรณ์พร้อมไม่ได้เลยหรือ?
สนามศุภชลาศัย สร้างมา 82 ปี ปัจจุบันนี้ยังยึดโครงสร้างแบบเดิม รูปทรงยังยึดแบบโบราณ ถ้าไปดูเวมบลีย์ที่อังกฤษที่เก่าแก่มากๆ เหมือนกัน พวกเขาไม่ยอมอยู่เฉย ปล่อยให้โบราณแบบนั้นไปเรื่อยๆ พอเปิดใช้งานได้ 77 ปี รัฐบาลตัดสินใจทุบสนามเดิมที่เป็นทรงหอคอยคู่ทิ้ง แล้วรีโนเวทใหม่หมดทุกอย่าง มีสัญลักษณ์ใหม่เป็น Arc และ Facility ด้านในอัพเกรดให้ทันสมัยที่สุด
แต่ศุภชลาศัยยังยึดความเรโทรต่อไป และไม่ใช่แค่โครงสร้างอาคารเท่านั้นที่แย่ แต่พื้นสนามในส่วนของ Pitch พอฝนตกทีก็อวสานเลย กลายเป็นปลักโคลน
ผมเชื่อว่าคนดูบอลไทย คงยากจะลืมเหตุการณ์ชิงแชมป์เอเชียรุ่น u-23 รอบคัดเลือกลุ่ม H ในปี 2017 ที่ฝนตกลงมาจนน้ำท่วมสนาม ต้องแข่งต่ออย่างทุลักทุเล ผู้จัดเอาป้ายโฆษณามารีดน้ำออกไปแบบน่าเวทนามาก
พานักฟุตบอลลงมาเตะ ก็เล่นแทบไม่ได้ เพราะติดบ่อน้ำ นักเตะเลี้ยงบอลไม่ได้ต้องงัดบอลให้ข้ามบ่อ คือไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นภาพของสนามฟุตบอลที่จัดทัวร์นาเมนต์ระดับเอเชียขนาดนี้
อันนั้นคือศุภชลาศัย ขณะที่ราชมังคลากีฬาสถาน สร้างเสร็จในปี 1998 เพื่อรองรับเอเชียนเกมส์ ปัจจุบันมีอายุ 25 ปี ผ่านการปรับปรุงมาแล้ว ด้วยการติดเก้าอี้ แต่ยังไม่มีการรีโนเวทครั้งใหญ่ โครงสร้างยังใช้แบบเดิมอยู่
ปัญหาของสนามราชมัง มีหลายส่วน แต่หลักๆ คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดฝนตก แฟนกีฬาจะพบเจอความลำบากมาก
ข้อแรก ราชมังฯ ไม่มีรถไฟฟ้า หรือรถใต้ดินผ่าน ขนส่งมวลชนมีแต่รถเมล์ แต่หน้าถนนรามคำแหงที่มีไซส์ 2-3 เลน เราก็รู้ก้นอยู่ว่า เวลามีอีเวนต์อะไร รถก็ติดแหง็ก ไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพประชาชนล้นออกมาจากฟุตบาท คือมันมีชุลมุนมาก
มันเป็นช่องทางให้พวกมอเตอร์ไซค์รับจ้างเอาเปรียบคนดูกีฬา ตอนบอลเลิกมา มีพวกวินมายืนดักรอคน ถามว่าให้ไปส่งแอร์พอร์ตลิงค์ใหม่ ระยะทางกิโลกว่า แต่คิดเงิน 300 แบบนี้ก็มี
3
ข้อสอง น้ำขังมีทุกจุด รอบสนามๆ ตรงเส้นถนน แถวๆ สมาคมฟุตบอล (แห่งใหม่) หรือตรงศูนย์บ็อกเซีย ฝนตกที ก็น้ำท่วมที เดินทางยากมาก
ข้อสาม จุดจอดรถใต้ราชมังฯ ยิ่งกว่าแดนสนธยา ถ้าใครเข้าไปจอดตรงนั้น เหมือนเล่นเกม Last of Us ที่จะเจอซอมบี้เชื้อราวิ่งเข้ามากัด ผมไม่ได้พูดเกินจริงนะครับ ลองเข้าไปดูที่จอดรถใต้ราชมังฯ ได้เลย สยองขนาดนั้นเลยครับ
1
ข้อสี่ สนามราชมังฯ มีสแตนด์ฝั่งเดียวเท่านั้นที่มีหลังคาบังฝน คือสแตนด์ฝั่งทิศตะวันตก ส่วนอีก 3 ด้านนั้น แฟนบอลใส่เสื้อกันฝนเอาเอง จนแทบจะกลายเป็นโลโก้ของสนามราชมังฯ ไปแล้ว ที่พ่อค้าแม่ค้าเอาเสื้อกันฝนมาขายหน้าสนาม
ข้อห้า คือ Facility ในราชมังฯ ไม่ดีพอจริงๆ ห้องน้ำส่วนใหญ่สกปรกมาก บูธขายของต่างๆ ก็มีน้อย
และแน่นอน ข้อหก คือ Pitch ถ้าฝนตกปั๊บ ก็ทำใจได้เลยว่า มีโอกาสสูงที่จะเจอน้ำขังชนิดที่ส่งผลต่อการเล่น ซึ่งก็คือเหตุผลที่เลสเตอร์ กับ สเปอร์ส ยกเลิกเกมการแข่งขันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั่นเองครับ
1
สำหรับเจ้าของราชมังฯ คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ครับ โดยกกท. ได้งบจากรัฐบาลทุกปี ในการทำนุบำรุงสนาม คือถ้าในยามปกติ แดดแรง ราชมังฯ ก็ใช้การได้โอเคครับ ดังนั้นแฟนบอลจึงต้องภาวนา ว่า "อย่าให้ฝนตก" แค่นั้นจริงๆ
2
เอาล่ะครับ ทีนี้เราเห็นแล้วว่า 2 สนาม ที่ใช้ชื่อว่า National Stadium (สนามกีฬาแห่งชาติ) มีปัญหาอย่างมาก ไม่สามารถจัดแข่งขันรายการใหญ่ได้เลยโดยเฉพาะในเวลาฝนตก
ว่าง่ายๆ คือต้องลุ้นดวงอย่างเดียวว่างั้นเถอะ ถ้าฝนตกก็ซวยไป ฝนไม่ตกก็รอดไป
1
ทีนี้เราลองมาคุยกันถึงทางแก้ปัญหาครับ ว่า มีทางออกไหนบ้าง ที่เราจะไม่ต้องเจอปัญหาสนามย่ำแย่อีกเวลาฝนตก
วิธีที่ 1 เลื่อนโปรแกรมทั้งหมด หลีกหนีจากหน้าฝน ช่วงมิถุนายน ถึง สิงหาคม ไม่ต้องจัดการแข่งกีฬาอะไรเลยในราชมังฯ หรือ สนามศุภชลาศัย หนีไปเตะฤดูร้อน หรือ ฤดูหนาวแทน
2
นี่เป็นทางออกที่ง่ายดี แต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ เพราะบางครั้งอีเวนต์กีฬามันมีสล็อตว่าง แค่เดือนกรกฎาคมเท่านั้น อย่างเกมปรีซีซั่น สโมสรในอังกฤษมาทัวร์เอเชีย ได้แค่เดือนกรกฎาคม ถึงต้นสิงหาคมแค่นั้น เราไม่สามารถไปกำหนดให้ทีมดังๆ มาเล่นที่ไทยตามใจชอบเราได้
วิธีที่ 2 รีโนเวท ราชมังฯ ครั้งใหญ่มากๆ หรือ รีบิลด์ ทุบแล้วสร้างใหม่เลยก็ได้ แบบที่เวมบลีย์เคยทำในปี 2000 เปลี่ยนโครงสร้างสนามไปเลย
1
ต่อไปราชมังฯ จะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านแล้วครับ โดยมีสถานีใกล้เคียงถึง 2 สถานี คือ สถานีกกท. และ สถานีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดังนั้นจะช่วยเรื่องการเดินทางของแฟนๆ กีฬาได้อย่างมาก ดังนั้นสนามตั้งจุดเดิมต่อ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่ต้องเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้น
3
ขอยกตัวอย่าง สนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว ของประเทศญี่ปุ่น นี่เป็นสนามที่มีคุณภาพมาก มีความจุ 48,000 สามารถจัด เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก นัดชิงได้สบายๆ แต่เมื่อญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก พวกเขาตัดสินใจ "ทุบสนามทิ้ง" แล้วสร้างใหม่ขึ้นมาเลย เพิ่มความจุเป็น 68,000 คน
1
มีการอัพเกรดทุกอย่างใหม่หมด พร้อมทั้งเปลี่ยนจากหลังคา 1 ฝั่ง เป็นหลังคาคลุมทั่วสนาม ต่อจากนี้ไปถ้าเกิดฝนตกขึ้นมา นั่งสแตนด์ไหนก็ไม่ต้องเปียก คือคิดถึง user มากๆ ว่าทำไมคนนั่งสแตนด์ฝั่งอื่น เขาต้องมานั่งตากแดด ตากฝนด้วย
1
ราชมังฯ สามารถอยู่ตรงเดิมต่อได้ แต่มันต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แล้ว ถ้าไม่คิดจะลงทุน ทุกอย่างก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้
และ วิธีที่ 3 นั่นคือการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ขึ้นมา ไหนๆ จะสร้างแล้ว ก็ไม่ต้องไปรีโนเวทอะไรราชมังฯ อีก แต่ออกแบบใหม่ อยู่ตรงพื้นที่ใหม่ไปเลย
1
การสร้างสนามใหม่ มีความยาก คือเรื่องทำเล คุณจะไปตั้งตรงไหน กับสนามก๊ฬาที่ใหญ่โตขนาดนั้น หาที่ดินได้หรือเปล่า
ความคืบหน้าเรื่องสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ คนที่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ คือ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์กับ The Standard ว่ามีแผนจะสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ความจุระดับ 60,000 - 80,000 บริเวณ EEC
2
EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) คือเขตพื้นที่ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง ที่อนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน คือสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, อู่ตะเภา
เป็นไอเดียที่น่าสนใจ ว่าสนามกีฬาแห่งชาติ จะไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองหลวง กรุงเทพฯ แต่จะไปอยู่ที่ชลบุรีแทน
ตอนนี้ยังนึกภาพไม่ออก ว่าจะออกมาทรงไหน แต่ถ้าคิดว่า มีรถไฟความเร็วสูงตัดผ่าน แล้วเข้าถึงสนามโดยง่าย ก็อาจจะไม่เป็นปัญหาขนาดนั้น
สำหรับเรื่องการสร้างสนามใหม่ ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าครม. นะครับ เป็นการคุยแนวทางกันเบื้องต้น รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่นิ่ง โครงการนี้ยังไม่คืบหน้าจนถึงวันนี้ครับ
ดังนั้นกับคำถามว่า ทำยังไง ประเทศไทยจะมีสนามกีฬาระดับคุณภาพสูงสุด ที่จะใช้งานได้ในอีเวนต์สำคัญโดยไม่ต้องกลัวฟ้าฝนอีกต่อไป
คำตอบคือ ถ้าไม่รีโนเวทราชมังฯ ครั้งใหญ่สุดๆ ก็ต้องไปสร้างสนามในพื้นที่อื่นขึ้นมาเลย
แต่ ณ เวลานี้ ยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นทั้ง 2 ทาง และในมุมของรัฐบาลชุดหน้า ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ยังไม่เห็นว่าเรื่องสนามกีฬาแห่งใหม่ จะเป็นวาระสำคัญอะไรที่ต้องทำโดยเร่งด่วน
หลายคนบอกว่า สร้างสนามใหม่ แล้วจะคุ้มหรอ? ค่าดูแลรักษาเท่าไหร่ อีเวนต์ต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาในฟุตบอลไทย จะมีสักกี่ครั้งเชียว
1
ถ้าถามผมนะครับ เราลองไปดูสิงคโปร์สิ ฟุตบอลลีกของเขาย่ำแย่กว่าไทยลีกเยอะมาก ประชากรก็น้อยกว่า แต่ทำไมเขาถึงกล้าลงทุน ทุบสนามกีฬาแห่งชาติเดิม แล้วสร้างสนามใหม่ขึ้นมาในปี 2010 ด้วยงบ 48,000 ล้านบาท
1
นั่นเพราะเขาเชื่อว่ามั่นว่า เมื่อมีสนามดีๆ แล้ว มันต้องได้ใช้ ทั้งภาครัฐ และเอกชนนั้น เมื่อมีสนามระดับโลกใช้งานแล้ว ก็เริ่มวางแผนเอาอีเวนต์ต่างๆ มาลง ทุกวันนี้ สิงคโปร์กลายเป็น Hub หลัก ของการแข่งกีฬาในอาเซียนไปแล้ว
1
ถ้า Mindset พวกเขาเอาแต่กลัว ว่าสร้างไปแล้วไม่มีคนใช้ ทุกอย่างคงหยุดอยู่ที่เดิม
ที่สำคัญ พวกเขาลงทุนแค่ 1 สนาม ไม่ได้ทุ่มเงินหลายแสนล้าน สร้างสิบสนามพร้อมกัน แบบกรีซ ในโอลิมปิกที่เอเธนส์ ดังน้้น มันไม่ใช่อะไรที่เกินตัวเกินไปสำหรับสิงคโปร์
1
ถ้ามีสนามคุณภาพ บวกกับภาครัฐ ทำงานลิงค์กับเอกชนได้ดีล่ะก็ ทำไมคิดว่าสนามจะร้างล่ะครับ มันสร้างประโยชน์ และต่อยอดไปได้ไกลมากๆ อยู่แล้ว สิงคโปร์ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ
แต่เอาล่ะครับ ทั้งหมดทั้งสิ้น ผมเข้าใจได้นะ ที่เรื่องสนามกีฬาแห่งชาติคุณภาพดี จะไม่ถูกสร้างในช่วง 4-5 ปีต่อจากนี้ คือ ไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ต่างมีเรื่องอื่นที่เป็น Priority ก่อนทั้งนั้น
แต่ในฐานะที่ทำงานในวงการกีฬามาตลอดชีวิต ก็คาดหวังว่าเราจะมีสนามกีฬาเกรด A ทัดเทียมกับเพื่อนบ้านในอาเซียนบ้างก็ยังดี ผมเชื่อเสมอ ว่าคนไทยเราคู่ควรจะมีสนามกีฬาคุณภาพสูงสุดอย่างน้อย 1 แห่งนะครับ
เอาเป็นว่ากว่าวันนั้นจะมาถึง บรรดาผู้จัดการแข่งขันรายการต่างๆ ก็ต้องใช้วิธีปักตะไคร้ไปก่อนนะครับ
2
เพราะความจริงที่ต้องยอมรับคือ ในประเทศไทยวันนี้ การภาวนาให้ฝนไม่ตก ย่อมง่ายกว่าภาวนาให้สนามใหม่ถูกสร้างขึ้นแน่นอนครับผม
1
#DreamingofNewStadium
24 บันทึก
82
8
26
24
82
8
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย