24 ก.ค. 2023 เวลา 09:37 • ข่าวรอบโลก

เลือกตั้งกัมพูชา: การเลือกตั้งจอมปลอม-ล็อกผล ภายใต้การ “คุมเข้ม” ของ ฮุน เซน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ปกครองกัมพูชาได้เปิดฉากปราบปรามฝ่ายค้านครั้งรุนแรงที่สุดในชีวิตการเมืองของเขา หวังทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมือง
เมื่อเผชิญกับกระแสนิยมของพรรคฝ่ายค้านที่พุ่งสูงขึ้น สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถูกครหาว่าใช้อำนาจศาลสั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNPR) ที่เป็นภัยคุกคามต่อการปกครองของเขา ทั้งยังขับ สส. พ้นจากรัฐสภา และจับกุมแกนนำพรรคฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างทางการเมือง
หลังกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองไปได้ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party: CPP) ภายใต้การนำของ ฮุน เซน ก็ลงสนามเลือกตั้งปี 2018 แบบไร้คู่แข่ง กวาดที่นั่งทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร 125 ที่นั่ง
มันคงเหมือนภาวะ “เดจาวู” คล้ายปี 2018 เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสิทธิพรรคแสงเทียน (Candlelight Party: CP) ซึ่งถือเป็นคู่แข่งขันสำคัญเพียงรายเดียวที่จะท้าทายพรรครัฐบาล โดยไม่ให้ลงทะเบียนสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยให้เหตุผลว่า “ยื่นเอกสารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน” และทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกัมพูชาเหลือทางเลือกเดียวอีกครั้ง
“มันเป็นการเลือกตั้งที่กำหนดผลไว้แล้ว เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง” ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่งในกรุงพนมเปญกล่าว
สมเด็จฮุน เซน วัย 70 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดของโลก โดยปกครองกัมพูชามาแล้ว 38 ปี นับจากก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1985 ขณะมีอายุ 33 ปี
เขารวบรวมอำนาจผ่านเครือข่ายผลประโยชน์ รวมถึงทหาร ตำรวจ และหน่วยข่าวกรอง ขณะเดียวกันเขาได้เห็นฝ่ายตรงข้ามถูกจำคุก ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ หรือถูกบีบให้แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล
ฮุน เซน ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 (ซ้าย) กับภาพปัจจุบัน ครองอำนาจปกครองประเทศมายาวนานถึง 38 ปี
สหประชาชาติ (UN) กำหนดให้กัมพูชาเป็นประเทศประชาธิปไตยในทศวรรษ 1990 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองและระบอบเขมรแดง และรัฐธรรมนูญกัมพูชาก็รองรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่บรรดานักวิเคราะห์การเมืองมองว่า กัมพูชาเป็น “รัฐอำนาจนิยมพรรคเดียว” และหากพิจารณาตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว ฮุน เซน ก็เป็นเผด็จการ
“ฉันรู้สึกสิ้นหวังกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงพนมเปญกล่าว
ในทศวรรษที่ผ่านมา โหวตเตอร์รายนี้ซึ่งอยู่ในวัย 20 ต้น ๆ ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่พรรคฝ่ายค้านด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ทว่า ฮุน เซน ได้หยุดความเคลื่อนไหวดังกล่าว และทุกวันนี้ ประเทศมีบรรยากาศของหวาดกลัว ไม่กล้าวิจารณ์รัฐบาลในช่วงเลือกตั้ง
กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในเอเชีย ประชาชนต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นสวนทางค่าจ้างที่ตกต่ำ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นวงกว้าง การขาดไร้ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ การกอบโกยที่ดิน รวมถึงปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น จนยากจะใช้ชีวิตในแต่ละวัน
แม้ปัญหาจะมากมาย แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้ ชัยชนะจะตกเป็นของพรรค CPP อีกครั้ง
“พอเป็นแบบนี้ ทำให้เราไม่มีตัวแทนไปเป็นปากเสียงในสภา คนที่จะช่วยบอกเล่าปัญหาของประชาชน ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ... นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผู้คนถึงพากันนิ่งเงียบในเวลานี้” โหวตเตอร์ชาวกัมพูชาคนเดิมกล่าว
การโหวตจอมปลอม
ฮุน เซน ปักธงว่า หลังการเลือกตั้งหนนี้ เขาจะสนับสนุน-ส่งไม้ต่อให้ ฮุน มาเนต วัย 45 ปี บุตรชายคนโตซึ่งเป็นนายพลระดับ 4 ดาว สืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากเขา
ส่วนจะเป็นวัน-เวลาใดที่เขายอมวางมือ ไม่มีใครรู้แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ฮุน เซน เป็นคนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ มีความอดกลั้นสูง และมีแรงพยาบาทมากขึ้นเมื่อยุคสมัยของเขาใกล้สิ้นสุดลง
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ฮุน เซน บีบคั้นคู่แข่งอย่างหนัก ก่อนดันพรรคฝ่ายค้านที่มีศักยภาพเพียงพรรคเดียวออกจากสนามแข่งขัน
พรรคแสงเทียนแจ้งเกิดทางการเมืองในปี 2022 ผุกขึ้นจากเถ้าถ่านของอดีตพรรคฝ่ายค้าน แม้ถูกข่มขู่อย่างหนักและถูกปลอมแปลงหลักฐานต่าง ๆ แต่พรรคการเมืองนี้ก็ได้คะแนนเสียง 22% ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปีที่แล้ว
ลี มอร์ เกนเยสเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยกิฟฟิธของออสเตรเสีย ซึ่งศึกษาระบอบฮุนเซนมาหลายปี กล่าวว่า สำหรับ ฮุน เซน เป็นเรื่องเหลือจะทน “เขาหายใจไม่ออกเพราะแสงเทียน”
หลังข่มขู่ผู้นำพรรคแสงเทียนด้วยสารพัดคดีความในเดือน ก.พ. ฮุน เซน ก็กีดกันพรรคคู่แข่งได้สำเร็จ โดย กกต. ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งระดับชาติของพรรคแสงเทียนด้วยเหตุผลทางเทคนิค
แม้ยังมี 17 พรรคการเมืองในบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ก็ล้วนเป็นพรรคขนาดเล็ก หรือเป็นพรรคที่ไม่มีนัยสำคัญใด ๆ เลย
“เราทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และทรัพยากรทั้งหมดในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เราคัดสรรและส่งผู้สมัครทั้งประเทศ” และ “การตัดสิทธิในรอบสุดท้าย เพราะกฎเรื่องการบริหารจัดการ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เขาเพิ่งเปลี่ยนกติกากลางเกม” ตัวแทนพรรคแสงเทียนกล่าว
พวกเขาเผชิญกับอันตรายที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังมีแกนนำพรรคหลายคนถูกจับกุมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มีอยู่ 2 คนที่ถูกจับกุมในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่พวกเขาพยายามหลบหนีไปยังสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในกรุงเทพฯ
ทศวรรษแห่งความตกต่ำของประชาธิปไตย
หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีความช่วยเหลือจากนานาชาติในการจัดการเลือกตั้งของกัมพูชา ทว่ามันยังเต็มไปด้วยความรุนแรงและมีสิ่งผิดปกติอยู่เสมอ
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 5 ครั้งหลังสุดในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา- เลือกตั้ง 2003: พรรค CPP ชนะการเลือกตั้งทั่วไปแต่ได้คะแนนไปไม่ถึง 2 ใน 3 ของคะแนนเสียงข้างมาก ทำให้ต้องทำข้อตกลงกับพรรคฟุนซินเปกในปี 2004 เพื่อปลดล็อกภาวะชะงักงันทางการเมือง และในปีนั้นเองที่ ฮุน เซน ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
พรรค CNRP นำประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่หลังการเลือกตั้งปี 2013
เลือกตั้ง 2008: พรรค CPP กวาดที่นั่งที่ลงชิงชัยได้เกือบทั้งหมด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติถึงเรื่องความไม่โปร่งใส โดยสหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่า พรรคของ ฮุน เซน ใช้ทรัพยากรของรัฐในการรณรงค์หาเสียงของตนเองอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย
เลือกตั้ง 2013: พรรค CNRP ภายใต้การนำของนายสม รังสี กวาดที่นั่งในสภาไปได้ 55 จาก 123 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 44% สร้างความตกใจให้แก่พรรค ฮุน เซน ที่มีที่นั่งเหลือ 68 ที่นั่ง ลดลงจากเดิมถึง 90 ที่นั่ง
นายเกิม โซะคา แกนนำฝ่ายค้านของกัมพูชา ถูกตัดสินจำคุก 27 ปี ด้วยข้อหากบฏ
เลือกตั้ง 2018: พรรค CNP กวาดที่นั่งในสภาทั้งหมด 125 ที่นั่ง ท่ามกลางเสียงประท้วงจากองค์กรระหว่างประเทศเรื่องการเลือกตั้งไม่โปร่งใส เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อ พ.ค. 2017 ศาลกัมพูชามีคำสั่งให้ยุบพรรค CNRP และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของสมาชิกพรรคจำนวน 118 คน เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนายเกิม โซะคา หัวหน้าพรรค ถูกจับในข้อหากบฏ สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ ในการโค่นล้มรัฐบาล
ทำให้ สส. หลายสิบคนของพรรคพากันลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน หนึ่งในนั้นคือ นายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2015 ก่อนลาออกจากสมาชิกพรรคในเดือน ก.พ. 2017
เลือกตั้ง 2023: กกต. กัมพูชาตัดสิทธิพรรคแสงเทียนไม่ให้ลงทะเบียนสมัครรับเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย. สมาชิกพรรคถูกชายที่สวมใส่หน้ากากโม่งทำร้ายในที่สาธารณะ ทั้งนี้รายงานฉบับล่าสุดของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า “รัฐบาลได้ยกระดับการคุกคามและจับกุมสมาชิกพรรคตามอำเภอใจ” และเมื่อพรรคแสงเทียนหมดสิทธิลงสนามเลือกตั้ง สมเด็จฮุน เซน ก็หมกมุ่นอยู่กับการเบี่ยงเบนประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากโพลสำนักต่าง ๆ ที่ชี้ว่า ประชาชนอาจออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย หรือจำนวนบัตรเสียอาจมากขึ้น
การสนับสนุนการคว่ำบาตร (บอยคอต) การเลือกตั้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในกัมพูชา และการทำลายบัตรเลือกตั้งก็จะทำให้ถูกปรับ 20 ล้านเรียล (ราว 1.7 แสนบาท) และอาจถูกตัดสิทธิเข้ารับราชการด้วย
ยุคหลัง ฮุน เซน จะเป็นเช่นไร
คนเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนพรรคไปชุมนุมบนท้องถนน ขณะที่นายสม รังสี เรียกร้องให้ประชาชนบอยคอตการเลือกตั้ง
ข้อความอันสับสนนี้เกิดจากความขัดแย้งในบทบาทปัจจุบันที่ลดน้อยถอยลงของทางพรรค “ถ้าให้เปรียบเทียบเป็นกีฬา เราทุกคนล้วนเป็นผู้เล่นแถวสาม แถวสี่ ที่เหลืออยู่ตอนนี้” คนวงในบอกกับบีบีซี
ในที่สุดแล้ว แสงเทียนเลือกที่จะดับเปลวไฟลงเพื่อรักษาแท่งเทียนให้ยังคงอยู่
“เราจะพยายามรักษาตัวรอดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า... หลังจากนั้น เราจะสร้างตัวตนของเราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” เขากล่าว
นอกจากพรรคแสงเทียน แนวคิดนี้ยังเกิดขึ้นกับใครหลายคนที่กำลังรอจังหวะอันเหมาะสมเมื่อ ฮุน เซน จากไป
นักการทูตตะวันตกกล่าวว่า “การจากไป” ในทีนี้หมายถึงความตาย
เขาขยายความว่า กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ของภาคประชาชนยังคงอยู่ และชวนมองไปยังอนาคตภายหลังระบอบฮุน เซน โดยมีความหวังเล็กน้อยว่าสิ่งต่าง ๆ อาจดีขึ้นเมื่อ ฮุน มาเนต บุตรชายของผู้นำ ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก เข้ามารั้งเก้าอี้ผู้นำประเทศแทน
“ฉันไม่ได้คิดว่าเขาคือนักกอบกู้ประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา แต่ฉันคิดว่าเขามีหัวใจของการปฏิรูป และต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกให้ดีขึ้น” นักการทูตกล่าว
ฮุน มาเนต จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำหลังจากนี้ แต่มีการคาดหมายกันว่าบิดาของเขาจะบงการอยู่หลักฉากต่อไป
ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกัมพูชาอีกคนสารภาพอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความกังวลกับการปกครองของ “ตระกูลการเมือง”
“จากพ่อสู่ลูก แบบนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ” เขาตั้งคำถาม
ผู้ช่วยศาตราจาย์ มอร์เกนเบสเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญ เตือนไม่ให้ฝากความหวังแบบลม ๆ แล้ง ๆ กับบรรดาลูกหลานของเผด็จการ โดยยกเหตุผลเรื่อง “ลูกไม้มักหล่นไม่ไกลต้น”
แล้วเรายังมีหวังกับประชาธิปไตยของกัมพูชาหรือไม่?
เขาตอบว่า คนเรามีความหวังเสมอ
“สิ่งที่ชาวกัมพูชาคิดเกี่ยวกับ ฮุน เซน หรือพรรครัฐบาลจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอีกต่อไป พวกเขาคิดเป็นการส่วนตัว จะไม่พูดในที่สาธารณะ” เขากล่าวทิ้งท้าย
โฆษณา