25 ก.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์

ว่าด้วยเรื่อง...เครื่องบูชาอย่างไทย

การเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ กล่าวได้ว่า เกิดขึ้นมาในโลกของเรามาแต่สมัยโบราณแล้ว ก่อนที่ศาสนาทั้งหลาย ตลอดจนหลักการทางวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นเสียอีก เพราะมนุษย์ในสมัยโบราณยังไม่ทราบถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ก็ได้เข้าใจไปเองว่า สิ่งเหล่านั้นคือจิตวิญญาณบางอย่าง ไม่ก็เจ้าป่าเจ้าเขา หรือเทพยดาอารักษ์ ดังนั้น จึงเกิดเป็นคติที่จะต้องมีการกระทำบูชาพลีด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อเป็นการอ้อนวอนต่อสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้นให้ปกปักรักษาตนเอง
เมื่อศาสนาเกิดขึ้นในโลก การเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เริ่มมีระเบียบแบบแผน เป็นพิธีกรรมมากขึ้น ถึงกับมีการลงรายละเอียดไปในเรื่องของระดับการไหว้ จำนวนครั้งในการกราบ รูปแบบข้าวของเครื่องใช้สำหรับการบูชา ตลอดจนลักษณะการจัดวางต่าง ๆ
สำหรับเครื่องบูชาอย่างไทย จากหนังสือเรื่อง อธิบายเครื่องบูชา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวเอาไว้ว่า โดยทั่วไปจะใช้ของ 4 อย่างเป็นหลัก ประกอบด้วย ธูป เทียน ข้าวตอก และดอกไม้ ซึ่งเครื่องบูชาทั้ง 4 อย่างนั้น ก็ได้ปรากฏอยู่ในตำราโบราณของพราหมณ์ในมัชฌิมประเทศ
นอกจากนั้น เครื่องบูชาของประเทศอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ก็มีลักษณะที่คล้างคลึงกัน ถือเป็นวิวัฒนาการของวัฒนธรรมแต่ละชาติ แต่ละศาสนาที่มีความมุ่งหมาย หรือความประสงค์ในการจัดข้าวของเครื่องบูชาที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนมากก็มีแนวคิดที่ต้องประกอบด้วย
1. เครื่องบูชาต้องประกอบด้วยสิ่งที่ทำให้เกิดแสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียง โคม อย่างใดอย่างหนึ่ง
2. เครื่องบูชาต้องประกอบด้วยสิ่งที่ทำให้เกิดควันเพื่อดับความโสโครก เช่น ธูป เนื้อไม้ กำยาน อย่างใดอย่างหนึ่ง และ
3. เครื่องบูชาต้องประกอบด้วยสิ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม เช่น ดอกไม้ ข้าวตอก อย่างใดอย่างหนึ่ง
สิ่งเหล่านั้นล้วนมีความหมายที่แฝงอยู่ในตัว เช่น สิ่งที่ทำให้เกิดแสงสว่าง ก็แฝงไปด้วยความมุ่งหมายในการนำทางสู่ความสว่างทางสติปัญญา อนึ่ง การเคารพด้วยเครื่องบูชาต่าง ๆ ก็สอดคล้องกับการอามิสบูชา ในทางพระพุทธศาสนาที่ว่า เป็นการแสดงความเคารพนับถือ อันแสดงถึงความเป็นผู้มีน้ำใจและผู้มีคุณธรรม
ทั้งนี้ ในสังคมไทย ประกอบด้วยวัฒนธรรมราษฎรและวัฒนธรรมหลวง ซึ่งในส่วนของวัฒนธรรมราษฎรก็จะเป็นในส่วนของการหาข้าวของที่พอหาได้ทั่วไป เช่น ของ 4 อย่างที่กล่าวไปมาทำการบูชา หรือมาทำการปะดิดปะดอย ร้อยกรองให้เกิดเป็นเครื่องบูชารูปแบบต่าง ๆ ที่มีความสวยสดงดงาม เช่น พวงมาลัย อุบะดอกไม้ พานพุ่ม พานธูปเทียนแพ
ในส่วนของวัฒนธรรมหลวง ก็มีการสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นเครื่องบูชาต่าง ๆ เช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป แต่ก็อาจจะมีความละเอียดประณีต และพิเศษกว่า เพราะถือเป็นสิ่งที่ใช้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เท่านั้น จึงเกิดเป็นเครื่องบูชาหรือเครื่องนมัสการต่าง ๆ ที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 12 อย่างด้วยกัน ดังนี้
1. เครื่องนมัสการทองใหญ่
2. เครื่องนมัสการพานทองสองชั้น
3. เครื่องนมัสการทองลงยาราชาวดี
4. เครื่องนมัสการทองลงยารอง
5. เครื่องนมัสการทองทิศ
6. เครื่องนมัสการทองน้อย
7. เครื่องนมัสการเครื่องแก้ว
8. เครื่องนมัสการกระบะถม
9. เครื่องนมัสการกระบะมุก
10. เครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง
11. เครื่องนมัสการบูชายิ่ง และ
12. เครื่องนมัสการทรงธรรม
• เครื่องนมัสการทองใหญ่
เป็นเครื่องนมัสการที่ใช้ในงานพระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงจุดบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรโดยเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเป็นเครื่องนมัสการที่มีขนาดใหญ่ ยากแก่การเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ จึงให้ตั้งเป็นเครื่องนมัสการสำหรับทรงบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เวลาที่มีการประกอบพระราชพิธีเป็นการเฉพาะ
ประกอบด้วย แท่นไม้สลักลายปิดทองขนาดใหญ่รองพานทองคำสลักลาย สำหรับวางพุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 5 พุ่ม และเชิงโลหะกะไหล่ทองปักเทียน 5 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 5 เชิง
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ บูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในการพระราชพิธีสงกรานต์ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพ: มติชนออนไลน์)
• เครื่องนมัสการทองลงยาราชาวดี เครื่องนมัสการทองลงยารอง
เป็นเครื่องนมัสการสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบูชาพระพุทธรูปสำคัญและทรงสักการะพระบรมศพ พระศพ พระบรมอัฐิ พระอัฐิในพระราชพิธีและการบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้น
หรือในบางคราวก็เป็นเครื่องนมัสการสำหรับการถวายสักการะในการพระราชกุศลต่าง ๆ นอกเขตพระราชฐานที่ไม่ไกลไปจากพระบรมมหาราชวังมากนัก เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศหรือพระเมรุ ท้องสนามหลวง ซึ่งจะต้องมีการจุดเครื่องนมัสการทองลงยาราชาวดี สำหรับถวายราชสักการะหรือสักการะพระบรมอัฐิ พระอัฐิของเจ้านายที่เพิ่งได้รับการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพไปก่อนหน้า
ประกอบด้วย แท่นลงยาราชาวดีสำหรับตั้งพานทองคำลงยาราชาวดีรองพุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 5 พุ่ม เชิงหุ้มทองคำลงยาราชาวดีปักเทียน 5 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 5 เชิง ซึ่งเครื่องทองลงยาราชาวดีจะมีสีพิเศษ คือ สีฟ้าอมเขียว หรือที่เรียกว่า “สีมูลนกการเวก”
อนึ่ง หากในหมายกำหนดการได้มีการระบุไว้ว่า ในพระราชพิธีนั้นมีสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระอัครมเหสี โดยเสด็จสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า หรือเป็นงานของฝ่ายในที่ทรงเป็นองค์ประธานแล้ว ก็จะต้องมีการตั้งเครื่องนมัสการสำหรับพระองค์ไว้ทรงบูชาด้วย เรียกว่า “เครื่องนมัสการทองลงยารอง” สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พร้อมกับเครื่องนมัสการทองลงยาราชาวดี แต่แรกเป็นเครื่องนมัสการสำหรับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ต่อมาภายหลังก็จัดได้เป็นเครื่องนมัสการสำหรับสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระอัครมเหสี ทรงบูชาสักการะในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเฉพาะในพระบรมมหาราชวัง เช่น งานพระบรมศพ พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล รวมถึงในบริเวณที่ไม่ไกล้ไม่ไกลไปจากเขตพระราชฐาน เช่นท้องสนามหลวง
ประกอบด้วย แท่นถมทองสลักลาย สำหรับตั้งพานทองสลักลายลงยาสีแดงรองพุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 5 พุ่ม เชิงทองสลักลายลงยาปักเทียน 5 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 5 เชิง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองลงยาราชาวดี สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองลงยารอง ถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ในการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพ: สำนักพระราชวัง)
• เครื่องนมัสการพานทองสองชั้น
เป็นเครื่องนมัสการสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบูชาพระพุทธรูปสำคัญในงานพระราชพิธีและการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เช่น พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานเนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
โดยจะตั้งเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และในพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก็จะตั้งเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นที่หน้าพระแท่นราชบรรจถรณ์ประดับมุก (พระแท่นมณฑลมุก) สำหรับทรงจุดบูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล
รวมถึงเมื่อมีงานพระบรมศพ พระศพของเจ้านายเกิดขึ้น แล้วมีการประดิษฐานพระบรมศพหรือพระศพไว้ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ก็จะมีการตั้งเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นที่หน้าพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร สำหรับทรงจุดบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของเจ้านายที่สวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ไว้ด้วย
ประกอบด้วย แท่นถมทองสลักลาย สำหรับตั้งพานปากกระจับซ้อน 2 ชั้นรองพุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 5 พุ่ม เชิงทองสลักลายปักเทียน 5 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 5 เชิง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพานทองสองชั้น บูชาพระพุทธมหาราชฉปริวัตน์ ในการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพ: สำนักพระราชวัง)
• เครื่องนมัสการทองทิศ
เป็นเครื่องนมัสการอย่างเดียวกับเครื่องนมัสการทองใหญ่แต่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อสะดวกแก่การเคลื่อนย้ายไปตั้งแต่งในสถานที่ต่าง ๆ สำหรับพระมหากษัตริย์ถึงพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จพระบรมราชกุมารีทรงใช้บูชาพระพุทธรูปหรือปูชนียวัตถุสถานที่สำคัญ
ประกอบด้วย แท่นไม้สลักลายมังกรปิดทองสำหรับตั้งพานทองคำสลักลายรองพุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 5 พุ่ม เชิงโลหะกะไหล่ทองปักเทียน 5 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 5 เชิง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ บูชาพระพุทธปฏิมาปางประจำรัชกาลสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ในการพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชและเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ณ พลับพลาพิธี พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต (ภาพ: สำนักพระราชวัง)
• เครื่องนมัสการกระบะถม
เป็นเครื่องนมัสการสำหรับพระมหากษัตริย์ถึงพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าทรงบูชาพระรัตนตรัยในการบำเพ็ญพระราชกุศลภายในเป็นส่วนพระองค์และสำหรับใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด
ประกอบด้วย กระบะถมทองย่อมุมไม้สิบสอง สำหรับตั้งพานทองคำสลักลายรองพุ่มดอกไม้ 4 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 4 พุ่ม เชิงโลหะหุ้มทองคำปักเทียน 4 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 4 เชิง
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการกระบะถม บูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ในการบำเพ็ญพระกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ พระตำหนักจักรีบงกช อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี (ภาพ: เพจ Royal World Thailand - รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย)
• เครื่องนมัสการเครื่องแก้ว
เป็นเครื่องนมัสการที่มี 2 ชุด ประกอบด้วย
ชุดที่ 1 สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สำหรับทรงธรรมในวันธรรมสวนะ หรือวันพระ ต่อมก็ใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยสำหรับพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า รวมถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงทรงบูชาพระรัตนตรัยและปูชนียวัตถุสถานที่สำคัญในระหว่างที่ทรงผนวช
เครื่องนมัสการชุดนี้ ประกอบด้วย แท่นไม้ประดับกระจกตั้งพานแก้วเจียระไนใส่พุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 5 พุ่ม เครื่องแก้วเจียระไนปักเทียน 5 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 5 เชิง
ชุดที่ 2 สำหรับพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ทรงบูชาพระรัตนตรัยในงานฉลองพระชนมายุหรือทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอื่น ๆ
ประกอบด้วย แท่นไม้แกะสลักลายมังกรปิดทองเท้าสิงห์เช่นเดียวกับเครื่องนมัสการทองทิศ ตั้งพานแก้วเจียระไนใส่พุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม พุ่มข้าวตอก 5 พุ่ม เชิงแก้วเจียระไนปักเทียน 5 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 5 เชิง
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการเครื่องแก้ว บูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในการพระราชพิธีพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพ: มติชนออนไลน์)
• เครื่องนมัสการทองน้อย
หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เครื่องทองน้อย” เป็นเครื่องบูชาขนาดเล็กสำหรับพระมหากษัตริย์ถึงพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าทรงบูชาธรรม สักการะพระบรมศพ พระศพ พระบรมอัฐิ พระอัฐิ ตลอดจนปูชนียวัตถุสถานต่าง ๆ ในพระราชพิธีและการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เครื่องนมัสการทองน้อย ประกอบด้วยหลายประเภท ดังนี้
- เครื่องนมัสการทองน้อยเครื่องห้า
หรือ เครื่องทองน้อยเครื่องห้า ทำด้วยทองคำลงยาทั้งสำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ใช้เป็นเครื่องราชสักการะและทรงธรรมในพระราชพิธีซึ่งเป็นงานปรกติที่มีหมายกำหนดการให้แต่งกายเต็มยศและครึ่งยศ
ประกอบด้วย พานทองคำสลักลายกลีบบัวลงยา ตั้งกรวยเชิงทองคำลงยาใส่พุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม เชิงทองคำลงยาปักเทียน 2 เชิง กระถางธูปทำด้วยแก้วหุ้มทองที่ปากและฐาน สำหรับปักธูปหาง
อนึ่ง หากเป็นงานพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระอัครมเหสี แล้วมีหมายกำหนดการที่ระบุว่า มีการสดับพระธรรมเทศนาด้วยนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงใช้เครื่องทรงธรรมสำหรับใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระอัครมเหสีจะทรงใช้เครื่องทองน้อยเครื่องห้า สำหรับทรงจุด แล้วทรงธรรม
- เครื่องนมัสการทองน้อย (เครื่องหงส์)
ทำด้วยทองคำลงยาทั้งสำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ถึงพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าใช้เป็นเครื่องสักการะและทรงธรรมในงานพระราชพิธีซึ่งเป็นงานปรกติ เช่น สักการะพระบรมศพ พระศพ พระบรมอัฐิ พระอัฐิ และปูชนียวัตถุสถานต่าง ๆ เป็นต้น
ประกอบด้วย พานทองคำสลักลายลงยาบนพานตั้งกรวยเชิงทองคำลงยาใส่พุ่มดอกไม้ 3 พุ่ม เชิงเป็นรูปหงส์ทำด้วยทองคำลงยา 2 เชิงปักเทียน 1 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 1 เชิง
- เครื่องนมัสการทองน้อย (ปากกระจับ)
สำหรับพระมหากษัตริย์ถึงพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าใช้เป็นเครื่องราชสักการะและทรงธรรมในพระราชพิธี ซึ่งเป็นงานปกติ เช่น สักการะพระบรมศพ พระศพ พระบรมอัฐิ พระอัฐิ และปูชนียวัตถุสถานต่าง ๆ เป็นต้น
ประกอบด้วย พานทองคำสลักลายพาน เป็นรูปกระจังกลีบบัวปากกระจับ ตั้งกรวยเชิงทองคำลงยาใส่พุ่มดอกไม้ 3 พุ่ม เชิงทองคำลงยาปักเทียน 1 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 1 เชิง
- เครื่องนมัสการทองน้อยแก้ว
หรือเครื่องทองน้อยเครื่องแก้ว สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จพระยุพราชและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงใช้บูชาพระรัตนตรัยและทรงธรรมเป็นประจำขณะทรงผนวช และพระสงฆ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะใช้บูชาพระรัตนตรัย ลักษณะเหมือนเครื่องทองน้อยทองคำลงยาเครื่องห้า แต่ทำด้วยแก้วเจียระไนทั้งชุด
ประกอบด้วย พานกรวยเชิง 3 กรวยใส่พุ่มดอกไม้ 3 พุ่ม เชิงแก้วปักเทียน 1 เชิง และปักธูปไม้ระกำ 1 เชิง
สำหรับเครื่องนมัสการทองน้อย หรือเครื่องทองน้อยไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ก็จะมีการคติการจัดวางที่เห็นได้ชัดถึง 2 ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ หากว่าเราต้องการสักการบูชาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ก็จะมีการหันในส่วนที่เป็นเชิงเทียนและธูปออกมา โดยมีพุ่มดอกไม้ทั้งสามอยู่ทางด้านหลัง เป็นลักษณะแรก สามารถพบได้ทั่ว ๆ ไป แม้แต่ในงานอวมงคล
และลักษณะต่อมาจะเป็นการหันในส่วนของเชิงเทียนและธูปเข้าไป โดยที่พุ่มดอกไม้ทั้งสามจะเรียงอยู่ทางด้านของเชิงเทียนเชิงธูปเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบลักษณะการจัดวางแบบนี้ได้ตามงานศพ ตั้งแต่ระดับสามัญชนไปจนถึงระดับพระราชวงศ์ เพื่อเป็นการอนุโลมว่า เครื่องทองน้อยเครื่องนั้นไว้สำหรับผู้วายชนม์จุดบูชาในเวลาที่มีการแสดงพระธรรมเทศนาโดยพระเถรานุเถระต่าง ๆ และบูชาพระสงฆ์เป็นการเฉพาะนั่นเอง
(รูปที่ 1) เครื่องทองน้อยกะไหล่ทอง (รูปที่ 2) เครื่องทองน้อยเครื่องห้า (รูปที่ 3) เครื่องทองน้อยปากกระจับใหญ่ (รูปที่ 4) เครื่องทองน้อยปากกระจับเล็ก (รูปที่ 5) เครื่องทองน้อยเครื่องหงส์ (รูปที่ 6) เครื่องทองน้อยเครื่องแก้ว (ภาพ: หนังสือหนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔, เพจ พิกุลบรรณศาลา)
• เครื่องนมัสการกระบะมุก
หรือบางครั้งก็เรียกว่า “เครื่องบูชากระบะมุก” มักใช้ในงานหลวงทั่วไปและสำหรับพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ทรงบูชาพระรัตนตรัยในการบำเพ็ญพระกุศล เช่น เสด็จถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และจัดเป็นเครื่องพระราชทานพระเกียรติยศแก่พระศพพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ศพหม่อมเจ้า ศพพระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะสงฆ์ และข้าราชการทั่วไปที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม
ประกอบด้วย กระบะย่อมุมไม้สิบสองลงรักประดับมุก สำหรับตั้งกรวยเชิงทำด้วยแก้วใส่พุ่มดอกไม้ 4 พุ่ม เชิงแก้วปักเทียน 4 เชิง ปักธูปไม้ระกำ 1 เชิง
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่แท่นเตียงพระพิธีธรรม ในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพ: Nation TV)
• เครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง
ประกอบด้วย ดอกไม้ธูปเทียนที่เจ้าหน้าที่ตามเสด็จเชิญไปสำหรับทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ถึงพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า เมื่อมีพระราชประสงค์จะทรงสักการะพระพุทธรูปหรือปูชนียสถานสำคัญ รวมถึงโต๊ะสี่เหลี่ยมขนาดย่อม สำหรับตั้งพานโลหะกะไหล่ทองวางดอกไม้กระทงเจิม 1 พาน เชิงโลหะกะไหล่ทอง 1 คู่ปักเทียน กระถางโลหะกะไหล่ทองปักธูปหาง 3 ดอก
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่ง บูชาปูชนียวัตถุสถานที่สำคัญ ในการบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าพระกฐิน วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม (ภาพ: เพจ กองทุนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์)
• เครื่องนมัสการบูชายิ่ง
เป็นเครื่องนมัสการสำหรับพระมหากษัตริย์ถึงพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ทรงใช้สักการะในการบำเพ็ญพระราชกุศลสดับพระธรรมเทศนามหาชาติ
ประกอบด้วย กระบะมุกย่อมุมไม้สิบสอง มีพานแก้ววางพุ่มข้าวตอก พุ่มดอกไม้ พุ่มถั่ว พุ่มงา และพุ่มหญ้าแพรกอย่างละพุ่ม หน้ากระบะมุกตั้งเครื่องนมัสการทองน้อย 1 เครื่อง ถัดออกมาตั้งเครื่องนมัสการทองน้อยแก้ว 5 เครื่อง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชายิ่ง ในการสดับพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก งานเทศน์มหาชาติและปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2561 ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (ภาพ: สตาร์นิวส์)
• เครื่องนมัสการทรงธรรม
เป็นเครื่องนมัสการสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้บูชาเมื่อสดับพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีการพระราชกุศลที่เป็นงานเต็มยศหรือครึ่งยศ เรียกว่า “เครื่องทรงธรรมสำหรับใหญ่” หรือตามที่ได้ระบุไว้ในหมายกำหนดพระราชพิธีต่าง ๆ ว่า “เครื่องทรงธรรม”
ประกอบด้วย แท่นโลหะกะไหล่ทองเท้าคู้ ขอบแท่นยกเป็นกระจังรั้วสลักโปร่ง มีพานแบบจานเชิงทำด้วยโลหะทอง ตั้งกรวยเชิงทองคำใส่พุ่มดอกไม้สด 4 พุ่ม พานทำด้วยโลหะทองคำใส่ดอกไม้สด 3 พาน เชิงโลหะกะไหล่ทองปักเทียน 2 เชิง
ที่มุมในแท่นโลหะกะไหล่ทอง สองข้างตั้งแจกันโลหะทองปักดอกไม้สด ข้างแจกันตั้งพานใส่ดอกไม้สด 2 พาน ข้างหลังพานแบบจานเชิงตั้งกระถางธูปหยกปักธูป สองข้างแท่งโลหะกะไหล่ทองตั้งเชิงโลหะกะไหล่ทอง ยอดฉัตรปักเทียน ลำต้นของเชิงเทียนคล้ายต้นปาล์ม มีช้างหล่อกะไหล่ทองยืนที่โคนต้น ที่ฐานเชิงเทียนมีอักษรพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. ติดเป็นตราวงกลม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรมสำรับใหญ่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเครื่องห้า ในการพระราชกุศลพระอัฐิ งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพ: สำนักพระราชวัง)
โดยทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะมีการประดิษฐ์ให้เป็นเครื่องบูชาในลักษณะ รูปแบบใด ด้วยวัสดุที่หาได้มาจากที่ไหน แล้วมีความสวยสดงดงามมากเท่าไรก็ตาม แม้จะมีความสอดคล้องต้องกับหลักอามิสบูชานั้น แต่การบูชาที่ออกมาจากใจอันบริสุทธิ์แท้จริงของแต่ละคนต่างหาก ถือเป็นสิ่งที่งดงามกว่าเครื่องบูชาใด ๆ
ประกอบกับยิ่งเป็นการบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยแล้ว การน้อมนำคำสอนของพระพุทธองค์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเชื่อฟังคำสั่งสอนในพ่อแม่และบุพการีของตน ย่อมเป็นการบูชาที่มีความสำคัญยิ่งและมีประโยชน์ที่มากกว่าอามิสบูชาเสียอีก ซึ่งเรียกการบูชานั้นว่า “ปฏิบัติบูชา”
ด้วยประการฉะนี้
อ้างอิง:
  • เครื่องนมัสการ โดย งานเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (https://archive.clib.psu.ac.th/online-exhibition/Namassakan/NAMASSAKAN1.html)
  • คำบรรยายการถ่ายทอดสด การพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ในการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี โดย ดร.ชัชพล ไชยพร (8 มิถุนายน พ.ศ. 2549, https://youtu.be/cuaIazu5BZc)
  • คำบรรยายการถ่ายทอดสด พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ (11 มีนาคม พ.ศ. 2539, https://youtu.be/km9sN1Xhu14)
  • คำบรรยายการถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ (10 มีนาคม พ.ศ. 2539, https://youtu.be/_KZ8bISg1bo)
  • พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต (2548)
  • หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (2555)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#เครื่องนมัสการ #เครื่องบูชาอย่างไทย
โฆษณา