Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Reporter Journey
•
ติดตาม
25 ก.ค. 2023 เวลา 02:00 • กีฬา
อังกฤษก็เจอปัญหาน้ำท่วมสนามฟุตบอลบ่อย
จนรัฐต้องออกคู่มือแก้ไขปัญหา และวางระบบป้องกัน
ผลงานทางวิศวกรรมใต้ผืนหญ้าแห่งสังเวียนฟาดแข้ง
ความน่าผิดหวังของการจัดการดวลแข้งของ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ดวลแข้งกับ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่เรียกได้ว่าสะท้อนความอัปยศของวงการฟุตบอลไทยอีกครั้ง เมื่อสนามกีฬาที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "สนามแห่งชาติ" แห่งนี้ กลับไม่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำขังจากการที่ฝนตกอย่างหนัก จนไม่สามารถแข่งขันฟุตบอลได้
ซึ่งการที่นักเตะระดับ พรีเมียร์ลีก เดินทางมาโชว์ให้แฟนๆ ชาวไทยที่เสียเงินค่าตั๋วเข้าไปชมนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะมากันบ่อยๆ แต่มาเจอกับความไม่พร้อมของสนามที่เป็นหน้าเป็นตาในประเทศแบบนี้ ก็คงจะอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า งบประมาณมากมายนั้นละลายหายไปไหน?
และเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากว่า สนามแห่งชาตินี้ กลับไร้การติดตั้งระบบระบายน้ำใต้พื้นหญ้า ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบคงไม่ใช่เงินน้อยๆ แต่ถ้าสนามแห่งนี้ต้องการเป็นสนามที่มีความพร้อม และเป็นสนามสำหรับการแข่งขันในระดับนานาชาติ มันก็เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ควรจะมีใช่หรือไม่?
คำถามคือ สนามที่ใดในประเทศไทยที่มีระบบระบายน้ำซ่อนอยู่ใต้พื้นสนามหญ้าบ้าง เท่าที่ทราบทั้งหมดเป็นสนามของสมโมสรไทยสำหรับสนามฟุตบอลในย่านอาเซียนที่มีระบบระบายน้ำซ่อนอยู่ด้านใต้พื้นหญ้ามีเพียงไม่กี่สนามเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น สนามช้าง อารีน่า ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และสนามธันเดอร์โดมสเตเดียม ของสโมสรฟุตบอลเมืองทอง ยูไนเต็ด ในไทยลีก
ส่วนอาเซียนก็มีสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ สนามกีฬาแห่งชาติอินโดนีเซีย และ สนามเกโรลา บุง การ์โน เป็นต้น ซึ่งมีระบบการจัดการน้ำท่วมสนามจากฝนตกหนักให้น้ำไม่ขังซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ต่อให้ฝนฟ้าจะถล่มลงมาขนาดไหนก็ตาม
อันที่จริงจะอ้างว่าประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นฝนตกชุก เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมสนามก็คงจะไม่ใช่ เพราะหลายๆ ประเทศก็เผชิญกับปัญหาเช่นกัน ที่สำคัญประเทศในเขตเมืองหนาวไม่ได้เจอแค่ฝน แต่ยังมีหิมะที่สร้างปัญหาให้กับสนามฟุตบอลเช่นกัน
แต่ประเทศเหล่านี้เลือกที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย
สำหรับประเทศแห่งเจ้าฟุตบอลของโลกอย่างอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาพายุถล่มฝนตกหนักจนน้ำท่วมสนามฟุตบอลบ่อยครั้งจนส่งผลกระทบต่อการแข่งขันลีกกับฟุตบอล
แต่สิ่งที่อังกฤษทำคือ การรับมือกับภัยธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ และทุกอย่างต้องออกมาเป็นคู่มือที่ทุกสนามฟุตบอลต้องทำตาม
ในปี 2014 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ได้ร่วมมือกับ Sport England และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ในการจัดทำคู่มือให้กับสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ สามารถวางแผนเตรียมตัวและลดผลกระทบที่เกิดจากเหตุน้ำท่วมสนาม
คู่มือดังกล่าวได้เริ่มโดยให้แต่ละทีมวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าสนามของตนจะมีโอกาสเสี่ยงจะโดนน้ำท่วมหรือไม่ โดยมีการประสานข้อมูลกับทาง Environment Agency ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษ ที่ถูกก่อตั้งในปี 1995 มาเพื่อคอยดูแลและรับมือกับน้ำท่วมโดยเฉพาะ
นอกจากประสานและเตรียมพร้อมด้านข้อมูลแล้ว คู่มือดังกล่าวก็ได้แนะนำให้ทีมที่มีความเสี่ยง คอยจัดการลอกท่อและเคลียร์สิ่งอุดตันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและช่วยลดโอกาสในการเกิดน้ำท่วมที่รุนแรงลงได้ โดยหากเป็นไปได้ Sport England ยังได้แนะนำว่า แต่ละทีมที่มีความเสี่ยง ควรมีประกันภัยในด้านน้ำท่วมเอาไว้ เพราะนอกจากจะได้เงินประกันเมื่อเกิดภัยมาแล้ว ก็จะได้รับคำแนะนำที่อาจช่วยป้องกันน้ำท่วมในแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ คู่มือดังกล่าวยังได้รวบรวมสิ่งที่ควรทำเพื่อลดความเสียหายระหว่างน้ำท่วมสนามให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การทำให้สนามพร้อมรับมือกับมวลน้ำจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เช่น ซีลปิดพื้นที่ที่เกิดรอยรั่ว เปิดทางให้น้ำสามารถไหลผ่านออกจากสนามไปอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการย้ายอุปกรณ์ที่สำคัญให้สูงจากพื้นที่ที่อาจโดนน้ำท่วมได้
หลังจากมวลน้ำได้ผ่านพ้นไป ก็ยังมีขั้นตอนให้แต่ละทีมได้นำไปใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพสนามให้พร้อมกับมาแข่งขันได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการปรับสภาพสนามให้พร้อมลงเล่นหลังจากจมอยู่ใต้น้ำและถูกปนเปื้อนเป็นระยะเวลานาน ทาง Sport England แนะนำให้มีการตรวจหาสารพิษ โลหะหนัก และเกลือ ที่อาจอยู่ในบริเวณพื้นสนาม จนกลายเป็นอันตรายต่อตัวของนักฟุตบอลและทีมงานได้
นั่นคือการรับมือในกรณีที่มีน้ำท่วมเข้ามาในสนามฟุตบอลแล้ว แต่บรรดาทีมใหญ่ๆ เช่นในระดับพรีเมียร์ลีกแบบนี้ เขารับมือกับมวลน้ำรอการระบายได้อย่างไร ที่ทำให้เราแทบไม่เคยเห็นภาพของน้ำ หรือแม้แต่หิมะปกคลุมพื้นสนามฟุตบอลของสโมสรเหล่านี้เลย
นอกจากคู่มือที่หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านฟุตบอลจะทำขึ้นมาควบคู่กับภาครัฐ เพื่อบังคับใช้กับทุกๆ สนามฟุตบอลที่มีลีกแข่งขันแล้ว หลายๆ สนามฟุตบอลก็มีการลงทุนระบบระบายน้ำเอาไว้ใต้สนามหญ้า ซึ่งเป็นความสามารถทางวิศวกรรมที่น่าสนใจ
ยกตัวอย่างเช่น สนามของแอนฟิลด์ ของสโมสรวิเวอร์พูล เป็นสนามแรกในประเทศที่ใช้ระบบ 'Permavoid' ซึ่งช่วยเร่งการระบายน้ําในช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักของปี
ระบบชลประทานและการระบายน้ํา รวมทั้งการติดตั้งระบบทําความร้อนใต้ดินซึ่งมีท่อความยาวถึง 30 กิโลเมตร เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นหญ้าเมื่อเกิดการท่วมขัง ผ่านโครงสร้างลักกี้ไฟเบอร์แซนซึ่งเป็นวัสดุใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติในการช่วยระบายน้ำ รวมทั้งมีระบบท่อทำความร้อนที่จะลาลายหิมะเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นดินแข็งตัวในช่วงฤดูหนาว และสูบน้ำทั้งหมดบนผิวสนามออกไปอย่างรวดเร็ว
ส่วนสนามเอติฮัด สเตเดี้ยม ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่นอกจากจะมีระบบระบายน้ำจากผิวสนามหญ้าที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ยังสามารถในการกักเก็บฝนและรีไซเคิลนำกลับมาใช้ภายในสนามได้มากกว่า 200,000 ลิตร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรที่สนามฟุตบอลใช้ระบบระบายน้ําจากสนามเพื่อกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ยังจะรวมระบบสุญญากาศอากาศที่สามารถดึงความชื้นออกจากสนามได้ พร้อมกับเติมอากาศเข้าไปในดินเพื่อช่วนในเรื่องการเจริญเติบโตของต้นหญ้า
แน่นอนว่าการลงทุนนี้ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย และหลายฝ่ายคงมีคำถามว่ามันจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่ถ้าเชื่อเถอะวิธีคิดของคนไทย ไม่ใช่วิธีคิดเพื่อการป้องกันมาแต่ไหนแต่ไร แต่มักจะกระตือรือร้นทีเมื่อเกิดปัญหาที่เกินจะเยียวยาแก้ไขแล้ว และค่อยมาโทษกันเองว่าใครเป็นคนทำให้เกิดความเสียหาย
แต่ถ้าคิดจะก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าระดับภูมิภาคด้านกีฬา มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นใช่หรือไม่ที่จะต้องมีความพร้อมในด้านสนามแข่งขันในทุกๆ ชนิดกีฬา เพราะถ้าหากว่าสนามแข่งขันซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ควรลงทุน โดยเฉพาะสนามที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “National Stadium” ไม่ได้รับการใส่ใจพัฒนาให้รองรับนักกีฬาและการแข่งขันกีฬาอย่างจริงจัง ก็ไม่ต้องไปคาดหวังเรื่องการประสบความสำเร็จของวงการกีฬาไทยในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะฟุตบอลที่ก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ไม่ก้าวข้ามไปสร้างความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้นได้เสียทีนั่นเอง
4 บันทึก
10
1
4
10
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย