25 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

โมเดลธุรกิจ ตลาดนัด ถ้าทำให้ดีจะกลายเป็น เสือนอนกิน

ถ้าเราเป็นพ่อค้าแม่ค้า ขายของในตลาดจ๊อดแฟร์ เราอาจจะมีรายได้ที่ไม่เท่ากันทุกวันหรือทุกเดือน เพราะจะมีบางเดือนขายดี บางเดือนขายไม่ดี
แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของตลาด แล้วมีพ่อค้าแม่ค้ามาเช่าแผงเปิดร้านเต็มตลาดของเราตลอดเวลา
แบบนี้เราจะกลายเป็นเสือนอนกิน ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบไม่ต้องทำอะไรเลย
นี่คือโมเดลธุรกิจของ ตลาดนัด..
แต่กว่าเราจะเป็นเสือนอนกินแบบนี้ได้ เราต้องทำตลาดนัดของเราให้ดีก่อน
ซึ่งตลาดนัดดัง ๆ เขาทำกันอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ตลาดนัดมีโมเดลธุรกิจง่าย ๆ คือ เจ้าของเอาพื้นที่มาพัฒนาเป็นตลาด แล้วให้พ่อค้าแม่ค้ามาเช่าแผง เปิดร้านขายของ
หมายความว่า ถ้าตลาดนั้นทำดี ๆ มีคนมาเดินเยอะตลอด ก็จะมีร้านค้ามาเช่าแผงเต็มตลอด เพราะเขาก็จะมีโอกาสขายของได้เยอะ
หากพูดถึงตลาดนัดดัง ๆ ในเมืองไทยที่คนมาเดินเยอะ ๆ
ถ้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็อย่างเช่น ตลาดจ๊อดแฟร์, ตลาดนัดหัวมุม, ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์
หรือถ้าหากพูดถึงตลาดนัดดัง ๆ ขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดบ้าง ก็อย่างเช่น ตลาดนัดเซฟวัน ที่โคราช
หรือตลาดนินจาอมตะ ที่ชลบุรี ที่คุณตัน ภาสกรนที เป็นเจ้าของ
แล้วตลาดนัดเหล่านี้ ทำไมถึงประสบความสำเร็จมาก ลองมาวิเคราะห์กัน
- อย่างแรกก็คือเรื่อง ทำเล
นอกจากจะเป็นที่ดินที่มีขนาดใหญ่พอแล้ว ทำเลที่ตั้งของที่ดิน ที่จะนำมาทำเป็นตลาดนัดนั้น ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น
ตลาดจ๊อดแฟร์แถวย่านพระราม 9 และที่ใหม่ที่แดนเนรมิต ทำเลตรงที่ว่านี้เพียบพร้อม โดยมีทั้งรถไฟฟ้าผ่าน รวมถึงเป็นย่านที่มีศูนย์การค้า ออฟฟิศ และเป็นย่านนักท่องเที่ยว
หรือถ้าไม่อยู่กลางเมือง ก็อาจจะเป็นย่านชานเมืองที่มีคนผ่านเยอะ
อย่างเช่น ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ หรือตลาดนัดหัวมุม บริเวณจุดตัดถนนเลียบด่วนรามอินทรา และถนนเกษตร-นวมินทร์
ซึ่งในบริเวณย่านชานเมืองดังกล่าว เป็นบริเวณที่มีหมู่บ้านและที่อยู่อาศัยเยอะ
หรือถ้าเป็นต่างจังหวัด อย่างตลาดนินจาอมตะ ที่ชลบุรี หรือตลาดเซฟวัน ที่โคราช
พื้นที่ตรงนั้น เป็นโลเคชันที่ติดถนนใหญ่ สามารถติดป้ายตลาดนัดให้เห็นได้ชัด ๆ และมีที่ให้รถยนต์ สามารถขับเข้ามาจอดได้สะดวก
และอยู่ใกล้กับแหล่งงานอย่างนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่มีคนผ่านไปผ่านมาเยอะ
เช่น ตลาดนินจาอมตะ ที่เจาะกลุ่มพนักงานโรงงาน ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่มากกว่า 600 แห่ง และมีคนทำงานอยู่มากกว่า 200,000 คน
นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยใกล้ ๆ อย่างมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี หรือมหาวิทยาลัยบูรพา
1
หรือตลาดนัดเซฟวัน ที่นอกจากจะเจาะกลุ่มคนที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กว่า 430,000 คน
ก็ยังจะสามารถเจาะกลุ่มประชากรแฝง ที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาได้
โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาเทคโนโลยีสุรนารี หรือกลุ่มพนักงานในโรงงานรอบ ๆ ตัวเมืองโคราช
อย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โคราช
- อย่างที่สอง คือ การบริหารจัดการภายในตลาดนัด
แน่นอนว่า ถ้าหากจะทำตลาดนัด ให้สามารถดึงดูดลูกค้าจากบริเวณรอบ ๆ หรือต้องการแย่งลูกค้า จากห้างสรรพสินค้า ให้เข้ามาเดินเล่น และช็อปปิง
การทำตลาดนัดให้ดี จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- เรื่องการจัดการพื้นที่ ให้มีความสะอาด และน่าเดิน
- เรื่องการจัดการแบ่งพื้นที่สำหรับจอดรถ โดยเฉพาะในตลาดนัดต่างจังหวัด ที่คนนิยมขับรถกันมาเอง
- จัดแบ่งโซนพื้นที่ให้มีความหลากหลาย น่าดึงดูด
เช่น แบ่งพื้นที่ให้เป็นโซนขายเสื้อผ้า ของเบ็ดเตล็ด และโซนร้านอาหาร หรือลานที่มีโต๊ะและที่นั่งเยอะ ๆ และมีเวทีสำหรับนักดนตรี
บางตลาดมีการแบ่งพื้นที่ ให้คนทั่วไปมาเปิดหมวก เพื่อแสดงความสามารถ
บางตลาดมีการแบ่งพื้นที่ ให้เป็นโซนร้านนั่งชิลในตอนกลางคืน
การแบ่งพื้นที่ ทำเป็นโซนต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นท่าประจำของตลาดนัดสมัยใหม่ ที่จะทำให้คนที่มาเดิน ได้มีโอกาสทำกิจกรรมอย่างอื่น นอกจากแค่มาซื้อของกิน ของใช้ แล้วก็กลับบ้านไป
2
แล้วถ้าหากพูดถึงข้อได้เปรียบของตลาดนัด อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตลาดนัดสามารถคิดค่าเช่า ในอัตราที่ถูกกว่าศูนย์การค้า
เพราะการทำตลาดนัดไม่เหมือนการทำศูนย์การค้า ที่ต้องลงทุนสร้างอาคารใหญ่ ๆ ขึ้นมา
พอเป็นแบบนี้ หลายตลาดนัดที่เพิ่งเปิดใหม่อาจจะยังไม่เก็บค่าเช่า หรืออาจจะลดค่าเช่า ให้กับพ่อค้าแม่ค้า ที่มาเช่าที่ขายของก่อน
เพื่อเป็นการจูงใจ ให้พ่อค้าแม่ค้า มาลองขายของภายในตลาดนัดก่อน
และเมื่อคนเริ่มมาเดินเยอะ และพ่อค้าแม่ค้าเริ่มมีกำไร ก็จะทยอยเก็บค่าเช่าแบบเต็มอัตราในภายหลัง
โดยอัตราค่าเช่าของตลาดนัด ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
1
ยกตัวอย่างเช่น
อัตราค่าเช่าล็อกของตลาดเซฟวัน ที่อยู่บริเวณชานเมืองโคราช คิดค่าเช่าล็อกละ 250 บาทต่อวัน
แต่ถ้าเป็นตลาดนัด ที่ตั้งอยู่ในทำเลสวย ๆ อย่างใจกลางกรุงเทพมหานคร ก็จะคิดค่าเช่าในอัตราที่สูงกว่า
อย่างเช่น ตลาดจ๊อดแฟร์ที่แดนเนรมิต ที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน
จะคิดค่าเช่าล็อกละ 500 บาทต่อวัน และมีค่าสิทธิ์ในการเช่ารายปีล็อกละ 20,000 บาทต่อปี
แล้วถ้าเรามาลองคิดเล่น ๆ ดูว่า รายได้ต่อปีของตลาดจ๊อดแฟร์ที่แดนเนรมิต จะเป็นเท่าไร
หากคิดค่าเช่ากับ ผู้เช่าที่ขายของในอัตราเท่านี้
ตลาดจ๊อดแฟร์มีพื้นที่ตลาดนัดจำนวน 1,200 ล็อก
สมมติว่า ตลาดจ๊อดแฟร์มีผู้เช่าอยู่เต็มพื้นที่ และมีผู้เช่าทุกรายมาขายของ โดยสมมติให้แต่ละร้านหยุดเดือนละ 4 วัน
ตลาดจ๊อดแฟร์ ก็จะมีรายได้ถึงปีละ 214 ล้านบาท
1
โดยตลาดจ๊อดแฟร์ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน ที่แดนเนรมิตเก่าเป็นระยะเวลา 5 ปี
ก็เท่ากับว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี หากมีผู้เช่าเต็มทุกวันด้วยสมมติฐานนี้
เจ้าของตลาดจ๊อดแฟร์ จะสามารถทำรายได้ มากกว่า 1,000 ล้านบาท เลยทีเดียว..
สรุปคือ โมเดลธุรกิจตลาดนัด ถ้าหากทำให้ดี เจ้าของธุรกิจตลาดนัดจะกลายเป็นเสือนอนกิน
เพราะไม่ว่าแต่ละร้านจะขายดีหรือไม่ดี ในแต่ละวัน แต่ละเดือน
แต่ถ้ามีคนเช่าแผง เช่าล็อกเต็มตลอดเวลา เจ้าของตลาด ก็ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย แบบไม่ต้องทำอะไรเลย..
โฆษณา