2 ส.ค. 2023 เวลา 02:31 • ท่องเที่ยว

วัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร หรือ ในชื่อเดิม วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามสร้างขึ้นในที่ดิน ซึ่งเดิมเคยเป็นสวนกาแฟหลวง สมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของข้าราชการในรัชกาลที่ 4 .. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอซื้อที่เพื่อสร้างวัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2407
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม" เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลีและภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม 10 หลัก
อนึ่ง .. วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน ..
จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก
หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรม รูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2408 ปีฉลู ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน
วัดราชประดิษฐฯ จึงเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ในนิกายนี้ เพราะวัดอื่น ๆ ของฝ่ายธรรมยุตเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย และด้วยเหตุนี้เองวัดแห่งนี้จึงได้รับยกให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั้งวัด และเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถไว้ด้วย เสร็จแล้วแบ่งพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4 บรรจุลงในกล่องศิลา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระพุทธอาสน์ของพระประธานภายในพระอุโบสถ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้ช่างกรมศิลปากรรื้อเรือนไม้ 2 หลังที่ชำรุดสร้างเป็นปราสาทยอดทรงปรางค์แบบขอม 2 หลังแทน
สถาปัตยกรรมและจิตรกรรมสำคัญภายในวัด
วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่มีพื้นที่น้อย แต่ภายในพระอารามนี้ก็ประกอบไปด้วยปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานมากมาย
พระอุโบสถ
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนแบบทรงไทย มีมุขหน้า และหลังตั้งอยู่บนพื้นไพที ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนเดี่ยวสีส้มอ่อน ปิดเชิงชายด้วยกระเบื้องลายเทพพนม มีช่อฟ้าใบระกาประดับ
หน้าบันด้านหน้า และหลังใช้ไม้สักแกะสลักลายรูปพระมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์ มีพานแว่นฟ้ารองรับ พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง 6 เชือก ทั้ง 2 ข้างประดับด้วยฉัตรห้าชั้น
.. พื้นของหน้าบันเป็นลายกระหนก ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับด้วยรูปมงกุฎปูนปั้น บานประตูและหน้าต่างทำด้วยไม้สัก แกะสลักเป็นลายก้านแย่งซ้อนกัน 2 ชั้น ลงรักปิดทองติดกระจกสีหมดทุกรายการ
ตัวอุโบสถด้านนอกด้านหลังมีซุ้มแกะสลักด้วยหินอ่อน ทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐานศิลาจารึกประกาศ 2 ฉบับ
พระพุทธสิหังคปฏิมากร .. พระประธานในพระวิหารหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จำลองจาก พระพุทธสิหิงค์ องค์จริงที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
.. พระชินสีห์น้อย พระศรีศาสดาน้อย พระพุทธชินราชน้อย และพระพุทธสิหิงค์น้อย
งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น สกุลช่างนางาซากิ (Nagasaki Raden) อายุเก่าแก่กว่า 156 ปี ..
เป็นงานศิลปะที่อยู่บนบานประตูหน้าต่างในพระวิหารหลวง .. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย และ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมมือกันในการพิสูจน์จนนำไปสู่การเป็นตัวกำหนดอายุงานประดับมุกที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ
งานประดับมุกนี้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น เมื่อแล้วเสร็จจึงส่งมาประกอบเป็นบานหน้าตางในเมืองไทย งานฝังมุกแบบนี้มีเพียง 2 วัดในเมืองไทย คือ ที่วัดนางชี ละวัดราชประดิษฐ์
มุกที่ใช้ประดับเป็นมุกไฟ น่าเสียดายที่ผลงานเริ่มเสื่อมไปตามกาลเวลา .. ยิ่งไปกว่านั้น ยังไร้ช่างฝีมือมาซ่อมแซม แม้แต่ที่ญี่ปุ่นเอง ก็ไม่สามารถหาช่างมาซ่อมได้เช่นกัน
ภายในพระอุโบสถที่ฝาผนังโดยรอบมีจิตรกรรมฝาผนังเทพยดา ดั้นเมฆ
ภาพจิตรกรรมใต้ท่อบประตู สวยงามมาก
พระราชพิธี 12 เดือน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้วาดไว้ และภาพการเกิดสุริยุปราคาในสมัยรัชกาลที่ 4
พระมหาเจดีย์หินอ่อน ปาสาณเจดีย์.. เป็น เจดีย์ประธานของวัด สร้างด้วยหินอ่อนสีเทาและขาวแบบเดียวกับพระวิหารหลวง
หอพระจอม .. ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถทางทิศตะวันตก เป็นปราสาทยอดปรางค์ทรงเขมร ยอดปรางค์ประดับด้วยพรหมสี่หน้า หน้าบันของซุ้มประดับด้วยปูนปั้นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ (บรรทมอยู่บนหลังมังกร)
ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหล่อเต็มพระองค์เท่าพระองค์จริง
หอไตร ... ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถทางทิศตะวันออก เป็นปราสาทยอดปรางค์ทรงเขมร หน้าบันของซุ้มประดับด้วยปูนปั้นนูนเป็นภาพพุทธประวัติตอนประสูติ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ใช้เป็นที่เก็บรักษา พระไตรปิฎกและคัมภีร์ธรรมต่างๆ
ศาลาทรงไทย ... ด้านหน้าพระอุโบสถตรงมุมพื้นไพทีมีศาลาขนาดเล็ก 2 หลัง ด้านล่างถัดมามีศาลาขนาดเขื่องกว่าศาลาบนพื้นไพทีอีก 2 หลัง ปัจจุบันศาลาชั้นล่าง 2 หลัง มีอยู่ทางทิศตะวันตกใช้เป็นศาลาธรรมสภาแสดงปาฐกถาธรรม ทุกๆ ก่อนวันธรรมสวนะ
หอระฆัง ... ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส รูปทรงคล้ายมงกุฎ มีลวดลายศิลปะแบบไทยประดับด้วยชามจากประเทศจีนนำมาตัดติดสีต่างๆ
ระฆังฝรั่งสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ
หอระฆังยอดมงกุฎ เป็นหอระฆังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตก และสถาปัตยกรรมไทยประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดเป็นกุฎาคาร “ยอดมงกุฏ” สื่อความหมายถึงพระมหาพิชัยมหามงกุฎ มีความพิเศษต่างจากหอระฆังทั่วไป ที่ไม่มีบันไดขึ้นไปตีระฆัง ใช้การดึงเชือกตีระฆังด้านในจากเชือกที่โยงมาด้านล่างอาคารแทน
ระฆังใบใหญ่ที่แขวนเดิม ตอนกลางของระฆัง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นภาษาอังกฤษ ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ ว่า S P B P M M ได้แก่ Somdet Phra Baramendr Phra Maha Mongkut และระบุตัวเลขใต้พระปรมาภิไธยย่อ คริสตศักราช 1861 ตรงกับ พุทธศักราช 2404 หรือ 3 ปีก่อนการสถาปนาพระอาราม บริเวณปากระฆังมีข้อความว่า FOUNDERS LONDON ระบุถึงการผลิตที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
เนื่องในโอกาสสถาปนาพระอาราม ครบ 150 ปี ในปีพุทธศักราช 2557 คณะผู้แทนเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานระฆัง Whitechapel Bell Foundry ถนนไวท์ชาเพล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
.. ที่เคยทำการหล่อระฆังในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสั่งทำระฆังในพระปรมาภิไธยอีกครั้ง จำนวน 3 ใบ ใหญ่, กลาง, เล็ก โดยยึดตามแบบธรรมเนียมเดิมที่เคยมี ทดแทนลูกเดิมที่ชำรุดจากแรงเหวี่ยงของการใช้งาน พร้อมนำเทคโนโลยีการตีระฆังแบบอัตโนมัติของสหราชอาณาจักรมาใช้
ระบบการตีระฆังอัตโนมัติ ที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าเป็นตัวตีแทนกำลังคน ทำให้น้ำหนักการตีเป็นระดับเดียวกัน ซึ่งแพร่หลายในยุโรป ส่งผลให้ระฆังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เพราะเดิมการใช้แรงคนในการตี มีผลกระทบคือแรงในตีไม่สม่ำเสมอ แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่กำลังของคนที่ตี ส่งผลให้ระฆังแตกร้าวง่ายและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง
แต่ระบบตีระฆังด้วยระบบอัตโนมัติ อย่างยุโรปนั้น พบปัญหาเรื่องจังหวะการตีระฆัง ที่ไม่ได้เป็นทำนองอย่างไทยประเพณี ทางวัด จึงได้ทำความร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการประดิษฐ์ “ระบบควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ” ของระฆังฝรั่งสามใบเถาหอระฆังยอดมงกุฏ ที่อนุรักษ์การตีระฆังอย่างไทยประเพณี ให้ตรงตามที่ปรากฏในจารึกหินอ่อน ของวัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา อันเป็นวัดสาขาที่นำแบบของพระอารามไปใช้ เมื่อคราวส่ง พระอมราภิรักขิต (อ่อน อมโร) ไปครองเป็นปฐมเจ้าอาวาส
ทั้งนี้ได้ดำเนินการทดลองระบบจนมีความเสถียรมั่นคง ไม่มีความคลาดเคลื่อน พร้อมเป็นต้นแบบที่จะเอื้อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป นับว่าเป็นการอนุรักษ์การตีระฆังอย่างไทยโบราณให้คงอยู่ พร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปด้วยในอันจะเป็นประโยชน์ต่อวัดไทยในปัจจุบัน
โฆษณา