3 ส.ค. 2023 เวลา 04:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วิเคราะห์: น่ากังวลแค่ไหนเมื่อตลาดหุ้นสหรัฐร่วงหนักหลังถูก Fitch ปรับลดเรตติ้ง

📉 การที่ Fitch Ratings ได้ปรับลดอันดับเครดิตระยะยาวของสหรัฐฯจากระดับสูงสุดที่ AAA มาเป็น AA+ ในวันที่ 1 สิงหาคม ทำให้ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นตกใจอย่างหนักเพราะว่าไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
โดยเหตุผลที่ทางด้าน Fitch ให้ไว้คือ “มาตรฐานธรรมาภิบาลที่มีคุณภาพลดลง” กับ “ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าเรื่องการขยายเพดานหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และชอบมาแก้ปัญหาในนาทีสุดท้าย” ซึ่งเหตุผลเหล่านี้นับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เนื่องจากเป็นเรื่องที่ตลาดรับรู้อยู่แล้ว แต่ตลาดกลับตกใจมากกว่าที่อยู่ดีๆ Fitch ได้ออกมาปรับลดเรตติ้งแบบที่ไม่มีใครคาดคิด
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตามนิคกี้มองว่าการปรับลดเครคิตเรตติ้งของ Fitch เป็นปัจจัยระยะสั้นมากกว่า และเหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยเหมือนกับปี 2011
โดยตอนนั้น S&P ได้ Downgrade เรตติ้งของสหรัฐฯลงเป็นครั้งแรกจาก AAA มาเป็น AA+ โดยให้เหตุผลว่า “ระดับหนี้ของสหรัฐฯปรับตัวขึ้น และการที่สภาคองเกรสไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ได้” หรือพูดง่ายๆก็คือในตอนนั้นสหรัฐฯไม่สามารถเจรจาขยายเพดานได้ทัน deadline นั่นเองคะ
📌 แล้วมันแตกต่างกับรอบนี้ยังไง คำตอบคือ การปรับลดเครดิตเรตติ้งของ S&P ในปี 2011 เกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหลังสหรัฐฯไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ได้ทัน deadline ในวันที่ 2 สิงหาคม 2011 ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะทุกๆครั้งสหรัฐฯก็สามารถขยายเพดานหนี้ได้ทันตลอด ทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อชำระภาระผูกพันธ์ไปก่อนชั่วคราวนานหลายสัปดาห์เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการ default
S&P500 ปรับตัวลงมากว่า 10% ก่อนฟื้นตัวกลับมาที่เดิม
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในรอบนั้นคือตลาดหุ้นสหรัฐฯร่วงหนักกว่า 10% อย่างไรก็ตามหลังการเจรจาบรรลุผล และลงนามโดยประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ในข้อตกลงที่มีชื่อว่า Budget Control Act of 2011 ตลาดหุ้นสหรัฐฯก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ระดับเดิมได้อย่างรวดเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ขณะที่การตัดสินใจของ Fitch เมื่อวานนี้มาจากกระบวนการพิจารณาที่รอบคอบมากขึ้นของหน่วยงานจัดอันดับเครดิต และเป็นการพิจารณาจากข้อมูลและแนวโน้มด้านการคลังสหรัฐฯที่ตลาดรับรู้มาก่อนอยู่แล้ว และไม่ใช่ความเสี่ยงที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นการตัดสินใจของ Fitch ในรอบนี้เป็นแค่สัญญาณที่สะท้อนถึงความท้าทายด้านงบประมาณและนโยบายของสหรัฐฯในระยะยาวมากกว่า
สำนักงบประมาณคาดว่าหนี้สินต่อ GDP จะพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
โดยถ้าเราไปดูแนวโน้มหนี้สินต่อ GDP ของสหรัฐฯก็จะพบว่ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะถัดจากนี้ และจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องควบคุมการใช้จ่ายในระยะถัดไป ขณะที่จาก Fitch เองก็คาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ของสหรัฐฯจะพุ่งแตะระดับ 118% ภายในปี 2025 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีเครดิตเรตติ้ง AAA หลายเท่า (ค่า Median ของประเทศที่ได้ AAA อยู่ที่ 39%)
อย่างไรก็ตามในข้อตกลงการขยายเพดานหนี้ล่าสุดของสหรัฐฯภายใต้ข้อตกลง Fiscal Responsibility Act of 2023 นั้นได้มีการระงับการใช้เพดานหนี้ชั่วคราวจนถึงเดือน มกราคม 2025 รวมถึงจะมีการจำกัดการใช้จ่ายของรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะลดระดับหนี้สินภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวได้ทันเวลาหรือเปล่า
🏦 นอกจากนี้เองในแง่ของสถานะการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือ safe haven ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากภายใต้กรอบการกำกับดูแล Basel ได้กำหนดให้ต้องคงเงินทุนสำรองสำหรับตราสารหนี้ rating ตั้งแต่ AAA ถึง AA ไว้ที่ 0% ทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นแล้วผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นแค่ปัจจัยที่เข้ามากดดัน sentiment นักลงทุนในระยะสั้นมากกว่า
คำถามถัดมาคือ แล้วทำไมตลาดหุ้นสหรัฐฯถึงปรับตัวลงแรงเมื่อคืนที่ผ่านมา คำตอบคือเมื่อว่ามีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP ที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดค่อนข้างเยอะ สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่ ทำให้ตลาดกังวลกันว่าเฟดจะมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวนานขึ้นอีก
ตัวเลขจ้างงานจาก ADP ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด
อีกปัจจัยนึงคือกระทรวงการคลังสหรัฐฯมีแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3/23 และ 8.5 แสนล้านในไตรมาส 4/23 ส่งผลให้อุปทานของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น (Supply เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลง หรือทำให้ Yield เด้งนั่นเอง)
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯสูงขึ้นต่อเนื่อง
✅ ดังนั้นแล้วนิคกี้มองว่า ตัวเลขภาคแรงงานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับอุปทานพันธบัตรที่เข้ามามากกว่าคาด (ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4%) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นสหรัฐฯมากกว่าการถูก Fitch ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
S&P500 vs US Bond Yield 10Y
โดยถ้าดูจากการเคลื่อนไหวในอดีตแล้วจะพบว่าเมื่อไหร่ที่ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯแตะระดับ 4% ตลาดหุ้นสหรัฐฯมักจะถูกเทขายด้วยเช่นกัน ประกอบกับปีนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯเองก็ปรับตัวขึ้นมาเยอะมากๆ ทำให้การ take profit เป็นเรื่องปกติเมื่อเกิดความกังวลขึ้นในตลาด
โดยสรุปแล้วนิคกี้มีมุมมองว่า การปรับลด credit rating ไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ และตลาดจะกลับมาให้ความสนใจกับตัวเลขเศรษฐกิจ ผลประกอบการไตรมาส 2/23 รวมถึงติดตามว่าเฟดจะสามารถทำ soft landing ได้หรือไม่ นักลงทุนอาจอาศัยจังหวะที่ตลาดหุ้นและตราสารหนี้มีการย่อตัวลงมาเพื่อเข้าลงทุนได้เหมือนเดิมคะ
🎯 อนาคตของตลาดหุ้นอยู่ในมือเฟด: Soft Landing เป็นไปได้ไหม?
Source: Bloomberg
#เฟด #เงินเฟ้อ #ดอกเบี้ย #เศรษฐกิจ #ตลาดหุ้น #softlanding #ตลาดหมี #การลงทุน #การเงิน #เศรษฐกิจโลก #สหรัฐ #CreditRating #Fitch #เครดิต #เรตติ้ง
โฆษณา