4 ส.ค. 2023 เวลา 04:36 • หนังสือ

"ป้องกันตัวอย่างไร ไม่ติดคุก"

เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์อย่างหนึ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อชีวิตรอด ถ้าใครจะทำร้ายอะไรเรา เราก็มีสิทธิที่จะทำร้ายเขาก่อนเพื่อป้องกันชีวิต ร่างกายของเราเอาไว้ เช่น ถ้าใครจะเอาปืนมายิง มาฆ่าเรา เราก็มีสิทธิยิงฆ่าเขาก่อนที่เราจะถูกฆ่าตายได้ การกระทำอย่างนี้กฎหมายเรียกว่า “การป้องกัน”
1.การป้องกันไม่ผิดกฎหมาย
การป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นถือว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะป้องกันตัวได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปทำร้ายเขา ไปฆ่าเขาตายเพื่อป้องกันตัวเราเองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว กฎหมายถือว่าการกระทำของเราดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย
เช่น เราทำร้ายร่างกายเขาบาดเจ็บ ซึ่งปกติก็เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือเราฆ่าคนอื่นตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มีโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี
แต่ถ้าเราทำร้ายร่างกายนาย ก.ถึงบาดเจ็บ หรือฆ่านาย ก.ตาย เพราะ นาย ก.จะทำร้ายเรา หรือจะฆ่าเรา เราจึงต้องทำร้ายหรือห่านาย ก. อย่างนี้ถือว่าเรากระทำการป้องกันตัวเอง การกระทำของเรา แม้นาย ก.จะถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ หรือตาย เราก็ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือฐานฆ่านาย ก.ตายเลย เพราะเรากระทำไปเพื่อป้องกันตัว จึงไม่ผิดกฎหมายอะไรเลย นาย ก.ก็เลยถูกทำร้าย หรือถูกฆ่าตายฟรีไป
2.อย่างไร เรียกว่า “การป้องกัน”
กฎหมายเขียนเรื่องการป้องกันไว้ ดังนี้
“ผู้ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
กฎหมายเขียนไว้แค่นี้ การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายมีองค์ประกอบ ซึ่งจะแยกพิจารณาไว้เป็นข้อๆ ได้ดังนี้
(1). มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
(2). เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
(3). จำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง หรือผู้อื่นเพื่อให้พ้นภยันตราย
(4). กระทำพอสมควรแก่เหตุ
(1).มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
หมายความว่า มีอันตรายต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว และอันตรายนั้นต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือ เกิดจากการทำผิดกฎหมายนั่นเอง ถ้าอันตรายไม่ได้เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายก็ไม่เข้าองค์ประกอบข้อนี้
เช่น เกิดภัยธรรมชาติ ฝนตก ฟ้าผ่า ฝนตก ฟ้าผ่า หรือภัยเกิดจากสัตว์ซึ่งสัตว์ทำผิดกฎหมายไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้เกิดจากการละเมิดกฎหมาย แต่เป็นภัยที่เกิดขึ้นเอง แต่ถ้ามีคนจะมาปล้นมาทำร้าย มาฆ่าเรา อย่างนี้ถือว่ามีคนละเมิดกฎหมาย มีคนทำผิดกฎหมายแล้ว ภัยอย่างนี้เราก็มีสิทธิที่จะทำการเพื่อป้องกันได้
(2). เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
ภัยอันตรายที่เกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายข้อ (1) นั้น ถ้ายังอยู่ห่างจากผู้ที่จะได้รับภัยนั้น กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ทำการป้องกันได้
เช่น ก.ขึ้นไปบนบ้านถือปืน แต่อยู่ห่าง ข. ตั้งสองกิโลเมตร ไม่มีทางที่จะยิงถูก ข.ได้เลย เพราะอยู่ห่างไกลกันมาก อย่างนี้ ข.ยังไม่มีสิทธิป้องกันตัวเอง จะป้องกันเฉพาะที่ภยันตรายใกล้จะถึงเท่านั้น
ที่กฎหมายเขียนไว้อย่างนี้เพราะเห็นว่าเมื่อภัยใกล้จะถึงแล้วหากยังขืนปล่อยให้ภัยเกิดขึ้นก็จะเกิดอันตรายแก่เขาได้ตลอดเวลาทุกวินาที จึงให้สิทธิผู้ที่จะได้รับภัยอันตรายมีสิทธิทำการป้องกันได้ทันทีเมื่อภัยใกล้จะถึง
เช่น ก.ยกปืนจ้องจะยิง ข.ซึ่งยืนอยู่ใกล้กัน หรือ ก.ยกมีดเงื้อจะฟัน ข. หรือถือมีดวิ่งไล่ฟัน ข. อย่างนี้ถือว่าภัยใกล้จะเกิดกับ ข.แล้ว ข.จึงมีสิทธิป้องกันตัวเอง โดยมีสิทธิที่จะยิง หรือทำร้าย ก.ได้ ก่อนที่จะถูก ก.ยิงฆ่าทำร้ายเอา หาก ข.กระทำการป้องกันดังกล่าว ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของ ข.ไม่ผิดกฎหมาย แม้ว่า ข.จะฆ่า หรือทำร้าย ก.ก็ตาม
(3). จำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง หรือผู้อื่นเพื่อให้พ้นภยันตราย
สิทธิของบุคคลมีหลายอย่าง เช่น สิทธิเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียง เสรีภาพ ทรัพย์สิน รวมถึงสิทธิอื่นๆ เช่น ลิขสิทธิ์ เป็นต้น สิทธิเหล่านี้ทุกคนมีสิทธิที่จะป้องกันได้ทั้งนั้น
ป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น
การป้องกันสิทธิกฎหมายให้อำนาจป้องกันได้ทั้งสิทธิของตนเองและผู้อื่นด้วย เพราะถือว่าคนเราควรจะมีสิทธิป้องกันสิทธิของคนอื่นได้ด้วย มิใช่เพียงแต่ป้องกันสิทธิของตนเองเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้มนุษย์ได้ช่วยเหลือกัน
ตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาแล้วว่าเป็นการป้องกันชีวิตร่างกาย
เช่น จำเลยเป็นคนชรามาก ผู้ตายเป็นคนหนุ่มอันธพาล ผู้ตายฉุดคร่าลูกสาวนของจำเลยถึงใกล้บ้านเรือน และทำท่าจะทำร้ายจำเลยอีก ผู้ตายมีมีดอยู่ในมือ จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 1069/ 2503)
ผู้ตายร้องท้าจำเลยให้มาสู้กัน จำเลยไม่สู้ ผู้ตายเงื้อดาบจะฟันจำเลย จำเลยยิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายถึงแก่ความตายศาลฎีกาตัดสินว่า ถ้าจำเลยไม่ยิงผู้ตาย ผู้ตายก็จะฟันจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 64/2504)
ตัวอย่างการป้องกันสิทธิในทรัพย์สิน
เวลา 24.00 น. คนร้ายจูงกระบือออกไปจากใต้ถุนเรือนจำเลย จำเลยร้องถาม คนร้ายหันปืนมาทางจำเลย จำเลยยิงปืนไปจากบนเรือน 2 นัด ถูกคนร้ายตาย ดังนี้ เป็นการป้องกันทรัพย์สินพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 93/2511)
ตัวอย่างป้องกันสิทธิเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง
จำเลยกลับบ้านเห็นผู้ตายกำลังกอดปล้ำเพื่อกระทำชำเราภริยาของจำเลย จำเลยฟันผู้ตาย 2 ที แล้ววิ่งหนี ผู้ตายคว้ามีดไล่ฟันจำเลย จำเลยหนีไม่พ้น หันมาฟันผู้ตาย 2-3 ที ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 273/2510)
เกี่ยวกับการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของภริยาที่มีชู้นั้น แต่ก่อนศาลฎีกาตัดสินว่าการฆ่าชายชู้ตายขณะที่ชายชู้กำลังร่วมประเวณีกับภริยานั้นเป็นการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของสามี แต่ต่อมาปัจจุบันศาลฎีกาได้ตัดสินไปในทางที่ว่าไม่ใช่เป็นการป้องกันเกียรติยศอะไร เพราะเกียรติยศนั้นได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นว่าเป็นการฆ่าคนตายโดยบันดาลโทสะ แปลว่า ฆ่าเพราะโกรธแค้นที่ถูกข่มเหงน้ำใจอย่างร้ายแรงโดยไม่ชอบธรรม ซึ่งการกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะนี้ ศาลจะลงโทษผู้กระทำผิดน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ได้
ตัวอย่างเกี่ยวกับการป้องกันสิทธิของผู้อื่น
ผู้เสียหายมักมาขอน้ำของลูกสาวจำเลยกิน ลูกสาวจำเลยเข้าไปในครัวเพื่อจะตักน้ำให้ ผู้เสียหายตามเข้าไปจับมือและกอดลูกสาวนของจำเลย จำเลยได้ยินเสียงลูกสาวเรียกให้ช่วย จึงเข้าไปใช้มีดแทงผู้เสียหาย 2 ครั้งเพื่อให้ปล่อยลูกสาว ผู้เสีย หายหันกลับมาจะสู้จำเลย จำเลยจึงแทงไปอีก ทำให้ผู้เสียหายบาดเจ็บ ดังนี้ เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่น (ลูกสาวของจำเลย) เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 1698/2512)
จะเห็นได้ว่าการที่จำเลยทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าผู้ที่ละเมิดต่อกฎหมายเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือสิทธิของผู้อื่นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายเหล่านั้น ซึ่งจำเลยจะต้องกระทำเพื่อป้องกัน หากไม่ทำแล้วก็อาจมีภัยอันตรายมาถึงจำเลยหรือผู้อื่นได้ กฎหมายจึงได้ให้อำนาจเขาที่จะทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
(4). กระทำพอสมควรแก่เหตุ
องค์ประกอบอีกข้อหนึ่งของการกระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นก็คือ ต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ
หมายความว่า ต้องพอสมควรแก่เหตุแก่เรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าทำการเกินกว่าเหตุก็ไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
อะไรจะเป็นการสมควรแก่เหตุ อะไรจะเกินกว่าเหตุนั้น ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ดูจากอาวุธที่กระทำว่าจะพอสมควรกันหรือไม่
เช่น เขาใช้เท้าเตะมือต่อยเรา แต่เรากลับใช้ปืนยิง หรือใช้ระเบิดป้องกัน ก็เห็นได้ว่ามันไม่สมควรแก่เหตุ มันเกินไป แต่ถ้าเขาจะใช้มีดแทงเรา เราใช้มีดแทงเขา หรือใช้ปืนยิงเขา อาวุธที่ใช้กระทำทั้งสองฝ่ายอาจจะทำให้แต่ละฝ่ายถึงตายได้ ก็ถือเป็นการใช้อาวุธที่พอสมควรกัน เรียกได้ว่าพอสมควรแก่เหตุ
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาแล้วว่าเป็นการกระทำที่ “พอสมควรแก่เหตุ”
ผู้ตายบุกรุกขึ้นไปบนเรือนจำเลย เงื้อมีดเข้าไปที่จำเลยนั่งอยู่ จำเลยเข้าแย่งมีดมาได้ ทั้งสองฝ่ายเข้าต่อสู้กัน จำเลยใช้มีดนั้นแทงผู้ตายไปทันทีรวม 2 ครั้ง ถูกหน้าอกเหนือราวนม จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 94/2513)
เวลากลางคืนจำเลยถูกรุมทำร้ายด้วยไม้และมีด จำเลยจึงใช้ปืนยิงไปยังกลุ่มที่ทำร้าย กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ (ฎีกาที่ 600/2509)
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาแล้วว่าเป็นการกระทำที่ “เกินกว่าเหตุ” ถือว่าไม่ใช่เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ตายบุกรุกเข้ามาในบ้านโดยไม่มีอาวุธ จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นการป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ (ฎีกาที่ 527/2485)
จำเลยกับพวกเจ้าทรัพย์ติดตามคนร้ายที่ลักเรือไป ไปพบผู้ตายกับพวกอยู่ใกล้ๆ กับเรือที่ถูกลักไป ผู้ตายใช้ปืนลูกกรดยิงจำเลย แต่ไม่ถูก แต่ผู้ตายหนีไปจากเรือห่างประมาณ 12 วา จำเลยยิงผู้ตายถูกข้างหลัง 1 นัด ถือว่าเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ
ที่ศาลตัดสินว่าเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุนั้น เพราะขณะนั้นผู้ตายได้หนีไปจากเรือแล้ว และปืนลูกกรดที่ผู้ตายมีอยู่ก็ยังไม่ได้มีลักษณะที่จะยิงจำเลยอีก ภยันตรายที่ใกล้จะเกิดเพราะผู้ตายจะยิงจำเลยอีกก็ไม่มี การที่จำเลยยิงผู้ตายทางข้างหลังขณะที่ผู้ ตายกำลังวิ่งหนี จึงเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ
3.ผลของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย ผู้กระทำจึงไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย เช่น ใครจะมาฆ่าเรา เราก็ฆ่าเขาก่อน ใครถือปืนเข้าปล้นบ้านเรา เราก็มีสิทธิยิงคนร้ายเพื่อป้องกันทรัพย์สินของเราได้ คนร้ายที่ยิงต่อสู้กับตำรวจ ตำรวจก็มีสิทธิป้องกันตัวโดยยิงคนร้ายตายได้โดยไม่ผิดต่อกฎหมาย
แต่การที่เราทำให้เกิดผลร้ายขึ้นแก่บุคคลเพราะการกระทำของเรา แม้จะไม่ผิดกฎหมายเลย แต่ตำรวจก็มีสิทธิจะดำเนินคดีแก่เราได้ ส่วนเราจะผิดหรือไม่ผิดก็ต้องพิสูจน์กันอีกที เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าเราพิสูจน์ได้ เราก็จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น
ก. ข. ค. มีปืนเข้าปล้นบ้านเรา เรายิงฆ่าคนร้าย ก. ข. ค. ตาย ซึ่งความจริงแล้วเรากระทำการป้องกันทรัพย์สินของเราโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของเราไม่ผิดกฎหมายเลย แต่เมื่อเราฆ่าคนตายแล้วตำรวจก็มีสิทธิที่จะจับกุมเราเป็นผู้ต้องหาดำเนินคดีฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้ ตำรวจก็จะทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า ก. ข. ค. มันเป็นคนร้ายมีปืนบุกเข้าปล้นเราจริง เราจึงยิงฆ่า ก. ข. ค. ตาย เพื่อป้องกันทรัพย์สินของเราจริง
ตำรวจเขาก็จะสั่งไม่ฟ้องเราในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะเห็นว่าเรากระทำการป้องกันโดย
ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยการ อัยการก็จะสั่งไม่
ฟ้องปล่อยตัวเราพ้นข้อหาไป เพราะเห็นว่าเราทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมาย
แต่ถ้าอัยการฟ้องเราต่อศาล หรือญาติ ก. ข. ค. คนตายฟ้องเราต่อศาลฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เราก็เอาพยานบุคคลไปสืบที่ศาลแสดงให้ศาลเห็นว่าเราฆ่า ก. ข. ค. เพราะป้องกันทรัพย์สินของเรา เราไม่ผิดกฎหมาย ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวเราพ้นข้อหาไป
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีการจับกุมฟ้องเราต่อศาล ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าเราได้
ทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ผิดกฎหมายแล้ว ศาลก็จะปล่อยตัวเราพ้นข้อหาไปในที่สุด
4. ป้องกันเกินกว่าเหตุมีสิทธิรอดตะรางหรือไม่
อย่างที่ได้บอกแล้วว่าจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องป้องกันพอสมควรแก่เหตุ จึงจะไม่ผิดกฎหมาย ถ้าป้องกันเกินแก่เหตุแล้วจะผิดกฎหมายทันที
เช่น เขาต่อยเรา แต่เรากลับใช้มีด ใช้ปืนฆ่าเขา อย่างนี้เรียกว่า เป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ เป็นความผิดตามกฎหมาย ถ้าเราทำให้เขาบาดเจ็บ เราก็ผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ ถ้าทำให้เขาตายก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา จะต้องรับโทษตามกฎหมาย
แต่คำถามที่ว่าป้องกันเกินกว่าเหตุนั้น มีสิทธิรอดตะรางได้หรือไม่นั้น ตอบได้เลยว่ามีสิทธิรอดตะรางได้ ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ
ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า
“ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดจากความตื่นเต้น ความตกใจ ความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้”
ตัวอย่างที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุ
เช่น เขาผลักอกเราแล้วเราแทงเขาตาย เป็นต้น
ตัวอย่างที่การกระทำเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำ
คือ ไม่จำต้องกระทำถึงขั้นนั้นแต่ได้กระทำเกินความจำเป็น
เช่น คนร้ายทิ้งควายที่ขโมยแล้วได้วิ่งหนีไปโดยคนร้ายไม่มีอาวุธอะไร เรากลับใช้ปืนยิงข้างหลังคนร้าย อย่างนี้ก็เรียกว่าทำไปโดยเกินความจำเป็นที่ต้องทำแล้ว
คงเห็นแล้วว่าการที่ทำการป้องกันเกินกว่าเหตุ หรือเกินความจำเป็นต้องทำนั้นผิดกฎหมายก็จริง แต่กฎหมายก็ยังปรานีให้ จึงให้ศาลมีอำนาจ 2 ประการ คือ
(1).ลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้
(2).ไม่ลงโทษเลยก็ได้
(1).ลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้
เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา กฎหมายกำหนดโทษไว้คือประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี 20 ปี
หมายความว่า ถ้าศาลจะลงโทษจำคุกต้องจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 20 ปี คือศาลจะจำคุกต่ำกว่า 15 ปีไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับโทษอย่างต่ำไว้ แต่ถ้าเป็นการฆ่าคนตายโดยป้องกันเกินกว่าเหตุ ศาลมีอำนาจจะลงโทษจำคุกจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ คือ จะจำคุกจำเลยต่ำกว่า 15 ปีก็ได้ อาจจะ 1 ปี 2 ปี หรือวันเดียว หรือรออาญาแก่จำเลยก็ได้ จำเลยที่ทำผิดเพราะป้องกันเกินกว่าเหตุ จึงมีสิทธิไม่ติดตะรางได้ด้วยประการฉะนี้
(2).ศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้
กรณีที่จะไม่ลงโทษจำเลยนั้น เฉพาะที่การกระทำนั้นเกิดขึ้นเพราะความตื่นเต้น ตกใจหรือกลัว
เช่น เห็นคนเอาลูกระเบิดปลอมมาทำท่าจะขว้างใส่เรา เรานึกว่าเป็นระเบิดจริง เราตกใจหรือกลัวเลยโยนระเบิดจริงใส่ผู้ตายไป หรือผู้หญิงอยู่บ้านคนเดียว ผู้ชายหลายคนบุกรุกเข้ามาในบ้านทำท่าจะข่มขืน ผู้หญิงตกใจกลัวจึงยิงผู้ชายเหล่านั้นตาย หรือเกิดความตื่นเต้น เช่น คนร้ายพูดว่า กูจะฆ่ามึง เราตื่นเต้นสุดขีด โดยไม่ได้ดูให้ดีเสียก่อนว่าคนร้ายพูดขู่เล่นเท่านั้น เราจึงฆ่าคนร้ายตาย อย่างนี้ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำเลยก็ได้
สรุปได้ว่าคนที่กระทำโดยป้องกันเกินกว่าเหตุมีสิทธิรอดตะรางได้อย่างมากทีเดียว
5.ถ้าสำคัญผิดว่าป้องกันได้จึงทำการป้องกันไปจะผิดหรือไม่
เรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่กฎหมายเค้าเขียนไว้ว่า ถ้าสำคัญผิดว่าทำได้โดยสุจริตก็มีสิทธิทำได้ คือ ถ้าเราเข้าใจผิดว่ามีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเป็นภัยที่ใกล้จะถึงตัวเราแล้วทำการป้องกันไปพอสมควรแก่เหตุ เพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริง อย่างนี้ทำการป้องกันได้ ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือว่าการสำคัญผิดหรือเข้าใจผิดไม่ใช่เจตนาชั่วร้ายของมนุษย์
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาแล้ว
คนร้ายเข้าไปแทงนกในนาของจำเลย จำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักข้าวในนาของจำเลย จำเลยจึงยิงคนร้ายไปเพราะสำคัญผิด เป็นป้องกันทรัพย์สินไม่ผิดกฎหมาย (ฎีกาที่ 614/2456)
จำเลยเคยถูกปล้นเพราะผู้ร้ายปลอมตัวเป็นตำรวจมาครั้งหนึ่งแล้ว วันเกิดเหตุตำรวจมีหมายค้น หมายจับเข้าจะทำการจับกุมจำเลย โดยปีนรั้วเข้ามาในบ้านจำเลยเวลากลางคืน จำเลยสำคัญผิดคิดว่าเป็นพวกปล้นจึงยิงตำรวจจนบาดเจ็บ ถือว่าป้องกันไม่ผิดกฎหมาย (ฎีกาที่ 155/2512)
6.สมัครใจสู้กันเป็นป้องกันหรือไม่
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องมีคนอื่นมาทำผิดกฎหมายให้แก่เราหรือคนอื่น โดยที่เราเองไม่ได้ร่วมทำผิดกฎหมายด้วย เรามีสิทธิป้องกันตัวได้ ถ้าเราร่วมหรือเข้าทำผิดกฎหมายกับเขาด้วยแล้ว แสดงว่าเรามีเจตนาชั่วร้ายที่จะทำผิดกฎหมายมาแต่ต้น กฎหมายจะไม่ช่วยคนประเภทนี้ เราจึงไม่มีสิทธิจะทำการป้องกันได้ เช่น ถ้าสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ฝ่ายใดจะอ้างว่าป้องกันไม่ได้
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาแล้ว
ก.ถืออาวุธวิ่งเข้ามาจะทำร้าย ข. ข.ถืออาวุธวิ่งเข้าจะทำร้าย ก. ต่างคนต่างสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ทั้งสองฝ่ายผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ฝ่ายใดจะอ้างว่าป้องกันตัวไม่ได้เลย (ฎีกาที่ 1027/2498)
จำเลยโกรธผู้เสียหาย ถือปืนไปร้องด่าท้าทายผู้เสียหายที่บ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายเดินถือเสียมลงมาจากบ้านมาหาจำเลยในลักษณะจะต่อสู้กับจำเลย จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายบาดเจ็บ ดังนี้ เป็นเรื่องสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กัน จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย จะอ้างว่าป้องกันตัวไม่ได้ (ฎีกาที่474/2516)
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจึงต้องเกิดขึ้นโดยผู้ป้องกันไม่ได้เริ่มทำผิดกฎหมายด้วย เพราะมีคนอื่นมาทำผิดกฎหมายต่อเราหรือต่อผู้อื่น เราจึงมีสิทธิป้องกันได้
ก็ขออวยพรให้คนที่ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายทุกท่านจงพ้นภัยใดๆ และจงรอดคุกรอดตะรางได้โดยทั่วกัน
นี่คือ “คัมภีร์นิรตะราง” ทางป้องกันอีกบทหนึ่ง
..........................................
ศรัญญา วิชชาธรรม
4 ส.ค. 66
โฆษณา