4 ส.ค. 2023 เวลา 05:11 • หนังสือ

"ขับรถชนคนตาย ทำไม? ไม่ติดคุก"

มีคนมากมายสงสัยว่าทำไมคนที่ขับรถชนคนตายกลับไม่ติดตะราง แต่คนที่ขับรถชนคนบาดเจ็บกลับต้องมาติดตะราง และ... ทำไม? คนขับรถชนคนตายหรือทำให้ทรัพย์สินเขาเสียหายมากมายกลับไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ใครเลย แต่บางคนแค่ขับรถชนคนบาดเจ็บเล็กน้อย ทำให้ทรัพย์สินเขาเสียหายนิดหน่อยกลับต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขาอย่างมากมาย
ความสงสัยเหล่านี้ทำให้คิดไปว่า “ความยุติธรรมยังมีอยู่หรือ” ความจริงคำตอบก็คือ ความยุติธรรมนั้นยังมีอยู่ตลอดเวลา ปัญหาอยู่ที่ว่าเรารู้เรื่องเกี่ยวกับรถชนคนได้ดีแค่ไหนเท่านั้นเอง
1.ขับรถชนคน ชนทรัพย์สินผู้อื่น ผิดกฎหมายอะไร มีโทษแค่ไหน
การขับรถชนคนนั้น ผิดกฎหมายอาญา คือ ประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.จราจรฯ และอาจจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานทำละเมิดในทางแพ่งให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2477 นั้น มีโทษจำคุกและโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เช่น ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ก็มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท (มาตรา 29, 66)
หรือขับรถชนทรัพย์สินของคนอื่นโดยข้าวของทรัพย์สินผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ผู้ขับรถต้องแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ถ้าไม่แจ้งเหตุทันทีมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าทรัพย์นั้นเป็นเครื่องหมายสัญญาณจราจร โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าขับรถชนคนบาดเจ็บหรือตายก็ตาม แล้วหยุดรถช่วยเหลือตามสมควร ต้องแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ถ้าหลบหนีไปไม่กระทำการดังกล่าว ต้องโทษจำคุกไมเกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 59 พ.ศ. 2515 ข้อ 6, 13)
นอกจากการขับรถชนคนหรือทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ แล้วยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ดังนี้คือ
(1). ขับรถประมาทเป็นเหตุให้คนอื่นบาดเจ็บ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 390)
(2). ขับรถประมาทเป็นเหตุให้คนอื่นบาดเจ็บสาหัส มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 300)
(3). ขับรถประมาทเป็นเหตุให้คนอื่นตาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท (มาตรา 291)
ส่วนกฎหมายแพ่ง ถ้าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นบาดเจ็บหรือตาย หรือทรัพย์สินของเขาเสียหาย ผู้ขับรวมทั้งนายจ้างของผู้รับ ซึ่งผู้ขับได้ขับไปในทางการที่จ้าง จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น ฐานที่ทำละเมิดต่อเขา
2.การขับรถชนคน มีความผิดฐานประมาทหรือฐานเจตนา
การขับรถชนคน ไม่ว่าคนที่ถูกชนจะบาดเจ็บหรือไม่บาดเจ็บ จะตายหรือไม่ตายก็ตาม ผู้ขับอาจจะมีความผิดได้ทั้งเจตนาและประมาท เพราะการจะเจตนาหรือประมาทนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของจำเลยเอง ถ้าผู้กระทำมีเจตนาก็ผิดฐานเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาก็ผิดฐานประมาทได้
ตัวอย่างเช่น แดงขับรถบรรทุกถึงด่านตรวจ ตำรวจจราจรโบกมือให้หยุด แดงไม่หยุด ขับรถพุ่งเข้าชนตำรวจจราจรตายโดยแดงมีเจตนาที่จะฆ่า แดงก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา โดยใช้รถเป็นพาหนะฆ่าคนตาย แต่ถ้าแดงขับรถชนตำรวจจราจรที่ด่านตรวจดังกล่าวตายเพราะแดงไม่ทันสังเกตให้ดีกว่าตำรวจจราจรนายนั้นยืนโบกมืออยู่ที่ด่านตรวจ เลยขับรถชนตำรวจจราจรนายนั้นตายโดยไม่ได้มีเจตนาฆ่าเลย ดังนี้ แดงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ตำรวจจราจรถึงแก่ความตาย
คำตอบคงชัดแล้วว่า คนที่ขับรถชนคนหรือชนทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายนั้น อาจจะผิดได้ทั้งฐานกระทำโดยเจตนาหรือฐานกระทำโดยประมาทก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำผิดเหล่านั้นเอง จึงต้องพิจารณาดูเป็นเรื่องๆ ไป ว่าเรื่องใดผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีเจตนาหรือโดยประมาทกันแน่ ?
3.ขับรถประมาทหมายความว่าอย่างไร
ความจริงการกระทำโดยประมาทนั้น คือการกระทำที่ไม่มีเจตนา แต่ได้กระทำไปเพราะขาดความระมัดระวังเท่านั้นเอง คือ ข้อแรกต้องยึดหลักให้ดีเสียก่อนว่าต้องไม่มีเจตนา แล้วจึงพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานประมาทหรือไม่ ถ้ามีเจตนาแล้วไม่เป็นความผิดฐานประมาท ถ้าผิดฐานประมาทก็ไม่ผิดฐานเจตนาต้องแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด การกระทำอย่างเดียวกันจะผิดทั้งเจตนาและประมาทไม่ได้ ต้องผิดอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปเลย
เช่น เหลืองขับรถไล่ทับแดงตายเพื่อฆ่าแดงเพราะได้ค่าจ้างมา อย่างนี้เหลืองผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ถ้าเหลืองขับรถไม่ระวังให้ดี รถไปชนแดงตายเพราะประมาท โดยไม่มีเจตนาฆ่าแดงมาก่อนเลย อย่างนี้เหลืองมีความผิดฐานขับรถชนคนตายโดยประมาทอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นขับรถโดยประมาทข้อแรกก็คือ ต้องขับรถโดยไม่ใช่เจตนากระทำผิดนั่นเอง แต่ได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังนั่นเอง
การกระทำโดยประมาทนั้น กฎหมายเขียนไว้นิดเดียวว่า “การกระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดโดยมิได้เจตนา แต่การกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง” ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
แปลความง่ายๆ ว่า ขับรถโดยประมาทก็คือ ขับรถโดยปราศจากความระมัดระวังนั่นเอง แต่จะระมัดระวังแค่ไหนนั้น กฎหมายเขียนไว้ว่า ระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ คือ ระมัดระวังตามวิสัยที่ควรระวังนั่นเอง แต่อะไรจะถือว่าระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป
เช่น ขับรถไปตามถนนหลวง เห็นรถหรือสิ่งกีดขวางจอดวางอยู่ข้างหน้า บุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ก็คือต้องลดความเร็วของรถลง พร้อมที่จะหยุดรถได้ทันท่วงที ก่อนที่จะถึงสิ่งกีดขวางทางอยู่ข้างหน้านั้น ถือว่าได้ระมัดระวังตามสมควร ไม่ประมาท ขับรถในที่พลุกพล่าน มีคนเดินข้ามถนนมากมาย มีรถราติดขัดก็ต้องระมัดระวัง จะขับเร็วไม่ได้ จะแซงขวาแซงซ้าย ก่อนจะแซงตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้นต้องมองดูให้แน่ชัดเสียก่อนว่ามีรถแล่นมาในทางที่เราจะแซงหรือไม่
ถ้าตรวจตราดูให้ดีแล้วจึงขับแซงไป ก็ถือว่าได้ระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ของคนขับรถในภาวะเช่นนั้นจะต้องระวังแม้รถจะชนกันก็ถือว่าเราได้ระมัดระวังแล้ว เราย่อมไม่มีความผิดฐานขับรถประมาท
แต่ถ้าภาวะที่กำลังเกิดสงครามกลางเมือง ทหารกำลังวิ่งไล่ยิงกันกลางถนน ตามวิสัยและพฤติการณ์ที่มีการสู้รบ มีภัยอันตรายเช่นนั้น เราก็ต้องรีบขับรถหนีด้วยความเร็วเพื่อให้ชีวิตเราอยู่รอด การที่เราขับรถเร็วเพื่อหนีลูกปืนก็ถือว่าเป็นการขับรถโดยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว แม้รถจะไปชนคนชนทรัพย์สินใคร เราก็ไม่ผิดฐานขับรถโดยประมาท เพราะเราได้ระมัดระวังตามสมควรแล้ว
4. ขับรถชนคน คนขับจะผิดเสมอไปหรือไม่
มีคนพูดกันมากว่าถ้ารถชนคนละก็ คนขับจะต้องผิดเสมอไป ความจริงแล้วเขาเข้าใจผิดเพราะอย่างที่บอกไว้แต่แรกว่า คนขับรถจะมีความผิดได้ก็มีอยู่ 2 วิธีคือ
(1). ขับรถชนคนโดยเจตนา
(2). ขับรถชนคนโดยประมาท
แต่ถ้าปรากฏว่าคนขับเขาไม่ได้เจตนาจะชนคน และไม่ได้ขับรถประมาทด้วยแล้ว เขาก็ไม่ควรจะมีความผิดตามกฎหมาย (เว้นแต่เรื่องชนคนแล้วหนีเท่านั้น เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า ไม่ว่าผู้ขับจะผิดหรือไม่ ถ้าหลบหนีแล้วไม่แจ้งเหตุ ก็จะผิดฐานชนคนแล้วหลบหนีทันที)
ตัวอย่างเช่น เราขับรถไปตามถนนตามปกติ อยู่ดีๆ มีคนฆ่าตัวตายกระโดดให้เราเราทับ เราไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ทำให้รถเราทับคนตาย อย่างนี้จะเอาผิดเราฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตายได้อย่างไร เพราะความจริงแล้วเราขับรถด้วยความระมัดระวังตามปกติ ไม่ว่าใครจะขับในสถานการณ์เช่นนั้น ในวิสัยและในภาวะเช่นนั้น ทุกคนก็ต้องขับรถชนคนตาย เพราะคนตายเป็นฝ่ายกระโดดตัดหน้ารถที่เราขัยอยู่ให้ทับ เหตุที่เกิดจึงเป็นความผิดของผู้ตายเอง ไม่ใช่ความประมาทของเรา
หรือตัวอย่างเช่น เราขับรถอยู่ดีๆ เราถูกรถบรรทุกชนท้ายรถเราอย่างแรง ทำให้รถเราไถลลื่นไปชนคนขี่มอเตอร์ไซค์ที่อยู่ข้างหน้าเราตาย อย่างนี้จะเห็นว่าเราทับคนตายจริง แต่เราประมาทหรือเปล่า เราขับรถอยู่ดีๆ เหตุที่รถเราชนคนตายก็เพราะรถบรรทุกคันหลังชนท้ายรถเรา ทำให้รถเราไถลไปทับคนตาย เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะคนขับรถบรรทุกขับรถชนท้ายรถเรา เป็นความผิดของคนขับรถบรรทุกอย่างแน่นอน
จากตัวอย่างทั้งสอง คงจะเป็นคำตอบที่ดีว่ารถชนคนนั้นไม่ใช่ว่าคนขับจะผิดเสมอไป คนขับอาจจะไม่ผิดเลยก็ได้ คนถูกชนอาจจะผิดเองก็ได้ ไม่แน่นอน
5.ขับรถชนคน ชนทรัพย์สินของคนอื่นแล้วควรหนีหรือไม่
เรื่องชนแล้วหนีนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ท่านตีนผี (เท้าปีศาจ) ทั้งหลายมักจะท่องคาถาไว้เสมอว่า “ชนแล้วต้องหนี...”
ความจริงแล้วการหนีนั้นอาจเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่ท่านได้ เพราะบางทีถ้าท่านไม่หนี ท่านกลับรอดคุก แต่ที่ติดคุกก็เพราะการหนีนี่เอง ขอให้ท่านกรุณาทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี
เรื่องชนแล้วหนีนี้มีเขียนไว้ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 59 พ.ศ. 2515 ข้อ 6, 13
สรุปใจความโดยย่อดังนี้
(1). ถ้าขับรถทำให้ทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดของคนขับรถหรือไม่ก็ตาม ถ้าผู้ขับรถที่ได้รับความหายหรือเจ้าของทรัพย์สินไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ผู้ขับรถต้องแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานใกล้เคียงทันที ถ้าไม่แจ้งปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถ้าทรัพย์ที่เสียหายเป็นเครื่องหมายจราจร ต้องจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อนี้เป็นเรื่องรถชนทรัพย์สิน ไม่ใช่ชนคน ต้องเข้าใจให้ดี คือ ถ้าเราขับรถชนรถผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้ว หน้าที่ของเราก็คือ ต้องแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานใกล้เคียงทันที ไม่ว่าเราจะผิดหรือถูกก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังให้ดี กฎหมายเขียนบังคับไว้แล้ว แม้เราจะถูกจะผิดก็ต้องแจ้งทันที ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป บางคนเห็นว่าตัวไม่ผิด ไม่ต้องแจ้งก็ดี ต้องระวังให้ดี ผิดไม่ผิดต้องแจ้งหมด มิฉะนั้นจะถูกปรับถึง 1,000 บาท หรือติดคุกถึง 3 เดือน ถ้าขับรถไปชนเครื่องหมายจราจร
(2). ขับรถเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายผู้อื่น ผู้ขับต้องหยุดรถช่วยเหลือตามสมควร เช่น พาคนเจ็บไปโรงพยาบาล และต้องแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีด้วย ถ้าไม่ทำ ตำรวจมีอำนาจยึดรถที่ผู้ขับหลบหนีไปได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าจะได้ตัวผู้ขับ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานภายใน 6 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ ให้รถตกเป็นของแผ่นดินเลย
จะเห็นว่าคนที่ขับรถชนคนแล้วหนี มีโทษมาก รถที่ขับอาจจะถูกยึดและตกเป็นของแผ่นดินเลย นอกจากนี้ผู้ที่หลบหนียังมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับด้านอายุความการหลบหนีนั้น กฎหมายก็เขียนไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
- ถ้าชนคนบาดเจ็บ อายุความ 1 ปี
- ถ้าชนคนบาดเจ็บสาหัส อายุความ 10 ปี
- ถ้าชนคนตาย อายุความ 15 ปี
แปลว่า ถ้าชนคนบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส หรือคนตาย ก็ต้องหลบหนีนานถึง 1 ปี 10 ปี 15 ปี ตามลำดับ จึงจะขาดอายุความฟ้องร้อง
การขับรถชนคนแล้วหลบหนี นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังถือว่าขาดมนุษยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย สมมติว่าเราชนคนบาดเจ็บ ถ้าเราเพียงมีน้ำใจช่วยนำเขาส่งโรงพยาบาล เขาอาจจะรอดชีวิตได้ แต่เรากลับหลบหนีไป ไม่มีใครช่วยเหลือเขา ปล่อยให้เขานอนตายอย่างน่าเวทนาเช่นนี้เป็นเรื่องที่เศร้ามาก
ยิ่งไปกว่านั้น ในชั้นศาลถ้าเราชนคนแล้วช่วยเหลือคนเจ็บ ศาลมักจะปรานีเห็นใจจำเลยที่พยายามบรรเทาผลร้ายในสิ่งที่ตนทำผิดไปแล้ว ศาลมักจะปรานีจำเลยโดยรออาญาให้ แต่ถ้าเราชนคนแล้วหนีไป ภายหลังเราถูกจับได้ ไปฟ้องศาล แม้เราจะขอความปรานีของศาลอย่างไร ก็ยากที่ศาลจะเมตตาเรา เพราะการกระทำที่ไร้น้ำใจของเรา เพราะฉะนั้น ท่านผู้ขับรถทั้งหลายที่ขับรถชนคน ก็ควรจะมีน้ำใจช่วยเหลือคนเจ็บตามสมควรแล้วท่านก็จะได้รับความเห็นใจจากศาลและสังคม
6.ขับรถชนคน เสียเงินให้ผู้เสียหายแล้ว เหตุใดคนขับจึงติดคุก
มีหลายคนสงสัยอย่างนี้จริงๆ ว่า เสียเงินให้ผู้เสียหายแล้วทำไมต้องมาติดคุกอีก เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเราไม่เข้าใจจริงๆ
ต้องทำความเข้าใจเสียก่อน คดีขับรถชนคนบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส หรือตายนั้น เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ปกติแล้วคู่ความจะยอมความกันไม่ได้ ถึงแม้คู่ความ คนเจ็บและผู้ต้องหาจะตกลงกันได้ ไม่เอาเรื่องกัน คดีก็ยังไม่ระงับ เพราะคดียอมความกันไม่ได้ คงมีแต่คดีขับรถชนคนบาดเจ็บธรรมดา (ไม่สาหัส) เท่านั้น ที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ ทำให้คดีระงับได้
ส่วนขับรถชนคนบาดเจ็บสาหัส (รักษาตัวตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป) และชนคนตายนั้น เปรียบเทียบไม่ได้ และยอมความไม่ได้ แม้ผู้ต้องหาจะชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย คดีก็ยังไม่ระงับ ต้องมีการฟ้องร้องให้จำเลยรับโทษทางอาญาต่อไป
คดีขับรถชนคนบาดเจ็บและตายนั้น ถ้าคนขับผิดจริง คนขับจะต้องรับผิด 2 ทาง คือ ทางอาญาทางหนึ่ง และทางแพ่งอีกทางหนึ่ง ทางอาญาศาลก็จะลงโทษจำคุกหรือปรับไป ส่วนทางแพ่งจำเลยก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายด้วย ซึ่งแยกกันคนละอย่าง ไม่ปะปนกัน เพราะฉะนั้นคนส่วนมากเมื่อเสียเงินให้ผู้เสียหายแล้วก็คิดว่าเสร็จเรื่องทางอาญา ความจริงแล้วการที่เราเสียเงินให้ผู้เสียหายนั้น เป็นการชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งเท่านั้น การชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งไม่เกี่ยวกับทางอาญา
การชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งจึงไม่สามารถทำให้ความรับผิดทางอาญาระงับไปได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องรับโทษทางอาญาด้วยนั่นเอง แต่การที่เราชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งนั้น ก็เป็นเหตุหนึ่งที่เราได้พยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของเรา จึงเป็นเหตุที่ศาลจะปรานีเราในทางอาญาได้อีกทางหนึ่ง
ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า เมื่อขับรถชนคนนั้น คนขับต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาอย่างไร และคดีดังกล่าวนั้นจะระงับได้เมื่อไร
ตัวอย่าง แดงขับรถชนเขียวบาดเจ็บธรรมดา (ไม่สาหัส) โดยประมาท ตำรวจเปรียบเทียบปรับ 500 บาท คดีระงับ ไม่ต้องฟ้องแดงต่อศาล เขียวจะได้ค่าเสียหายทางแพ่งจากแดงหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่เขียวมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากแดงได้อีกต่างหาก
แดงขับรถชนเขียวบาดเจ็บสาหัสโดยประมาท ตำรวจเปรียบเทียบแดงไม่ได้ ไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ตำรวจต้องทำสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการฟ้องศาล ถ้าแดงไม่ผิด ตำรวจ อัยการ อาจไม่ฟ้องแดง ถ้าแดงผิดอัยการจะฟ้องแดงต่อศาล ฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส ส่วนแดงจะให้ค่าเสียหายเขียวหรือไม่ ไม่สำคัญ หรือแดงกับเขียวจะตกลงยอมความกัน ไม่เอาเรื่องกันก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามยอมความ อัยการต้องฟ้องแดงต่อศาล ศาลต้องลงโทษแดงตามกฎหมายอาญา ส่วนค่าเสียหายในทางแพ่งนั้นต่างหาก คนละเรื่องกัน
แดงขับรถชนเขียวตายโดยประมาท แดงยอมจ่ายเงินค่าทำศพให้บิดาเขียวเป็นเงินสามแสนบาท บิดาเขียวพอใจ ไม่เอาความแดง แต่แดงมีความผิด แม้ผู้เสียหายจะไม่เอาความ คดีก็ไม่ระงับ อัยการต้องฟ้องแดงต่อศาล ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย แดงจำเลยรับสารภาพต่อศาล บิดาของเขียวแถลงต่อศาลว่าได้รับค่าเสียหายจากแดงแล้วเป็นเงินสามแสนบาท ไม่ติดใจเอาเรื่องนี้ ขอให้ศาลปรานีแดงด้วย ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแดงผิดจริง แต่แดงได้พยายามบรรเทาผลร้าย ชดใช้ค่าทำศพให้ผู้ตายแล้ว จึงพิจารณาโทษจำคุกจำเลย 1 ปี แต่ให้รออาญาไว้ 2 ปี
แต่ถ้าแดงขับรถชนเขียวโดยประมาทแล้วหลบหนีไป แดงชดใช้ค่าทำศพให้เขียวห้าแสนบาท ขอให้ศาลรออาญา ศาลเห็นว่าจำเลยหลบหนี ไร้มนุษยธรรม แม้จะชดใช้ค่าทำศพก็ไม่ควรรออาญา จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี
จากตัวอย่างทั้งหลายที่แสดงให้ดูนี้ คงเห็นแล้ว่าเหตุใดขับรถชนคน เมื่อเสียเงินแล้ว กลับต้องมาติดตะราง หรือไม่ได้เสียเงินให้ผู้เสียหายแต่กลับไม่ติดตะราง
7.ศาลฎีกาเคยตัดสินคดีขับรถชนคนไว้บ้างหรือไม่ ผลคดีเป็นอย่างไร
ศาลฎีกาเคยตัดสินคดีขับรถชนคนไว้มาก ผลคดีมีทั้งจำคุกจำเลยและปล่อยจำเลยไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คดีที่ศาลฎีกาลงโทษจำเลย
แดงขับรถเก๋งกำลังจะสวนทางกับเหลืองซึ่งขับรถบรรทุกสวนทางมา แดงแซงรถแทร็กเตอร์ซึ่งดำขับขี่อยู่ข้างหน้ารถที่แดงขับขี่ รถที่แดงขับเฉี่ยวชนรถแทร็กเตอร์ ทำให้รถแทร็กเตอร์เสียหลักขวางถนนชนกับรถบรรทุกที่เหลืองขับสวนมา เป็นเหตุให้ดำบาดเจ็บ และคนที่นั่งในรถแทร็กเตอร์ตาย 2 คน ปัญหามีว่าใครบ้างที่จะต้องรับผิด ศาลฎีกาตัดสินว่านายเหลืองกับนายดำขับรถไปตามปกติ ไม่ได้ประมาทอะไร แต่เหตุที่เกิดเพราะนายแดงขับรถแซงรถคันอื่นโดยประมาท จึงลงโทษแดงผู้เดียว ให้ปล่อยตัวเหลืองและดำพ้นข้อหาไป (ฎีกาที่ 534/2511)
แดงขับรถบรรทุกอยู่ข้างหน้า เหลืองขับรถเก๋งตามหลัง เหลืองพยายามใช้สัญญาณขับรถจะขอแซง แดงไม่ยอมให้แซง ขับรถปาดหน้าไปมา รถเก๋งได้จังหวะพยายามแซง รถทั้งสองเลยเกิดชนกัน ศาลฎีกาตัดสินว่า แดงประมาทแต่ฝ่ายเดียว เพราะขับรถแกล้งรถที่จะขอแซง (ฎีกาที่ 1765/2522)
นายแดงขับรถผ่านทางแยกด้วยความเร็วสูงกว่า 20 กม./ชม. ซึ่งเป็นอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด ทั้งๆ ที่แดงเห็นว่าเหลืองกำลังขับรถเลี้ยวขวาผ่านทางแยก เห็นอยู่แล้วว่าเหลืองขับมาถึงทางแยกก่อน ขณะเห็นนั้นรถแดงห่างจากแยก 40 เมตร ซึ่งควรที่แดงจะหยุรถรอให้เหลืองเลี้ยวขวาผ่านทางแยกไปก่อน แต่แดงยังขับรถความเร็วเท่าเดิมจนชนกับรถเหลือง คนในรถของเหลืองบาดเจ็บสาหัสหลายคน
ศาลฎีกาเห็นว่าแดงมีโอกาสจะหยุดหรือชะลอความเร็วรถลงก่อนถึงทางแยกที่เหลืองกำลังเลี้ยวขวาอยู่ แต่แดงไม่ทำถือว่าแดงประมาทแต่ฝ่ายเดียว ส่วนเหลืองนั้นรถถึงทางแยกก่อน ต้องเลี้ยวขวา ไม่มีเหตุที่เหลืองต้องหยุดรถตรงทางแยกให้รถของแดงผ่านไปก่อน เหลืองจึงไม่ผิดแต่อย่างใด (ฎีกาที่ 1672/2521)
แดงขับรถอยู่เลนกลาง พอใกล้จะถึงสี่แยกจะเลี้ยวซ้าย แดงเปลี่ยนเลนเลี้ยวซ้ายทันทีโดยให้สัญญาณไฟเลี้ยวก่อนเลี้ยว ขณะนั้นเหลืองขับอยู่ในเลนซ้ายตามหลังมา ทำให้ท้ายรถข้างซ้ายของแดงปาดหน้าข้างขวารถของเหลือง รถเสียหายทั้งสองฝ่าย ศาลฎีกาตัดสินว่า เมื่อรถจะเปลี่ยนเลนต้องระวัง ต้องเห็นว่าปลอดภัยก่อนจึงจะเปลี่ยนเลนเลี้ยว แม้จะให้สัญญาณเลี้ยวไว้แล้วก็ตามตัดสินว่าแดงผิดฝ่ายเดียว เหลืองไม่ผิด (ฎีกาที่ 717/2509)
แดงขับรถยนต์โดยสารรับส่งผู้โดยสาร มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งห้อยโหนอยู่ที่บันไดรถ รถตกหลุมลึกทำให้เด็กที่ห้อยโหนตกลงมาตาย ศาลฎีกาตัดสินว่าเด็กที่ห้อยโหนรถก็ประมาทที่ห้อยโหนที่บันไดรถ คนขับรถประมาทที่ปล่อยให้เด็กมาห้อยโหนรถ (ฎีกาที่ 624/2515)
แดงขับรถบรรทุกสิบล้อไปด้วยความเร็ว เหลืองขับรถเก๋งมาตามหลัง พยายามจะขอแซงขวา แต่แดงขับรถปาดหน้าไปมาไม่ยอมให้แซง พอแดงเห็นรถทัวร์ขับรถสวนมา ก็แกล้งหลบรถเข้าซ้ายมือ ปล่อยให้เหลืองแซงมา โดยเหลืองไม่ทันเห็นรถทัวร์ที่สวนมา ปรากฏว่ารถเหลืองชนเข้ากับรถทัวร์อย่างแรง เหลืองกับคนในรถเหลืองตายหลายศพ ศาลฎีกาตัดสินว่าแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายหักรถหลบไปทางขวาแล้วต้องชนกับรถทัวร์ แดงจึงมีผิดฐานฆ่าเหลือง และคนในรถเหลืองตายโดยเจตนา (ฎีกาที่ 2255/2500)
8. กรณีที่ขับรถชนคนบาดเจ็บ หรือตายแล้วไม่ติดตะราง
ศาลฎีกาเคยตัดสินยกฟ้องปล่อยจำเลยไปแล้วหลายราย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
จำเลยขับรถยนต์ลากไม้มีรถพ่วงบรรทุกไม้ซุง รถมาถึงตรงเนิน ห่างคลอง 1 วา ซ้ายมือเป็นภูเขา พอรถลงเนิน รถเอียง จำเลยทั้งสามที่นั่งยอยู่ในรถกลัวตาย เลยกระโดดลงจากรถ ตกลงไปกระแทกหินในคลองตาย ศาลฎีกาตัดสินว่าเหตุที่เกิดไม่ใช่ความประมาทของจำเลย ผู้ตายกระโดดลงไปตายเอง (ฎีกาที่ 114/2510)
จำเลยขับรถยนต์ชั่วโมงละ 10 กิโลเมตร ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิดไม่ถึง 1 วา สุดวิสัยที่จำเลยจะหยุดรถได้ทัน จึงมิใช่ความประมาทของจำเลย (ฎีกาที่ 1661/2499)
ฮ.ขับรถตัดถนนจากฟากหนึ่งไปยังถนนอีกฟากหนึ่ง ตัดหน้ารถที่จำเลยขับมาตามปกติในถนน ในระยะ 1 หรือ 2 วา ในระยะกระชั้นชิด สุดวิสัยที่จำเลยจะหยุดรถได้ทัน จึงไม่ใช่ความประมาทของจำเลย (ฎีกาที่ 131/2479)
ผู้ตายเดินข้ามถนนทางท้ายรถโดยสาร เพื่อจะข้ามฟากถนนไปอีกฟากหนึ่ง จำเลยขับรถผ่านมาโดยบีบแตรให้สัญญาณ พอผู้ตายโผล่ท้ายรถโดยสารก็ถูกรถจำเลยชนเอาถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมองไม่เห็นผู้ตาย รถจำเลยวิ่งเพียงชั่วโมงละ 15 ไมล์ เหตุที่เกิดจำเลยได้ระมัดระวังพอสมควรแล้ว จึงไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด (ฎีกาที่ 490/2469)
จำเลยขับรถชนคนตายโดยไม่ได้ประมาท แต่ไม่มีใบขับขี่ ศาลฎีกาตัดสินว่าขับรถโดยไม่มีใบขับขี่นั้นคนละเรื่องกันกับขับรถโดยประมาท คนที่ขับรถไม่มีใบขับขี่จึงไม่ใช่ขับรถประมาท
จำเลยที่ 1 ขับรถแทร็กเตอร์สวนทางกับรถเก๋ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ขับสวนทางมา
จำเลยที่ 2 ขับรถแซงรถบรรทุกถ่านของจำเลยที่ 3 ขึ้นมา ทำให้รถแทร็กเตอร์และรถเก๋งเฉี่ยวชนกัน รถแทร็กเตอร์ขวางทางอยู่กลางถนน จำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกถ่านตามหลังจำเลยที่ 2 มา ก็พุ่งเข้าเข้าชนรถแทร็กเตอร์ คนที่นั่งในรถแทร็กเตอร์ตาย 2 ศพ ศาลฎีกาตัดสินว่า จำเลยที่ 2 ขับรถแซงขึ้นหน้ารถบรรทุกถ่านของจำเลยที่ 3 ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถแทร็กเตอร์สวนมา แต่แซงไม่พ้น จึงเกิดเฉี่ยวชนขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 2 ประมาท ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด (ฎีกาที่ 543/2511)
จำเลยขับรถรางไปตามปกติ เด็กหญิงผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถรางในระยะประมาณ 4 วา จำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ไม่ใช่ความประมาทของจำเลย (ฎีกาที่ 399-400/2469)
คงจะพอเห็นแล้วว่าการขับรถชนคนนั้น ไม่ใช่ว่าฝ่ายรถจะผิดเสมอไป คนขับอาจไม่ผิดเลยก็ได้ อาจจะเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ขับไม่สามารถหยุดรถได้ทัน เช่น ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด หรือผู้ตายประมาทเอง ไม่ดูรถให้ดีเสียก่อนที่จะข้ามถนน
หรือุบัติเหตุซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร เช่น ขับรถอยู่ดีๆ คนเดินถนนอยู่ดีๆ เกิดมีลูกอุกกาบาตตกลงมาจากฟ้า ลงมาโดนรถที่เราขับอยู่ รถเรากระเด็นไปชนคนตายอย่างนี้เราจะเห็นว่าเหตุที่เกิดไม่ใช่ความผิดของใครเลย แต่เกิดเพราะอุบัติเหตุลูกอุกกาบาตตกลงมาจากฟ้าเท่านั้น
เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่า ขับรถชนคนไม่ติดตะรางนั้นไม่ใช่คำพูดเล่นๆ แต่เป็นความจริง บางครั้งคนขับไม่ผิด คนขับก็รอดตะราง หรือแม้คนขับจะผิด แต่คนขับได้ทำความดีมาก่อน ช่วยเหลือคนบาดเจ็บ ช่วยค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพผู้ตาย แถลงขอความปรานีจากศาล เขาก็อาจจะรอดพ้นจากคุกตะรางได้ เพราะความมีน้ำใจของเขาและความปรานีของศาลที่มีต่อจำเลย
9. ขับรถชนคนแล้วแถลงรับสารภาพ มีสิทธิรอดตะรางหรือไม่
คำตอบก็คือ มีสิทธิทั้งติดตะรางและสิทธิไม่ติดตะราง
การขับรถชนคนบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัสหรือตายนั้น ถ้าเราแถลงให้การรับสารภาพต่อศาล โอกาสที่เราจะได้รับความปรานีจากศาลนั้นมีอยู่มาก อย่างน้อยการรับสารภาพของเรา ศาลก็ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว เช่น จำคุก 2 ปี เหลือ 1 ปี จำคุก 6 เดือน เหลือ 3 เดือน เป็นต้น ส่วนที่จะขอให้ศาลรออาญาให้เราเพื่อให้เรารอดคุกรอดตะรางนั้น ก็เป็นยุทธวิธีที่จะให้รอดตะรางอย่างหนึ่ง
มีสิ่งใดที่เราจะแถลงให้ศาลปรานีเราได้ เรามีความดีอะไรก็ให้แถลงต่อศาลให้หมด มีเอกสารหลักฐานความดีอะไรก็ต้องแถลงต่อศาลให้หมด เพื่อศาลจะได้ปรานีเรา คำให้การรับสารภาพของเราเพื่อขอให้ศาลรออาญาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเขียนให้ดี เพื่ออิสรภาพของเราเอง
ต่อไปนี้เป็นคำรับสารภาพของจำเลยในคดีขับรถชนคนตาย เพื่อให้ศาลรออาญาแก่จำเลย หวังว่าคงจะเป็นแนวทางให้กับท่านได้บ้าง เมื่อท่านขับรถชนคนแล้วรับสารภาพต่อศาล
คำให้การรับสารภาพของจำเลยคดีขับรถชนคนตาย
คดีหมายเลขดำที่ 1234/2535
คดีหมายเลขแดงที่ ......./.........
ศาล อาญา
วันที่ 10 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2535
ความอาญา
พนักงานอัยการ กองคดี สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นายสมทรง สวัสดี จำเลย
ข้าพเจ้า นายสมทรง สวัสดี จำเลย เชื้อชาติ ไทย สัญชาติ ไทย อาชีพ รับจ้าง เกิดวันที่ 1 เดือน มกราคม พ.ศ. 2500 อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 157 ถนน เจริญกรุง ตรอก จันทร์ ใกล้เคียง – แขวง ยานนาวา เขต ยานนาวา จังหวัด กรุงเทพมหานคร ขอยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยมีข้อความตามจะกล่าวต่อไปนี้
ข้อ 1. จำเลยทราบฟ้องโจทก์แล้ว ขอให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ข้อ 2. จำเลยขอแถลงต่อศาลประกอบคำรับสารภาพจำเลยดังต่อไปนี้
(1). จำเลยมีอาชีพรับจ้างขับแท็กซี่ จำเลยขับมานานถึง 15 ปีเศษ รถที่จำเลยขับไม่เคยเฉี่ยวชนใครเลย แต่การที่จำเลยขับรถชนผู้ตายครั้งนี้ เป็นเพราะแม่ของจำเลยอายุ 85 ปี ป่วยหนัก เพราะลื่นล้มหัวฟาดห้องน้ำ จำเลยต้องรีบนำแม่ของจำเลยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว จึงได้เกิดเหตุคดีนี้
(2). จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อนเลย ครั้งนี้เป็นการกระทำผิดครั้งแรกของจำเลย และโดยไม่มีเจตนา แต่ได้กระทำไปเพราะความประมาท ขอศาลได้โปรดเมตตาจำเลยด้วย
(3). จำเลยมีฐานะยากจน ต้องขับแท็กซี่เลี้ยงลูกถึง 5 คน ลูกของจำเลย 4 คน ต้องเรียนหนังสือ ลูกคนเล็กเพิ่งอายุได้ 1 เดือนเท่านั้น ดังปรากฏหลักฐานสูติบัตรของลูกจำเลยที่แนบมาด้วยแล้ว นอกจากนี้จำเลยยังมีภาระจะต้องเลี้ยงดูแม่ซึ่งอายุมากแล้วอีกด้วย หากจำเลยต้องมีอันติดคุกติดตะรางไป ลูก-เมียและแม่ของจำเลย จะต้องได้รับความทุกข์แสนสาหัส เพราะไม่มีใครเลี้ยงดู
(4). คดีนี้เมื่อเกิดเหตุแล้ว จำเลยได้ช่วยนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล ช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้คนเจ็บ และช่วยออกค่าทำศพให้แก่ผู้ตายแล้ว โดยจำเลยต้องกู้ยืมเงินจากเถ้าแก่ของรถแท็กซี่ โดยเสียดอกร้อยละยี่สิบและผ่อนส่งเป็นรายวัน วันละห้าสิบบาท ซึ่งจำเลยจะต้องแบกภาระใช้หนี้ไปอีกนานทีเดียว
ข้อ 3. อาศัยเหตุผลข้อเท็จจริงดังที่ได้กราบเรียนแล้ว ขอศาลได้โปรดเมตตาจำเลยโดยกรุณารออาญาให้จำเลยสักครั้งหนึ่ง เพื่อจำเลยจะได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ นายสมทรง สวัสดี จำเลย
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้า นายสมทรง สวัสดี จำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ นายสมทรง สวัสดี จำเลย
คำแถลงของญาติผู้ตาย
คดีหมายเลขดำที่ 1234/2535
คดีหมายเลขแดงที่ ......./........
ศาล อาญา
วันที่ 10 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2535
ความอาญา
พนักงานอัยการ กองคดี สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นายสมทรง สวัสดี จำเลย
ข้าพเจ้า นางเมตตา ปรานี ผู้เสียหาย เชื้อชาติ ไทย สัญชาติ ไทย อาชีพ รับจ้าง เกิดวันที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 160 ถนน เจริญกรุง ตรอก จันทร์ ใกล้เคียง – แขวง ยานนาวา เขต ยานนาวา จังหวัด กรุงเทพมหานคร ขอยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยดังนี้
ข้อ 1. ข้าพเจ้าเป็นมารดาของผู้ตายในคดีนี้ ได้รับค่าทำศพผู้ตายจากจำเลย เป็นเงิน 20,000 บาท แล้วจำเลยได้ช่วยนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลและช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้คนเจ็บเป็นเงิน 8,000 บาท และได้เป็นเจ้าภาพงานศพให้แก่ผู้ตายอีก 3 คืน
ข้อ 2. จำเลยคดีนี้เป็นคนดีมีน้ำใจ แม้ทำผิดแล้วก็ได้สำนึกโทษ ได้ช่วยเหลือข้าพเจ้าในการรักษาพยาบาลและค่าทำศพผู้ตายตลอดเวลา ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป ขอศาลได้โปรดปรานีจำเลยด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ นางเมตตา ปรานี ผู้เสียหาย
ศรัญญา วิชชาธรรม
4 ส.ค. 66
โฆษณา