5 ส.ค. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

โมเดลธุรกิจ ซุปเปอร์ชีป เชนค้าปลีกภาคใต้ ขายของ 100 บาท เอากำไร 0.6 บาท

หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อร้านค้าปลีกที่ชื่อว่า ซุปเปอร์ชีป เพราะร้านชื่อนี้ มีสาขาแค่ในภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่
แต่มีเรื่องน่าสนใจก็คือ ซุปเปอร์ชีป มีอัตรากำไรในปีที่ผ่านมา แค่ 0.6%
ซึ่งพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ขายของ 100 บาท เอากำไรแค่ 0.6 บาท
1
โมเดลธุรกิจของ ซุปเปอร์ชีป เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ซุปเปอร์ชีป ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2538 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว โดยครอบครัว อนันตจรูญวงศ์
เชนร้านค้าปลีกนี้มีประมาณ 100 สาขา โดยอยู่ในภาคใต้ทั้งหมด
ครอบคลุมจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่
ซึ่งสาขาใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณ ถนนเทพกระษัตรี อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
นอกจากนั้นบริษัทมี ร้านขายวัสดุก่อสร้างเชิงทะเล 1 สาขา อยู่ที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
โดยชื่อ ซุปเปอร์ชีป (SuperCheap) ถ้าแปลเป็นไทยง่าย ๆ จะมีความหมายว่า “โคตรถูก”
ซึ่งก็ตรงกับคอนเซปต์ของร้านจริง ๆ เพราะของในร้านจะขายถูกมาก
โดยสินค้าหลาย ๆ รายการ จะขายถูกกว่าร้านค้าปลีกเชนใหญ่ ๆ อย่าง 7-Eleven เสียอีก
และนอกจากนั้นในหลายสาขา จะมีโซนค้าส่งที่ขายเป็นเซตใหญ่ ๆ ด้วย
1
โดยสินค้าที่ขาย ก็มีตั้งแต่ของใช้ทั่วไป อาหารสด อาหารแห้ง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ยันสินค้าประดับยนต์เฟอร์นิเจอร์ และของพื้นบ้านในพื้นที่นั้น ๆ
ทีนี้มาดู งบกำไรขาดทุน ปี 2565 ของ บริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด
- รายได้รวม 10,463 ล้านบาท
- ต้นทุนขาย 9,302 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 1,077 ล้านบาท
- ดอกเบี้ยจ่าย 12 ล้านบาท
- ภาษีเงินได้ 13 ล้านบาท
- กำไรสุทธิ 59 ล้านบาท
ซึ่งต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ของร้านค้าแบบนี้
หลัก ๆ ก็จะเป็น ต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาขายต่อในร้าน
ต้นทุนค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจัดการด้านโลจิสติกส์ และอาจจะมีค่าเช่าที่
จะเห็นว่า รายได้ของ ซุปเปอร์ชีป เยอะถึง 10,463 ล้านบาท
1
แต่พอหักรายจ่ายรวม ดอกเบี้ย และภาษี ออกแล้ว บริษัทเหลือกำไรสุทธิ 59 ล้านบาท
สรุปแล้วจะเหลือ อัตรากำไร 0.6%
และถ้าลองย้อนดูปีก่อน ๆ
ปี 2562 รายได้ 11,357 ล้านบาท กำไร 57 ล้านบาท
อัตรากำไร 0.5%
ปี 2563 รายได้ 12,475 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท
อัตรากำไร 0.5%
ปี 2564 รายได้ 9,727 ล้านบาท กำไร 47 ล้านบาท
อัตรากำไร 0.5%
ก็จะเห็นว่า อัตรากำไรอยู่ในระดับใกล้เคียงกันนี้ตลอดเวลา
ซึ่งก็สะท้อนโมเดลธุรกิจของ ซุปเปอร์ชีป ว่าตั้งใจขายถูกมาก เอากำไรเฉลี่ยต่อชิ้นบาง ๆ
แต่เน้นทำปริมาณการขาย (Volume) ให้มาก ๆ
ซึ่งจะขายถูกมาก ๆ ได้ เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งคือ บริษัทต้องมีอำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์ที่ขายสินค้าให้
อย่างกรณีของซุปเปอร์ชีป บริษัทมีหน้าร้านมากกว่า 100 สาขา
หมายความว่าซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหรือซัปพลายเออร์แต่ละราย แต่ละที ก็จะซื้อทีละมาก ๆ กลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่
ซึ่งพอเป็นผู้ซื้อรายใหญ่แบบนี้ ซุปเปอร์ชีปก็น่าจะต่อรองราคาต้นทุนให้ต่ำลงได้มากระดับหนึ่ง แล้วมาขายต่อในราคาถูกมากได้
ซึ่งจากตัวเลขที่เราเห็น ก็สรุปเป็นภาษาง่าย ๆ ได้ว่า โมเดลธุรกิจของซุปเปอร์ชีป คือขายสินค้า 100 บาท เอากำไรแค่ 0.5 - 0.6 บาท เท่านั้นเอง
 
References
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-เฟซบุ๊กเพจ บริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด
1
โฆษณา