6 ส.ค. 2023 เวลา 06:27 • ธุรกิจ

เมื่อแจ็ก หม่าทำเกษตรอัจฉริยะ

ช่วงหลายปีก่อน เราอาจได้ยินข่าวการลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงหมูอัจฉริยะของแจ็กหม่า (Jack Ma) มาแล้วบ้าง
4
แต่ใยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวใหญ่ที่สร้างความสนใจทั้งในจีนและต่างประเทศ เมื่อแจ็ก หม่าประกาศลงทุนในธุรกิจเกษตรอัจฉริยะระลอกใหม่
นับแต่ปี 2019 แจ็ก หม่าให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจเกษตรอย่างจริงจัง โดยจัดตั้ง Digital Agriculture Business Unit ใหม่ขึ้นใน Alibaba Group
โดยในครั้งนั้น เขาตั้งใจออกแบบให้หน่วยธุรกิจนี้ดำเนินการตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า ไล่ตั้งแต่การวิจัย การผลิต การขายส่งและปลีก ลอจิสติกส์ และบริการหลังการขาย
แต่ด้วยวิกฤติโควิด-19 ในช่วงหลายปีหลัง ทำให้การเตรียมงานไม่สะดวกและใช้เวลามากขึ้น แต่เขาก็ไม่ได้ปล่อยให้เวลาสูญเปล่า
เราเห็นแจ็ก หม่า เดินทางเข้าออกญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และไทยมาอย่างต่อเนื่อง
แจ็ก หม่าใช้โอกาสดังกล่าวในการกระชับความสัมพันธ์และเรียนรู้จากศูนย์วิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการประมงและเกษตรของมหาวิทยาลัยและองค์กรชัั้นนำในประเทศที่เกี่ยวข้อง
อาทิ Marine Aquaculture University และ University of Tokyo ในญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยหลังนี่เป็นสถาบันการศึกษาที่แจ็ก หม่ารับเป็นวิทยากรพิเศษอยู่
รวมทั้ง Wageningen University มหาวิทยาลัยของรัฐที่เนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2023 แจ็ก หม่าก็ยังเดินทางมากระชับความสัมพันธ์และดูงานด้านการเกษตรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2023 ก็เป็นวัน “ดีเดย์” ที่แจ็ก หม่าเปิดตัวสตาร์ตอัพด้านประมงภายใต้ชื่อ “1.8 Meters Marine Tech (Zhejiang) Co” ที่นครหังโจว บ้านเกิดของเขา ด้วยทุนจดทะเบียนถึง 110 ล้านหยวน
ทั้งนี้ โดยมีการร่วมทุนกับพันธมิตรหลายราย
และหนึ่งใน “เพื่อนเก่า” ที่ร่วมก่อตั้ง Alibaba Group ก็ได้แก่ ไซมอน หู (Simon Hu) อดีตซีอีโอของ Ant Group ธุรกิจด้านการเงินใหญ่ที่ถูกแขวนไม่ให้ลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงก่อนหน้านี้
กระแสข่าวระบุว่า ไซมอน หู ซึ่งจบการศึกษาจาก Zhejiang University มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 5.5% ของกิจการใหม่
อีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือ สตาร์ตอัพดังกล่าวจะมีโมเดลและรูปแบบการดำเนินธุรกิจอะไรที่น่าสนใจบ้าง
เท่าที่สอบถามกับคนในวงการก็พบว่า ความอัจฉริยะของกิจการใหม่อยู่บนพื้นฐานของการทำธุรกิจเกษตรและพลังงานสีเขียวที่กำกับควบคุมด้วยระบบดิจิตัลที่ล้ำสมัย
ยกตัวอย่างเช่น การทำประมงในบริเวณชายฝั่งทะเลควบคู่ไปกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์
และการเพาะปลูกพืขผักพร้อมกับการผลิตกระแสไฟฟ้่าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนทะเลทรายโกบี (Gobe Desert) ที่กว้างใหญ่
โมเดลดังกล่าวใช้แรงงานคนจำกัด เปลี่ยนงานหนักของเกษตรกรให้เป็นหน้าที่ของเทคโนโลยีด้านการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากผลผลิตด้านการเกษตรที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง
ควบคู่ไปกับพลังงานสีเขียวที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น ทำให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ
แนวทางดังกล่าวยังเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ธุรกันดารที่ “ไร้ประโยชน์” และเป็น “ภาระ” ให้เป็นพื้นที่ “สร้างประโยชน์” ที่สามารถผลิต “อาหารและพลังงาน”
ซึ่งช่วยลดปัญหาวิกฤติอาหาร และเพิ่มระดับการผลิตพลังงานสีเขียว และดูแลสิ่งแวดล้อมได้พร้อมกัน
นี่อาจเป็นการจับกระแสธุรกิจครั้งใหญ่ของแจ็ก หม่าอีกครั้งที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานสีเขียว และการพัฒนาอย่างยั่งยืน …
#แจ็ก หม่า #Alibaba #เกษตรอัจฉริยะ
โฆษณา