7 ส.ค. 2023 เวลา 00:08 • ความคิดเห็น

พัฒนาโปรแกรมเพื่อทำงานเร็วขึ้น ลิขสิทธิ์เป็นของนายจ้างหรือไม่ ?

มีคนถามไว้ในกลุ่ม fb
"ขอปรึกษาพี่ๆเพื่อนๆในกลุ่มหน่อยครับ ว่าผมทำแบบนี้ผิดกฏหมายใดๆหรือไม่
คือผมทำงานบริษัทแห่งนึง(ไม่เกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์) ซึ่งผมได้พัฒนาโปรแกรมขึ้นมา เพื่อช่วยในการทำงาน ลดงานต่างๆ
และผมได้แบ่งให้เพื่อนร่วมงานใช้ และหัวหน้าก็รู้เห็นในการกระทำของผมทั้งหมด รวมถึงเห็นดีเห็นงามด้วย แต่แล้ววันนึง ผมลาออก
ผมสามารถลบโปรแกรมนี้ทิ้ง ไม่ต้องการให้ใครใช้แล้ว ถือว่าผมมีความผิดไหม และทรัพย์สินอันนี้ทางบริษัทจะมองว่าเป็นทรัพย์สินของทางบริษัทหรือไม่ครับ
ขอความรู้จากเพื่อนๆด้วยครับ"
การตอบคำถามนี้ต้องพิจาณากฎหมายที่ใช้ทั้งจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเคยมีการวินิจฉัยแล้วในศาลฎีกา จึงนำมาเทียบเคียงให้เห็น ดังนี้
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2544 ตอนหนึ่งว่า
 
"โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537... "
"...แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย และโจทก์สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 9 ..."
บัญญัติว่า "งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น..."
"...ซึ่งเป็นการยืนยันอยู่ว่างานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้นยังเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เว้นแต่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ให้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย..."
"...ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท นอกจากนี้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาและจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งยังรับฟังได้ต่อไปว่า ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ในกิจการของจำเลย โดยปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้คิดค่าตอบแทนในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้จากจำเลย..."
"... ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์เอื้อเฟื้อให้จำเลยใช้ประโยชน์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวเนื่องจากโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยแต่ต่อมาเมื่อโจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อไป โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิทวงถามให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแก่โจทก์ได้ แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ และยังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ต่อไปอันมีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย "
ดังนั้น จึงสรุปว่า การที่เราเขียนโปรแกรมทำงานให้รวดเร็วขึ้นหรือเพื่ออะไรก็ตาม (เป็นหรือไม่เป็นหน้าที่โปรแกรมเมอร์) แม้ใช้ทรัพยากรของบริษัท หากไม่มีข้อตกลงไว้กับนายจ้างเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์เป็นของเรานะครับ และสามารถลบโปรแกรมนั้นได้เมื่อลาออก โดยไม่ผิดกฎหมาย
ในทางตรงข้าม เรากลับมีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนในการเขียนโปรแกรมนั้นอีกด้วย เพราะเราทำให้บริษัทได้ประโยชน์
ฝากถึงเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารทั้งหลายนะครับ หากต้องการให้โปรแกรมที่ลูกจ้างเขียนไว้ใช้งานได้ต่อไปแม้ลูกจ้างลาออกแล้ว กรุณาเขียนสัญญาจ้างให้ครอบคลุมว่า โปรแกรมใดๆที่เขียนในงานที่จ้างเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทนะครับ ไม่งั้นบริษัทอาจวุ่นวายได้หากโปรแกรมเมอร์หรือคนสร้างโปรแกรมลาออก
แต่สำหรับหน่วยงานราชการนั้น กฎหมายเขียนไว้ต่างกัน คือ ลิขสิทธิ์เป็นของราชการ ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ม.14 จึงไม่ต้องเขียนสัญญาจ้างตามที่แนะนำข้างบน
"มาตรา 14 กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร"
tab: #โปรแกรมเมอร์ลาออก #โปรแกรมเป็นลิขสิทธิ์ของใคร
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 8, 9
ภาพปกจาก : https://unsplash.com/photos/4Hg8LH9Hoxc
โฆษณา