7 ส.ค. 2023 เวลา 13:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Barbie │ 7/10

วันแรกๆ ที่ตุ๊กตาบาร์บีถือกำเนิดในโลก ก็ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ข้อหาขโมยบุคลิกภาพของคนอื่น!
เรื่องเริ่มต้นในวันหนึ่งเมื่อปี 1952 หนังสือพิมพ์ Bild ของเยอรมนีพบปัญหาหน้ากระดาษ มีพื้นที่ว่างอยู่จุดหนึ่ง ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน เพราะพื้นที่นั้นเล็กเกินจะลงบทความ แต่ก็ใหญ่เกินปล่อยว่างไว้ จึงแก้ปัญหาโดยให้นักวาดการ์ตูนวาดอะไรสักอย่างลงไป ผลที่ได้คือการ์ตูนผู้หญิงผมบลอนด์ชื่อ Lilli เธอพูดว่า "Can't you give me the name and address of this tall, handsome, rich man?"
ปรากฏว่าคนอ่านชอบมาก Lilli กลายเป็นการ์ตูนประจำหนังสือพิมพ์ ไม่นานก็กลายเป็นตุ๊กตา Lilli
วันหนึ่งนักธุรกิจชาวอเมริกันชื่อ Ruth Handler ไปเที่ยวยุโรป เห็นตุ๊กตา Lilli ในร้าน ก็ขโมยไอเดีย ผลิตตุ๊กตาออกมาขายโดยบริษัท Mattel ของเธอ ใช้ชื่อ บาร์บี ตามชื่อลูกสาว ทำเงินมหาศาล
บริษัทตุ๊กตาเยอรมันผู้ผลิต Lilli ก็ฟ้องร้องที่สินค้าตนถูกลอกเลียนแบบ คดีตกลงกันได้นอกศาล เมื่อ Mattel ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์
ในเวลาต่อมา Ruth Handler ก็ถูกบีบให้ลาออกจากบริษัท เพราะพัวพันกับคดีฉ้อฉลทางภาษี
โลกแห่งความจริงไม่ค่อยสวยงามเหมือนโลกตุ๊กตา
(ต่อไปนี้มีสปอยเลอร์)
หนังเรื่อง Barbie เป็นแฟนตาซีแบบ magical realism (ตัวอย่าง เช่น หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว) หากชำแหละโครงสร้างเรื่อง มันก็คือ The Matrix + Ex Machina ฉบับแฟนตาซี เปลี่ยนสีเขียวในโลกของนีโอเป็นโลกสีชมพูของบาร์บี เปลี่ยนโลก virtual ที่คนกระโดดข้ามตึกได้ เป็นโลกตุ๊กตาที่คนลอยลงมาจากยอดตึก มี 'มอร์เฟียส' ชี้ทางสู่โลกของความจริง มี 'เอเยนต์สมิธ' ตามล่า
Barbie เปิดเรื่องโดยยืมฉากแรกของภาพยนตร์ 2001: A Space Odyssey ของ สแตนลีย์ คูบริก ใน 2001 สิ่งทรงภูมิปัญญาเปลี่ยนมนุษย์วานรให้ฉลาดขึ้น โดยแท่งหินสีดำ ฉากต่อมาลิงก็ฆ่ากัน ใช้กระดูกทุบทำลาย
ฉากแรกใน Barbie เปลี่ยนมนุษย์วานรเป็นเด็กหญิง เปลี่ยนแท่งหินสีดำเป็นตุ๊กตาบาร์บีขนาดยักษ์ แล้วบรรดาเด็กหญิงก็ทำลายตุ๊กตาเดิมๆ ที่มีอยู่
ดังนั้นโดยไอเดีย ไม่ถือว่าใหม่ สิ่งที่จะทำให้หนังใหม่สดได้คือสาระของเรื่องเท่านั้น
ตุ๊กตาเป็นสัญลักษณ์ที่ดีในการแต่งเรื่อง ทำไมคนเราจึงเล่นตุ๊กตา? น่าจะเพราะมันเป็นตัวกลางที่เชื่อมความฝันในหัวกับโลกความจริงที่อาจไม่สวยงามเท่าความฝัน ทว่าตุ๊กตาเป็นเพียงเครื่องมือที่สมองว่างเปล่า รอเราบรรจุความหมายลงไป ตุ๊กตาเป็นเสมือนกระดาษเปล่าสำหรับนักเขียน สมุดโน้ตว่างเปล่าสำหรับนักดนตรี บาร์บีจึงเป็นตัวแทนของเราที่สามารถเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่หมอ นักบินอวกาศ ประธานาธิบดี ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล
ตัวละคร 'บาร์บี' อาศัยอยู่ในโลกตุ๊กตาชื่อ Barbie Land มันเป็นโลก Matriarchy คือหญิงเป็นใหญ่ ผู้หญิงรับตำแหน่งสำคัญๆ ในสังคม ผู้ชายในโลกนี้ (เคน) เป็นส่วนประกอบ
วันหนึ่งบาร์บีพบว่าตนเองเปลี่ยนไป (คล้ายกับที่นีโอสัมผัสรู้ว่าโลกที่เขาอยู่ผิดปกติ) จึงไปขอคำแนะนำจากตัวละคร 'Weird Barbie' ผู้บอกให้เธอเดินทางไปสู่โลกแห่งความจริง (คล้ายกับที่มอร์เฟียสชี้ทางนีโอไปสู่โลกแห่งความจริง)
บาร์บีกับเคนเดินทางสู่โลกแห่งความจริง โดยมีคนจากบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี ตามล่า (คล้ายกับนีโอถูกเอเยนต์สมิธตามล่า) เพื่อจับบาร์บีใส่กล่องตามเดิม
2
การเดินทางสู่โลกแห่งความจริง ทำให้เคนพบว่าโลกแห่งความจริงมีผู้ชายเป็นใหญ่ เคนต้องการเปลี่ยนโลก Barbie Land ให้เป็นโลกชายเป็นใหญ่คือ Kendom เขาจึงกลับบ้านไปทำรัฐประหารยึดอำนาจจากผู้หญิง แก้ไขรัฐธรรมนูญ
1
บาร์บีก็กลับไปยึดอำนาจคืน เปลี่ยนมันให้เป็นโลกของผู้หญิงตามเดิม
1
ดูจากคอนเส็ปต์ของเรื่อง ก็น่าสนใจ น่าจะสนุก ทำให้ลุ่มลึกได้ และชาวโลกก็ดูพอใจกับหนังเรื่องนี้มาก
แต่รสนิยมของผมมักสวนทางชาวบ้าน คล้ายกับตอนดูเรื่อง คังคุไบ ที่ตื่นเต้นไปทั้งเมือง Barbie ไม่ใช่หนังเลวร้าย แม้คอนเส็ปต์ไม่ใหม่ แต่ก็น่าสนใจและมีศักยภาพเป็นหนังดีได้ เพียงแต่ใน คหสต. มันมีปัญหาในการเล่าเรื่อง
การออกแบบพล็อต องค์ประกอบ และตัวละครที่ไม่มีความจำเป็น ทำให้เกิดคำถามตลอดเวลา 114 นาทีของหนัง
ทำไมต้องยัดบาร์บีใส่กล่องอีกครั้ง ในเมื่อบาร์บีไม่ได้มาทำลายบริษัท หรือคิดจะเปลี่ยนโลกจริง? ทำไมต้องสร้างตัวละครซีอีโอของ Mattel ที่ดูปัญญาอ่อน และผู้บริหารผู้ชายทั้งบอร์ดเหมือนคนสมองกลวง? เพราะนี่เป็นหนังโปรโมต Feminism จึงต้องแสดงภาพโง่ๆ ของผู้ชาย?
ทำไมผู้บริหารต้องยกขบวนตามไปที่ Barbie Land? ทำไมต้องใส่ตัวละคร 'ผู้สร้าง' Ruth Handler ที่ขโมยงานและมีคดีฉ้อฉล และเป็นคนสอนบาร์บี? ทำไมการยึดอำนาจคืนมาจากพวกผู้ชายไม่ได้ใช้สมองอย่าง 'เฟมินิสต์' ที่ฉลาด หากแต่ใช้จริตหญิง? ทำไมบาร์บีต้องการเป็นคนจริงๆ หลังจากเห็นความเหลื่อมล้ำในโลกจริง? ฯลฯ
ปัญหาของการเล่าเรื่องข้อที่สองก็เป็นปัญหาเดียวกับที่นักเขียนจำนวนมากประสบ - show vs. tell
หลักสำคัญของงานเขียนที่ดีคือ Show, don't tell.
ตอนนี้โลกกำลังตื่นตากับปรากฏการณ์ Barbenheimer เราจะพบว่าหนังสองเรื่องนี้มีวิธีนำเสนอคนละขั้วกัน Oppenheimer ยึดหลัก Show, don't tell. อย่างเคร่งครัด ส่วน Barbie ไปทาง Tell, no show. โดยเสนอเนื้อหาผ่านการเล็กเชอร์ตรงๆ ยกตัวอย่าง เช่น ในกลางเรื่อง สาระหลักของเรื่องถูกพูดผ่านตัวละคร 'แม่' ในบทเล็กเชอร์ยาวเหยียด
"Literally impossible to be a woman. We have to always be extraordinary, but somehow we’re always doing it wrong. You have to be thin, but not too thin. And you can never say you want to be thin. You have to have money, but you can’t ask for money because that’s crass. You have to be a boss, but you can’t be mean. You’re supposed to love being a mother, but don’t talk about your kids all the damn time.
You have to be a career woman, but also always be looking out for other people. You have to answer for men’s bad behavior, which is insane, but if you point that out, you’re accused of complaining."
ข้อความทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรที่บอกว่าเป็นการลิดรอนสตรี ความอยากผอมหรืออยากรวยเป็นแค่ค่านิยมของสังคม ผู้หญิงยังมีสิทธิ์ที่เลือกได้ เช่น สามารถเลือกที่จะไม่ผอมก็ได้ ฯลฯ มันจึงกลายเป็นการบ่นไป มองในมุมกลับกัน ผู้ชายก็มีเรื่องที่อยากเล็กเชอร์ (บ่น) เช่นกัน เช่น "ผมต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว ผมต้องแข็งแกร่ง ผมต้องเป็นผู้นำครอบครัว ต้องหาเงินมากพอ ต้องหาบ้าน ต้องหารถ..." (และอาจรวมประโยค "ผมต้องซักผ้า")
1
Feminism เป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นมาเพราะโลกของเรามีชายเป็นใหญ่มานานตั้งแต่วันแรกของประวัติศาสตร์ Feminism ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันของชายหญิง เพิ่มบทบาทให้สตรี แต่ไม่ได้ต้องการหญิงเป็นใหญ่เหนือชายอย่างที่แสดงในเรื่อง Barbie ซึ่งไม่อนุญาตให้มี Kendom หรือสังคมเท่าเทียมกันจริงๆ อย่าง BarbieKen Land ทำให้ย้อนแย้งกับประโยค "Thanks to Barbie all the problems of feminism and equal rights have been solved.”
แต่ดูภาพรวมทั้งพล็อตและการนำเสนอทั้งเรื่องแล้ว มันไม่ใช่การกดขี่ที่ Feminism ต่อต้านจริงๆ เช่น ผู้หญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายในตำแหน่งเดียวกัน ผู้หญิงถูกห้ามเลือกตั้ง (ในสหรัฐฯ ผู้หญิงเพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งในปี 1920) ผู้หญิงถูกห้ามเรียนหนังสือ (ในบางสังคมตอนนี้)
นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมรู้สึกว่า Barbie เป็นงานเสียของ
หากให้สรุปคุณภาพหนังเรื่องนี้ในบรรทัดเดียวก็คือ "ศักยภาพสูง แต่ไปไม่ถึง"
ในมุมมองของคนทำงานเขียนหนังสือ ผมเห็นว่าประเด็นคนเราจะพ้นจากสภาพสมองกลวง (แบบตุ๊กตา) ได้อย่างไร อาจน่าสนใจมากกว่าประเด็น Feminism ที่ดูเหมือนหนังเรื่องนี้จำลองออกมาผิดจากเจตนาของมัน
การแย่งอำนาจของฝ่าย Barbie Land และ Kendom ในโลกตุ๊กตา ทำให้อดนึกถึงโลกการเมืองในบ้านเราตอนนี้ไม่ได้ เราเล่นการเมืองเหมือนเล่นตุ๊กตา เราแบ่งแยกพรรคแยกค่ายออกจากกันโดยสิ้นเชิง (เพราะมันเป็นจุดขาย) แต่ละค่ายต้องเป็นศัตรูกัน (เพราะมันเป็นจุดขาย) เราเทศน์เรื่องความเท่าเทียม แต่เราขอเป็นใหญ่แค่ฝ่ายเดียว เราเทศน์เรื่องประชาธิปไตย แต่ประชาชนต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่าย 'Barbie Land' หรือ 'Kendom' ราวกับว่าประชาชนเป็นตุ๊กตาสมองกลวง รอเจ้าของค่ายตุ๊กตาใส่ 'ความหมาย' เข้าไปให้เรา
The Matrix 10/10, Ex Machina 10/10, Oppenheimer 10/10, Barbie 7/10
วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
โฆษณา