7 ส.ค. 2023 เวลา 15:26 • การศึกษา

เสียภาษีเท่าไรเมื่อออกจากงาน

ภาษีเมื่อออกจากงาน ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้าง ลาออกเอง หรือเกษียณอายุ นอกจากเงินเดือนที่ต้องเสียภาษีแล้ว ยังมีเงินก้อนไหนที่ต้องเสียภาษีอีก และมีวิธีคำนวณยังไง ถ้าใครยังสับสนอยู่ อ่านต่อเลยค่ะ
ในโพสต์นี้อุ้ยขอพูดถึงกรณีของพนักงานประจำ ที่มีรายได้จากเงินเดือนและโบนัส (เงินได้ประเภทที่ 1) ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วนะคะ ว่าต้องยื่น ภ.ง.ด.91 ช่วงมกราคม ถึงมีนาคม ของปีถัดจากปีภาษีที่มีเงินได้
เมื่อออกจากงาน ก็อาจมีเงินก้อนอื่นที่ได้รับจากนายจ้าง ดังนี้
A : #เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
เป็นที่ได้เมื่อถูกเลิกจ้าง หมดสัญญาจ้าง หรือเกษียณ จะได้จำนวนเท่าไรนั้น ขึ้นกับอายุงานและเงินเดือนล่าสุด ถ้าอายุงานไม่ถึง 120 วันก็ไม่มีสิทธิได้รับ
อายุงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้เงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน
อายุงาน 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้เงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 90 วัน
อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้เงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 180 วัน
อายุงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้เงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 240 วัน
อายุงาน 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี ได้เงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 300 วัน
อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้เงินชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 400 วัน
📌 ถ้าได้รับเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง ค่าชดเชยที่ได้รับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกินจากนั้นต้องเสียภาษี และกรณีทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิแยกคำนวณภาษี ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ประจำปี
B : #เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
เงินในกองทุนนี้จะมี 4 ส่วน นั่นคือ 1.เงินสะสม 2.ผลประโยชน์ของเงินสะสม 3.เงินสมทบ 4.ผลประโยชน์ของเงินสมทบ โดยเงินสะสมซึ่งเป็นเงินของเราเอง ไม่ว่าจะออกจากงานก่อนหรือหลังเกษียณ ก็ไม่ต้องนำไปคิดภาษีอีก
📌📌 โดยปกติแล้ว ถ้ามีอายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้ง 4 ส่วน แต่ถ้าไม่ครบเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องนำเงิน 3 ส่วนหลังไปรวมคำนวณภาษี
อย่างไรก็ตามถ้าอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกแยกคำนวณภาษีได้​โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ประจำปี (หักค่าใช้จ่ายได้เท่ากับ 7,000 คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน หักแล้วเหลือเท่าไร ให้หักค่าใช้จ่ายอีก 50% ของยอดคงเหลือนั้น แล้วนำไปคำนวณภาษี ไม่ได้รับยกเว้นส่วนของ 150,000 บาทแรก) หรือจะเลือกคงเงินไว้ในกองทุนเดิม เพื่อรอย้ายไปยัง PVD ของที่ทำงานใหม่ หรือโอนย้ายไปยัง RMF for PVD เพื่อนับอายุการลงทุนต่อให้ครบเงื่อนไข ก็ได้รับยกเว้นภาษีเช่นกัน
C : #เงินได้เพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแบบอื่นๆ
อาจจะเป็นเงินตอบแทนพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ของนายจ้าง การคำนวณค่าใช้จ่ายจะซับซ้อนขึ้น ต้องเปรียบเทียบเงินเดือน เดือนสุดท้าย และ เงินเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงาน บวกด้วยร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น จึงขอยังไม่กล่าวถึงนะคะ และจริงๆไม่ต้องคำนวณเองก็ได้ เพียงแค่เรากรอกข้อมูลในเวปสรรพากร ก็จะคำนวณให้เราเองค่ะ
[ ตัวอย่างแบบง่าย ] หากคุณบอย ทำงานมาแล้ว 6 ปี ต้องการลาออกจากงานมาทำธุรกิจส่วนตัว ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 600,000 บาท เป็นเงินส่วนที่สะสม 200,000 บาท ส่วนที่เป็นเงินสมทบและเงินผลประโยชน์ 400,000 บาท ดังนั้น ต้องนำเงิน ( 400,000 -(7,000 x 6) ) x 50% = 179,000 บาท ไปคำนวณภาษี ดังนั้น ภาษีที่ต้องเสีย เท่ากับ 8,950 บาท
อย่างที่บอกไปค่ะ เพียงแค่เรากรอกข้อมูลไปในเวปสรรพากรตอนยื่นภาษี ระบบก็จะคำนวณให้เรา หรือหากมีข้อสงสัย สามารถถามกับฝ่าย HR ของบริษัทตอนรับเอกสารก็ได้ หวังว่าโพสต์นี้น่าจะเป็นประโยชน์บ้างน้า 🙂
#ด้วยรัก ❤️🤟
แม่อุ้ย #KanyaweeCFP
#การเงินฉบับคุณแม่ต้องรู้ #FinanceForMom
#นักวางแผนการเงินCFP #CFP #ภาษี #วางแผนภาษี #วางแผนการเงิน
โฆษณา