10 ส.ค. 2023 เวลา 06:25 • การศึกษา

🆕️โนตารี (Notary) คืออะไร ทำไมแต่ละที่เรียกไม่เหมือนกัน🆕️

ผมขออนุญาตเกริ่นก่อนนะครับ เนื่องจากคำว่า "โนตารี (Notary)" ผมได้ยินมานานแล้ว แต่ก่อนที่ผมจะเข้ารับการอบรม ผมเคยไปเสิร์ชเกี่ยวกับ โนตารี ก็พบว่าจะมีอยู่สองคำที่ทนายความในประเทศไทยใช้กัน คือ 1.Notary Public และ 2.Notarial Services Attorney หรือ NSA
⁉️ทำให้ผมเข้าใจว่าสองคำนี้มันเหมือนกัน เพราะบางที่ก็ใช้คำนึง อีกที่ก็ใช้อีกคำนึง ผมจึงเข้าใจว่าสองคำนี้มันเหมือนกันโดยสมบูรณ์ สามารถเลือกใช้คำไหนก็ได้ แต่ถ้าเห็นเยอะๆก็คงเป็นคำว่า "Notary Public" ครับ
🙋แต่เมื่อผมได้เข้ารับการอบรมแล้ว ท่านอาจารย์ก็ได้บรรยายถึงความแตกต่าง ของทั้งสองคำดังกล่าว ให้ผมได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงครับ ผมจึงอยากอธิบายให้คนที่กำลังสับสนเหมือนผมก่อนหน้านี้ ให้ได้เข้าใจความหมาย และความแตกต่าง เพื่อที่จะได้ไม่สับสน และสามารถบรรลุวัตุประสงค์ของสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำ จะได้ไม่เกิดความเสียหายในอนาคตครับ
💡ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โนตารี (Notary) คืออะไร และทำไปเพื่ออะไร
โนตารี (Notary) เกิดขึ้นมาจากการที่โลกของเราในปัจจุบันมีการค้าขาย และการติดต่อ กันระหว่างประเทศมากขึ้นจนเป็นปกติธรรมดา แต่ต่างประเทศจะเชื่อถือในเอกสารหรือบุคคลที่อยู่คนละประเทศกันได้อย่างไร จะมีอะไรที่สามารถมารับรองความมีอยู่จริง หรือความน่าเชื่อถือของเอกสารหรือบุคคลนั้นได้
ด้วยเหตุนี้เองจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ที่มีความรู้ ความน่าเชื่อถือ และผู้ที่บุคคลทั่วไปยอมรับนับถือในความซื่อตรงต่อหน้าที่ ซึ่งบุคคลดังกล่าวที่ต่างประเทศรวมทั้งในประเทศไทยยอมรับก็คือ "ทนายความ" หรืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐถ้าหากประเทศนั้นมีกฎหมายรองรับ หรืออาจจะไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
แต่เป็นผู้ที่ได้รับการรับรองจากกฎหรือระเบียบของประเทศนั้นๆแล้ว เป็นผู้ทำการรับรองถึงความ มีอยู่และความถูกต้องของเอกสาร จะได้นำเอกสารที่ได้รับการรับรองแล้ว ไปใช้ในอีกประเทศหนึ่ง เพื่อให้ประเทศปลายทางผู้รับเอกสารเกิดความมั่นใจในทั้งตัวเอกสาร หรือตัวบุคคลนั้น
📍สรุปได้ว่า โนตารี (Notary) จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อเราต้องนำเอกสารไปใช้ในต่างประเทศ และบุคคลที่รับรองเอกสารได้จะต้องเป็นผู้มีวิชาชีพที่ทั่วโลกเชื่อถือ และให้การยอมรับ เพื่อให้ประเทศปลายทางเกิดความมั่นใจในตัวเอกสาร และต่อบุคคลที่อยู่คนละประเทศ
เมื่อพอเข้าใจ concept ของโนตารี (Notary) แล้ว ต่อมาเรามาไขข้อสงสัยกันครับว่า ทำไมเราถึงเห็นคนพูดถึงไม่เหมือนกัน คือ 1.Notary Public และ 2.Notarial Services Attorney (NSA)
เนื่องจากแต่ละประเทศก็จะเรียก โนตารี (Notary) หรือผู้ทำหน้าที่รับรองลายมือชื่อและเอกสาร ต่างกันออกไป
1.Notary Public ทั่วโลกในประเทศที่ผู้ทำหน้าที่รับรองลายมือชื่อและเอกสาร เป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" ส่วนมากมักจะใช้คำเรียกว่า Notary Public เพราะคำว่า "Public" หมายความถึงความเป็น "มหาชน" ของรัฐ ก็จะทำให้เอกสารที่รับรองโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็น "เอกสารมหาชน"
2.Notarial Services Attorney (NSA) หรือภาษาไทยเรียกว่า "ทนายความผู้ทำคำรับรอง" ซึ่งคำว่า "Attorney" ก็หมายถึง "ทนายความ" เท่ากับว่า ผู้ที่ทำการรับรองนั้นเป็นทนายความ ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เอกสารที่ได้รับการรับรองในฐานะ NSA นี้ ไม่ใช่เอกสารมหาชน ซึ่งการรับรองเอกสาร หรือโนตารี ในประเทศไทย จะเรียกว่า Notarial Services Attorney (NSA)
อันนี้แหละครับ สาเหตุก็เพราะว่า ประเทศไทยยังไม่มี พรบ.Notary Public มีเพียงแต่ Notarial Services Attorney (NSA) ทำให้ทนายความในประเทศไทยรับรองได้แต่ในฐานะ NSA ไม่สามารถรับรองในฐานะ Notary Public ได้นั่นเองครับ
📌สรุป📌
โนตารี(Notary) ในแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน โดยประเทศที่ถ้าหากผู้รับรองเอกสารเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และมีกฎหมายเกี่ยวกับ โนตารี(Notary) รองรับ ส่วนมาจะใช้คำว่า Notary Public
ส่วนประเทศอื่นที่ผู้รับรองเอกสารไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ โนตารี(Notary) จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป บ้างก็เรียกว่า Notary เฉยๆ หรืออย่างประเทศไทยก็เรียกว่า Notarial Services Attorney (NSA) นั่นเองครับ
เพราะฉะนั้นเราควรรู้ก่อนว่าประเทศปลายทาง หรือคนที่ต้องการรับรองโนตารี ต้องการรับรองแบบไหน และคนที่รับรองสามารถรับรองให้มีผลอย่างที่เขาต้องการได้หรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เข้าใจผิด เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุครับ
โฆษณา