13 ส.ค. 2023 เวลา 03:11 • การศึกษา

การถือศีล ๘ สำหรับผู้ครองเรือน

การถือศีล ๘ สำหรับผู้ครองเรือน ก็มีวิธีการถือแบบไม่กดดัน และยังช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีสุดชื่นรื่นรมย์ภายในครอบครัวด้วย
อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดของสามีภรรยาเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับกันในสากลโลก ดังนั้นแทนที่เราจะถือศีล ๘ รวดเดียว ๑ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง ซึ่งอาจจะทำให้เรามีความรู้สึกว่า ตึงเกินไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้ถือศีล ๘ เป็นช่วง ๆ คือ วันธรรมดาเราก็ถือศีล ๕ เป็นปกติ พอถึงวันพระ ซึ่งใน ๑ เดือนมี ๔ ครั้ง เราก็ถือศีล ๘ แต่ถ้ามีกุศลศรัทธามากกว่านั้นก็ถือวันโกนเพิ่มขึ้นอีก รวมเป็นเดือนละ ๘ ครั้ง
หรือถ้าหากมีกุศลศรัทธามากกว่านั้น ก็เพิ่มหลังวันพระอีก ๑ วัน คือ วันโกน วันพระ และวันส่ง รวม ๓ วัน เท่ากับว่าใน ๑ เดือน เราถือศีลอุโบสถ ๑๒ วัน
อย่างนี้สำหรับชีวิตของฆราวาสจะไม่ตึงจนเกินไป แล้วจะเป็นการฟื้นฟูวันโกน วันพระ ให้หวนคืนมาใหม่ด้วย ซึ่งตอนนี้ถูกหลงลืมกันไปแล้ว อย่างนี้หลวงพ่อว่าน่าจะพอดี
นอกจากนี้ เราจะถือศีล ๘ เพิ่มวันไหนอีก ก็แล้วแต่ใจเรา เช่น ถ้าเราเกิดวันพฤหัสก็ถือเพิ่มวันพฤหัส ถ้าภรรยาเกิดวันพุธ อาจจะเพิ่มวันพุธอีกวันก็แล้วแต่ นัดแนะกันไปเป็นช่วงๆ จนกว่าอินทรีย์เราจะแก่กล้า เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแล้วก็หมดความจำเป็นในชีวิตระดับนั้น และจะก้าวไปสู่ระดับที่ประณีตขึ้นไปเรื่อย ๆ
การครองเรือน ไม่ได้ห้ามมรรคผลนิพพาน ตัวอย่างมหาอุบาสิกาวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทุกวันพระท่านก็ชวนสมาชิกในบ้าน รวมถึงข้าทาสบริวารถือศีลอุโบสถ ในตำราบอกถึงขนาดว่า รวมทั้งเด็กทารกในบ้านด้วย
ดังนั้นถ้าเราจะถือศีลอุโบสถก็เอาพอดี ๆ จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า แล้วความผาสุกจะเกิดขึ้น ในชีวิตของครอบครัว ที่เป็นนักสร้างบารมี
โอวาทคุณครูไม่ใหญ่
๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
จากหนังสือ บางสิ่งที่แสวงหา เล่ม ๑ (หน้า ๑๕๐- ๑๕๑)
ภาพดีๆ ๐๗๒
โฆษณา