13 ส.ค. 2023 เวลา 11:00 • ครอบครัว & เด็ก

ลูกเสี่ยงเรื่องหนี้ลดลง เมื่อพ่อแม่สอนเรื่องการเงิน

แนวทางปลูกฝังเรื่องเงินให้ลูก ตาม 4 ช่วงอายุ
1
แม้ว่านิสัยในการใช้เงิน จะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมของพ่อแม่ เหมือนกับหน้าตาหรือสีผิว แต่เรื่องนี้ก็สามารถปลูกฝังกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาด้วยนิสัยทางการเงินที่ผิดๆ จนนำไปสู่วงจรหนี้
แล้วต้องทำอย่างไร? aomMONEY มีคำแนะนำดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญมาฝากกันครับ
จากข้อมูลผลสำรวจของ T. Rowe Price บริษัทจัดการลงทุนระดับโลก ที่มีประสบการณ์ดูแลลูกค้ามาอย่างยาวนาน พบว่าผู้ปกครองราว 36% รู้สึกไม่เต็มใจอย่างยิ่งที่จะพูดคุยเรื่องการเงินกับลูกๆ และอีก 26% บอกว่าพวกเขาค่อนข้างรู้สึกไม่เต็มใจนัก ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลต่อลูก ทำให้กลายเป็นคนที่ไม่รู้จักวางแผนการเงิน จนอาจนำไปสู่วงจรหนี้
และแน่นอนว่าพ่อแม่ที่เปิดใจ สอนลูกเรื่องการเงิน เด็กก็จะเติบโตมาพร้อมความรู้ทางการเงินที่ดี เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่ำในกับดักวงจรหนี้ และเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉินได้ดี รวมถึงรู้จักส่งต่อความมั่งคั่ง เผื่อแผ่เพื่อสังคมและการกุศลอีกด้วย
ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ควรปลูกฝังวินัยและทัศนคติที่ดีในการวางแผนการเงินให้กับลูกหลาน เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ และนี่ก็คือข้อแนะนำของนักวางแผนการเงิน Jamie Bosse ที่กล่าวไว้ใน CNBC เว็บไซต์ด้านการเงินระดับโลก เกี่ยวกับการสอนลูกเรื่องการเงิน แบ่งตาม 4 ช่วงอายุดังนี้
✅[อายุ 3-5 ปี]
#สอนให้รู้จักเงิน
ชวนคุยเกี่ยวกับรูปแบบเงินต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ธนบัตร เหรียญ บัตรเครดิต บัตรเดบิต ฯลฯ และสอนว่าสิ่งของทั่วไปต้องใช้เงินเพื่อแลกเปลี่ยน (ซื้อ) มาเช่น ขนม อาหาร ของเล่น แต่ก็ยังมีสิ่งมีค่าอีกมากมาย ที่ไม่ต้องใช้เงินแลกเปลี่ยน เช่น การวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ
#สอนให้รู้จักอาชีพต่างๆ
เมื่อเด็กเริ่มรู้จักเงินแล้ว ต่อมาก็สอนให้รู้จักที่มาของเงิน ซึ่งได้จากการทำงานนั่นเอง ลองพูดคุยเกี่ยวกับอาชีพของคุณ เหตุผลที่เลือกทำงานนี้ พร้อมทั้งแนะนำให้รู้จักอาชีพอื่นๆ ในสังคม
#สอนให้รู้จักอดทนรอคอย
สอนให้รู้ว่าแค่มีเงินก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องได้ทุกอย่าง บางครั้งเราต้องรู้จักอดทนรอคอยเพื่อซื้อสิ่งที่ต้องการ ลองบอกเด็กๆ ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่เพื่อซื้อของชิ้นนั้น และช่วยเขานับเงินอย่างใจเย็น ยิ่งเด็กเรียนรู้เรื่องนี้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อเขามากเท่านั้น
✅[อายุ 6-10 ปี]
#สอนให้รู้จักWant-Need
เด็กในวัยนี้เริ่มเรียนรู้ได้บ้างแล้ว ลองสอนให้รู้จักความแตกต่างระหว่างของที่อยากได้ (Want) เช่น ขนม ของเล่น กับของที่จำเป็น (Need) เช่น เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย
#สอนให้เริ่มวางแผนการเงิน
บอกให้รู้ว่า เงินคือสิ่งที่มีอยู่จำกัด ใช้แล้วหมดไป ดังนั้นต้องเลือกซื้อในสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด ลองให้เงินเขาเพื่อเลือกซื้อขนมประจำสัปดาห์ โดยให้เลือกว่าจะซื้อให้หมด หรือยืมเงินค่าขนมสัปดาห์ต่อไปเพื่อให้ซื้อได้มากขึ้น หรือจะเลือกซื้อขนมที่ราคาถูกลง
#สอนให้เปรียบเทียบราคา
อธิบายให้รู้ว่า สมัยนี้สามารถซื้อของได้หลายช่องทาง (หน้าร้านค้า, ออนไลน์, ซื้อมือสองจากบุคคลอื่นๆ ฯลฯ) แล้วสอนให้เปรียบเทียบราคา การใช้คูปองส่วนลด หรือรอซื้อในช่วงเวลาโปรโมชั่น
✅[อายุ 11-13 ปี]
#สอนให้เริ่มออมเงิน
ลองให้เขาตั้งเป้าหมายซื้อสิ่งของที่ต้องการ แล้วส่งเสริมวินัยการออม ด้วยการฝึกให้ออมเงินอย่างน้อย 10% ของค่าขนมที่ได้รับ เช่น ได้เงิน 100 บาท ออม 10 บาท, ได้เงิน 10 บาท ออม 1 บาท เมื่อได้ครบตามเป้าหมายก็นำไปซื้อของสิ่งนั้นเป็นรางวัล
#สอนให้รู้จักบัตรเครดิต
เด็กๆ อาจจะเห็นคุณใช้บัตรเครดิตตลอดเวลา แทนที่จะใช้เงินสดซื้อของ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องบอกให้รู้ว่า การใช้บัตรเครดิตก็เหมือนการกู้ยืมเงินล่วงหน้า แม้จะไม่ได้ควักเงินสดออกมา แต่เงินนี้ถูกใช้จ่ายออกไปจริงๆ
✅[อายุ 14-18 ปี]
#สอนวิธีใช้บัตรเครดิตไม่ให้เป็นหนี้
โดยทั่วไปแล้วในประเทศไทย คนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปก็มีบัตรเครดิต (บัตรเสริม) ได้แล้ว หากคุณทำบัตรเสริมให้ลูก ต้องสอนให้รู้ว่าควรจ่ายบิลให้เต็มจำนวน และตรงเวลาทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ถูกคิดดอกเบี้ย ไม่อย่างนั้นก็จะต้องจ่ายเงินสำหรับของชิ้นนั้นสูงกว่าต้นทุกจริง
#สอนให้ออมเงินสำรองฉุกเฉิน
เพราะเงินสำรองฉุกเฉิน คือเงินออมก้อนแรกที่ควรมี ลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน เช่น โทรศัพท์มือถือเสีย ตกงาน เจ็บป่วย ซึ่งถ้ามีเงินสำรองก็จะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
#สอนให้วางแผนภาษี
เมื่อลูกใกล้จบมหาวิทยาลัย หรือเริ่มทำงานเล็กๆ น้อยๆ มีรายได้เป็นของตัวเอง ลองสอนให้เขารู้จักกับระบบภาษีของประเทศ รวมถึงสิทธิ์ลดหย่อนต่างๆ
#สอนให้เริ่มลงทุน
การลงทุนยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะจะมีเวลาสำหรับดอกเบี้ยทบต้น ดังนั้นคุณสามารถสอนให้เด็กๆ ทำความเข้าใจกับการลงทุนขั้นพื้นฐาน และเริ่มลงทุนได้เลย มือใหม่อาจเริ่มจากกองทุนรวม เพราะมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยดูแลให้ จากนั้นก็ค่อยขยับขยายกันต่อไป
แต่ไม่ว่าจะสอนเด็กๆ อย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ตัวอย่างที่ดี” ดังนั้นผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องทำให้พวกเขาเห็นด้วยครับ
#aomMONEY #วางแผนการเงิน #ออมเงิน #ลงทุน #วางแผนเกษียณ #เงินเฟ้อ #สอนลูกเรื่องเงิน
โฆษณา