-ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ Kanye West เคลมไว้ใน The Breakfast Club เมื่อปี 2013 ไว้ว่า “ผมเนี่ยแหละคือผู้มาก่อนกาลตั้ง 10 ปี แค่ยังติดหล่มกับปัจจุบัน จำคำพูดผมไว้ดีๆ ในฐานะ Kanye West คุณไม่คิดเลยเหรอว่าผมจะไม่สามารถเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่แล้วส่งต่ออิทธิพลให้กับศิลปินหลายๆคนได้จริงๆ ?” 10 ปีผ่านไปเป๊ะๆแบบสมพรปาก เราได้เห็นทายาทอสูรขึ้นมาตนนึงอย่างชัดเจนที่สุดจากอัลบั้มนี้ของ Travis Scott เลยครับ
1
-รอบนี้ดูเหมือนว่าทราวิสแทบจะเจริญรอยตาม foot step ของคานเย่แทบทุกด้าน เริ่มจากกลยุทธ์โปรโมทเพลงต่างๆนาๆที่เล่นใหญ่ตามลูกพี่ ถึงขั้นแพลน world premier ไกลถึงพีระมิด แต่สุดท้ายก็ล่มเนื่องด้วยสภาพอากาศ ในด้านงานเพลงที่คัดเลือกศิลปินมาฟีทก็เน้นที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนั้นและนักวิจารณ์ชื่นชมมาสร้างสีสันในงานเพลง เหมือนที่พี่เย่ได้ทำตั้งแต่ช่วง The Life of Pablo ไปจนถึง DONDA แบบที่พยายามทำตัวไม่ตกขบวนกระแสหลักและรอง
-มวลรวมจึงเปรียบเหมือนความพยายามจะเป็น the next Kanye West ผู้มากบารมีและทำตัวเป็นศูนย์กลาง แต่ถ้าเปรียบด้านอีโก้ความสุดโต่งนั้น ทราวิสกลับมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ คงเป็นเพราะได้รับบทเรียนอย่างหนักจากเหตุโศกนาฎกรรม Astroworld ที่ไม่มีใครปล่อยผ่านได้
-เดี๋ยวจะหาว่าเน้นจับผิดจนเกินไป อย่างไรก็ดีครับ สูตรโปรดักชั่นกระหึ่มๆอันเป็นดีเอ็นเออันแข็งแรงที่ Ye และทราวิสต่างมีจุดร่วมเดียวกัน มันก็ทำให้คนฟังรู้สึก enjoy no matter what ได้เหมือนกัน ทักษะการปรับค่าความ hype ของทราวิสยังไม่จางหายหรือแห้งเหือดไปซะทีเดียว
-พิสูจน์กันได้ตั้งแต่แทร็คเปิดอัลบั้ม HYAENA ที่บ่งบอกภาพรวมอัลบั้มได้ดีที่สุด สมการกลับมาพร้อมสมญานามใหม่ที่บ่งบอกความเป็น “หมาป่าล่าเนื้อ” ที่พร้อมท้าชนได้ทุกเมื่อ ด้วยโปรดักชั่นแน่นๆของ Mike Dean และการแซมเปิ้ลเพลงของ Funkadelic และ Gentle Giant ที่เขย่าจนได้กลิ่นอายเริงระบำชาวเผ่าช่วยเร่งอะดรีนาลีนให้คนฟังได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
-MODERN JAM นี่ก็เป็นความ enjoy no matter what เช่นกัน ซึ่งก็ได้ Guy-Manuel de Homem-Christo อดีต Daft Punk มาช่วยโปรดิวซ์ (คนเดียวกับที่มีส่วนร่วมโปรดิวซ์ On Sight ใน Yeezus ที่เค้าแซวว่าเหมือนเนี่ยแหละ) ส่วนตัวผมคือคนที่จับผิดเรื่อง “ความเหมือน” ไม่เก่งเลยครับ ยกเว้น CIRCUS MAXIMUS ที่จังหวะ drum pattern เกิดเซนส์ความรู้สึก “เห้ย” แหล่มขึ้นมา
-ในขณะที่ MODERN JAM เป็นการหลบสูตรที่เนียนกว่า แลดูเป็นแกะดำที่สุดในงานชุดนี้ด้วยกลิ่นอาย Spanish เอามาตัดรสบีทดำทมิฬเกิดความรู้สึกแปลกใหม่ Teezo Touchdown ก็เฉิดฉาย สำเนียงของเขา fit-in ความฝรั่งเศสมากๆ
-การต่อยอดเพลงที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ใน DONDA แล้วเอามาผสมโรงใน Utopia ถือว่าเป็นไอเดียที่ดีอยู่ไม่น้อย อาทิเช่น THANK GOD และ GOD’S COUNTRY ที่คงตีม Christian Rap โดยเพลงแรกเป็นการสวดมนต์ภาวนาภายใต้ชีวิตอันแสนยุ่งเหยิงทั้งการรับมือกับคำวิจารณ์ และแรงกดดันที่ต้องขยับบาร์ให้สูงกว่านี้จากอัลบั้มก่อน ASTROWORLD ซึ่งตัวเองชวดรางวัลแกรมมี่ Best Rap Album ไปอย่างน่าเสียดายจนอยากจะแก้มือ
-ส่วน GOD’S COUNTRY เป็นการพยายามควบคุมตัวเองเพื่อปกป้องครอบครัวจากเหตุเภทภัย โดยเฉพาะเสียงลือเสียงเล่าอ้างทั้งหลาย ซึ่งต่อมาก็โยงกับเพลง SIRENS ที่อ้างอิงจากปีศาจในตำนานกรีกโบราณที่ใช้เสียงร้องสะกดจิตให้คนฟังจนกลายเป็นเหยื่อในที่สุด โดยท่อน Outro ได้โซโล่กีตาร์หวานๆจาก John Mayer ด้วย
-ไอ้คอนเทนท์พิเศษสร้างความเซอร์ไพรส์ก็มีให้เห็นในเพลง FEIN! เช่นกัน การโผล่มาของ Playboi Carti ด้วยน้ำเสียงแตกหนุ่ม เมากรึ่มๆพูดจาไม่รู้เรื่องยิ่งกว่าช่วงที่เป็น baby voice ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการปูทางคาแรคเตอร์ใหม่ที่จะได้เห็นในอัลบั้ม MUSIC ที่กำลังจะมาถึงหรือไม่? ที่แน่ๆต่อให้โคตรจะ mumble ขัดใจสาย old school ก็ตาม แต่หมอนี่เข้าใจครีเอทคาแรคเตอร์ให้ได้อัศเจรีย์เสมอ vibe เพลงโดยรวมเหมือนติดกลิ่นอายความ fuck the club up จากเพลง NO BYSTANDERS เลยฮะ เพียงแต่เพลงนี้ปรี๊ดกว่าตามสไตล์ Carti
-โมเมนต์การเปิดพื้นที่ให้ศิลปินโนเนมหรือยังไม่แมสมาร่วมแจมเหมือนที่เคยทำให้ Don Toliver ที่ตอนนั้นมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่เสียงเขาแหลมแป๋นมากๆในเพลง CAN’T SAY ถึงแม้ว่าพี่ดอนจะไม่ได้เป็นฟีทเจอร์หลัก แต่ทราวิสก็ยังทำหน้าที่เป็นป๋าดันที่ดีให้คนอื่นเช่นกัน TOPIA TWINS ที่ได้แร็ปเปอร์ท้องถิ่นย่านนิวออลีนส์ Rob49 มาซัดตั้งแต่ verse แรก ภายใต้บีทโครมครามของ Wheezy ส่วน 21 Savage ยังคงวางมาดน้ำเสียงที่นิ่งเรียบ ไม่กระโตกกระตาก แต่ก็ไหลไปตามความเดือดอย่างไม่เฉื่อยชา
-การเคลียร์พื้นที่ให้ Westside Gunn ในเพลง Lost Forever ด้วยบีทเคาะสุดกึกก้องที่ชวนนึกถึงเพลง Good Morning ของ Ye เหมือนกัน แต่เอามาปรับรสให้แก๊งส์เตอร์ขึ้นบวกกับท่วงทำนองร่ายที่เป็นลายเซ็นที่ชัดมากจาก James Blake แทร็คถัดมา LOOOVE ผมขอเรียกเพลงนี้ว่า “โมเมนต์แห่ง ice breaking” ก็แล้วกัน ท่วงทำนองชวนร่ายรำจาก Pharrell Williams และยังเชิญพี่ชาย Kid Cudi มาโยกย้ายเล็กๆน้อยๆไม่ได้ใส่ความตึงแบบเพลงที่ผ่านมา เป็นความคึกครื้นที่ให้ฟีล fan service พอสมควร
-ส่วน PARASAIL โหมดเพลงสั้นประจำอัลบั้มประหนึ่งห้องทดลองขนาดย่อมในการหยอกเย้าความเป็น psychedelic folk อันแสนดรายและเลื่อนลอย การได้ Yung Lean และ Dave Chappelle มาร่วมเปล่งวาจานั้นก็ชวนนึกถึงสไตล์เพลงสั้นของ Frank Ocean ในยุค Blond ไม่มีผิดเลย เป็นบทกลอน poem ที่แทรกมาเพื่อความแปลก และคอยให้กำลังใจตัวเองในฐานะที่ comedian ชื่อดังโดนทัวร์ลงในข่วงที่ผ่านมาเยอะเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้จักสำคัญต่ออัลบั้มมากขนาดนั้น
-ปิดท้ายด้วย TIL FURTHER NOTICE ที่ได้ James Blake และ Metro Boomin’ มาร่วมโปรดิวซ์ ยังคงแข็งแรงตามสไตล์ที่คุ้นชินของทั้งคู่ 21 Savage มาร่วมแจมอีกครั้งด้วยความรู้สึกเยือกเย็น เป็นการปิดท้ายที่ทิ้งสาสน์ปลายเปิดเกี่ยวกับ ideal place ในแบบของคุณ หลังจากที่ตะลุยโลกอันแสนมืดมนของ LaFlame มาเนิ่นนาน คุณเลือกที่จะหลบอยู่ในโลกอุดมคติของคุณต่อไปหรือรอให้ใครซักคนมาป่าวประกาศเพื่อให้ตื่นรู้ในภายภาคหน้าต่อไป