15 ส.ค. 2023 เวลา 08:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก “ธีรพรคลินิก” หรือ TRP บริษัทศัลยกรรมความงามกำลังเข้าตลาดหุ้น

Grand View Research ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐที่มีประสบการณ์การทำวิจัยตลาดมากกว่า 12 ปี และมีความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงาม พบว่าตลาดศัลยกรรมความงามในประเทศไทยในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 9.70 ในช่วงปี 2565 ถึงปี 2573
โดยมีสาเหตุหลักมาจากการกระแสนิยมการดูแลผิวพรรณและการดูแลรูปร่างหน้าตาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อรับบริการทางการแพทย์ (Medical Tourism) คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเร่งการเติบโตของตลาดได้
ทั้งนี้กลุ่มคลินิกเสริมความงามที่ให้บริการครบวงจรทั้งการดูแลรักษาผิวพรรณและศัลยกรรมมีแนวโน้มเติบโตมากกว่ากลุ่มที่เน้นการรักษาผิวพรรณเพียงอย่างเดียว เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากรายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นคอลัมน์ Next IPO ประจำวันอังคาร จะพานักลงทุนมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างบริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) หรือ TRP
สำหรับ TRP มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) เร็วๆนี้ ในหมวดธุรกิจบริการ (SERVICE) โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 90 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 25.71% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขาย IPO
TRP ก่อตั้งโดยนาวาโทหญิงสุวรรณี จิรยั่งยืน รน. และครอบครัวเมื่อปี พ.ศ. 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจการสถานพยาบาลด้านคลินิกเวชกรรมภายใต้ชื่อ “ธีรพรคลินิก” เพื่อให้บริการศัลยกรรมความงามบนใบหน้าแก่บุคคลทั่วไป เช่น การผ่าตัดดึงหน้า (Face-Lock) การผ่าตัดตาสองชั้น การผ่าตัดเสริมจมูก และบำรุงผิวพรรณ เป็นต้น
สำหรับปัจจุบันบริษัทเปิดให้บริการธีรพรคลินิกในอาคารสำนักงาน 5 ชั้น ที่ตั้งเลขที่ 2 ถนนเจริญนคร แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,157 ตารางเมตร มีทีมแพทย์ 26 ท่าน ห้องผ่าตัด 6 ห้อง และห้องให้คำปรึกษา 3 ห้อง
ทั้งนี้ ด้วยปริมาณผู้เข้ารับบริการที่เพิ่มขึ้นในทุกปี ทางบริษัทมีเป้าหมายในการสร้างโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 10 เตียง เพื่อเพิ่มคุณภาพ มาตรฐานในการบริการในพื้นที่ขนาดประมาณ 9,918 ตารางเมตร ห้องผ่าตัด 12 ห้อง โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2567
ขณะที่การประกอบธุรกิจหลักสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.การให้บริการหัตถการเกี่ยวกับผ่าตัดตามมาตรฐานทางการแพทย์ เช่น ศัลยกรรมผ่าตัดดึงหน้า (Face-Lock) ผ่าตัดตา ผ่าตัดจมูก และส่วนอื่นๆ เช่น ดึงหน้าผาก คาง เป็นต้น
2.การให้บริการให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการผ่าตัดที่จำเป็นต้องได้รับยาระงับความรู้สึกหรือตามที่ผู้ใช้บริการแจ้งความประสงค์ และ3.การให้บริการที่ไม่เกี่ยวกับการผ่าตัด ได้แก่การให้บริการด้านผิวพรรณอื่นๆ เช่น การฉีดสารเติมเต็มริ้วรอยและปรับรูปหน้า (Filler) การฉีดสารต้านริ้วรอยและปรับรูปหน้า (Botox) การให้วิตามินทางน้ำเกลือ เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง (2563-2565) บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ 221.56 ล้านบาท 427.64 ล้านบาท และ 853.64 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 37.15 ล้านบาท 112.68 ล้านบาท และ 270.27 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง
รวมถึงทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อผู้ใช้บริการได้ศึกษาข้อมูลและทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับทีมแพทย์และพนักงานของบริษัทมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทุกระดับอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น
ทั้งนี้บริษัทมีรายได้หลักมาจากการให้บริการหัตถการเกี่ยวกับผ่าตัด โดยปี 2565 มีสัดส่วนกว่า 93.26% ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็น รายได้จากการศัลยกรรมผ่าตัดดึงหน้ามากเป็นอันดับหนึ่ง 63.39% รองลงมาเป็นรายได้จากการศัลยกรรมผ่าตัดตา 20.45%รวมทั้งรายได้จากศัลยกรรมผ่าตัดจมูก 5.22% นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการให้บริการให้ยาระงับความรู้สึก 4.29%ของรายได้จากการให้บริการ
อย่างไรก็ตามการเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนในการขยายกิจการในโครงการต่าง ๆ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินทุนสำรองตามกฎหมายในแต่ละปี (ถ้ามี)
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก
จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นทั้งก่อนการเสนอขาย และการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังการเสนอขาย IPO นั้นยังคงมีจำนวนหุ้นเท่าเดิม เมื่อเทียบกับก่อนเสนอขาย IPO ขณะที่ในกลุ่มครอบครัวจิรยั่งยืน ประกอบด้วย บริษัท สานฝันโฮลดิ้ง จำกัด, น.ท.หญิงสุวรรณี จิรยั่งยืน รน., นายกฤตภาส จิรยั่งยืน, นายศุภกร จิรยั่งยืน, นางสาวสุวิมล จิรยั่งยืน, นางสาวณัฎฐา จิรยั่งยืน, นางสาวสุวรรณา จิรยั่งยืน, นายสุเมธ จิรยั่งยืน, นายธนจักร สินรัชตานันท์, นายชลธร สินรัชตานันท์ และนายจักรชลัช สินรัชตานันท์
โฆษณา