3 มี.ค. เวลา 14:10

เมื่อถึงวันเกษียณอายุ เราจะเกษียณได้หรือเปล่า?

ปัญหาความไม่พร้อมเกษียณอายุ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหากประเทศนั้นไม่มีระบบเพื่อการเกษียณอายุดีพอ
สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาที่บริษัทด้านแรงงานเผยแพร่เมื่อไม่นานนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 1 ใน 3 บอกว่าตัวเองยังไม่พร้อมสำหรับการเกษียณ และ 1 ใน 5 บอกว่าตัวเองไม่มีทางพร้อมสำหรับการเกษียณอย่างแน่นอน
ในประเทศไทยกำหนดช่วงเกษียณอายุอยู่ระหว่าง อายุ 55-60 ปี สำหรับคนที่ยังเหลืออายุการทำงานอีกหลายปีเคยคิดหรือเปล่าครับว่าเราจะหยุดทำงานหรือจะเกษียณเมื่อไหร่? และเราจะพร้อมใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างราบรื่นหรือเปล่า
มาดูกันว่าเราจะพร้อมใชัชีวิตหลังเกษียณหรือเปล่า ด้วยวิธีการพื้นฐานแบบง่ายๆ
เริ่มจากการหาค่าใช้จ่ายของเราช่วงหลังเกษียณ แม้เราจะเกษียณอายุแต่ก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีอะไรบ้าง
1. ค่าใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวัน :
ประมาณการแบบง่ายที่สุดคือดูจากการใช้จ่ายของเราในปัจจุบันว่าเราใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายนี้คือค่าใช้จ่ายของตัวเราและครอบครัว ไม่ต้องรวมค่าใช้จ่ายสำหรับลูก
ในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวันในอนาคตจะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อและระยะเวลาที่ใช้จ่าย แต่อย่างน้อยค่าใช้จ่ายในตัวเลขปัจจุบันก็ถือเป็นขั้นต่ำสุดที่เราควรมีรองรับไว้สำหรับอนาคต เมื่อเราได้ค่าใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวันมาแล้ว ปรับตัวเลขให้เป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี
จำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่เราต้องมีสำหรับช่วงเกษียณอายุ คำนวณโดยใช้อายุขัยเฉลี่ยรวมของไทยที่ 77 ปี (ปี พ.ศ. 2564) หรือจะแยกตามเพศก็ได้ โดยเพศหญิงมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 81 ปี และ เพศชายที่ 75 ปี
ตัวอย่างเช่น
นาย ก มีค่าใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวันเดือนละ 20,000 บาท เท่ากับปีละ 240,000 บาท จำนวนเงินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของเราเท่ากับ ค่าใช้จ่ายต่อปี คูณด้วย จำนวนปีหลังเกษียณตามอายุขัย (ชาย 17 ปี / หญิง 21 ปี) หรือเป็นเงิน 4,080,000 บาท สำหรับเพศชาย และ 5,040,000 บาท สำหรับเพศหญิง
(หมายเหตุ : ในการจัดทำแผนการเงินที่ถูกต้อง จะต้องนำอัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนต่างๆ มาใช้ในการคำนวณ แต่เราการคำนวณนี้เพียงต้องการทดสอบความพร้อมของเราในอนาคตจึงสามารถใช้ข้อมูลง่ายๆ เบื้องต้นมาประกอบการพิจาณา)
2. ค่าใช้จ่ายด้านหนี้สิน :
หากเรายังต้องมีภาระค่าผ๋อนชำระหนี้สินต่างๆ หลังเกษียณ เราจำเป็นต้องเตรียมเงินก้อนนี้ไว้ด้วยเช่นกัน โดยคำนวณง่าย ๆ จากค่างวดและระยะเวลาที่คงเหลือในช่วงเกษียณของเรา เช่น ค่าผ่อนชำระคงเหลือในช่วงเกษียณ 60 เดือน ๆ ละ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายด้านหนี้สินจะเท่ากับ 600,000 บาท
3. ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล :
ค่าใช้จ่ายประเภทนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ประมาณการได้ยากและมีความแม่นยำน้อย เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดในการประมาณค่าใช้จ่ายส่วนนี้คือการโอนความเสี่ยงให้กับบริษัทประกันฯ โดยการสร้างความคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาล
เราจึงประมาณการค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้จากเบี้ยประกันฯ ที่เราต้องชำระ และนำเงินก้อนนั้นมาใช้คำนวณความพร้อมเกษียณของเรา สมมุตว่าเบี้ยประกันเฉลี่ยที่เราต้องชำระแต่ละปีเท่ากับ 30,000 บาท ระยะเวลา 17 ปี รวมเป็นเงิน 510,000 บาท หรือ ระยะเวลา 21 ปี รวมเป็นเงิน 630,000 บาท
4. ค่าใช้จ่ายสำรองอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าใช้จ่ายเพื่อสันทนาการหรือท่องเที่ยว เราควรจะเตรียมจำนวนเงินไว้รองรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วย โดยดูจากรูปแบบการใช้ชีวิตและความจำเป็นของแต่ละคน อย่างน้อยควรจะเตรียมเงินก้อนไว้รองรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้จำนวนหนึ่ง
จากตัวอย่างของนาย ก จะต้องใช้เงินหลังเกษียณ คำนวณจากอายุขัยเฉลี่ย 77 ปี เท่ากับ
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวัน 4,080,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายด้านหนี้สิน 600,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล 510,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายสำรองอื่นๆ 500,000 บาท
รวมเป็นเงิน 5,690,000 บาท เป็นอย่างต่ำ
ประมาณการหามูลค่าของสินทรัพย์ต่างๆ ที่เรามีการออมและเก็บไว้
เมื่อเราทราบค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของเราแล้ว เราจะหาความพร้อมสำหรับเกษียณโดยดูว่าเรามีทรัพย์สินและเงินได้หลังเกษียณที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจำนวนนี้ได้หรือไม่ลองคำนวณมูลค่าทรัพย์สินที่เราจะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินค่าใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณ เพื่อดูว่าเรามีทรัพย์สินมากพอ หรือยังขาดอยู่เท่าไหร่
ทรัพย์สินบางอย่างเราอาจไม่สามารถนำมาแปลงเป็นค่าใช้จ่ายได้เนื่องจากเราจะต้องใช้งานในช่วงหลังเกษียณ เช่นบ้านที่เราอาศัยอยู่ หรือทรัพย์สินประเภทที่มีมูลค่าลดลงอยู่ตลอดเวลา เช่นรถยนต์ เป็นต้น
ทรัพย์สินที่เราสามารถนำมาคำนวณ ได้มักเป็นทรัพย์สินที่เราเก็บออม ลงทุนไว้ เช่น เงินฝากธนาคาร พันธบัตรฯ และตราสารหนี้ต่างๆ เงินในกองทุนรวมฯ เงินครบกำหนดจากประกันสะสมทรัพย์ เงินบำนาญจากประกันบำนาญ เงินสะสม จาก LTF/RMF/SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ กบข เงินบำเหน็จและบำนาญอื่นๆ รวมถึงเงินชดเชยตามกฎหมายเมื่อเกษียณอายุ เป็นต้น
เมื่อเราทราบมูลค่าทรัพย์สินที่เราจะสามารถนำมาใช้ในช่วงเกษียณอายุฯ แล้ว หากเรามีทรัพย์สินที่มากกว่าเงินค่าใช้จ่ายรวม ให้ถือว่าคุณน่าจะมีความพร้อมสำหรับการเกษียณในระดับหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่มักมีเงินส่วนที่ยังขาดอยู่และต้องสะสมเพิ่มเติมในช่วงก่อนเกษียณอายุ จึงสามารถวางแผนการเงิน กาออมการลงทุนเพื่อให้ได้เงินส่วนนี้มาก่อนที่เราจะเกษียณอายุด้วยความพร้อมขั้นพื้นฐาน
วิธีการเบื้องต้นเป็นเพียงแนวทางการคำนวณเบื้องต้นว่าเราจะสามารถพร้อมเกษียณอายุได้หรือไม่ เพื่อให้เราเริ่มปรับเปลี่ยนการออมการลงทุน และเริ่มเตรียมตัวเพื่อให้เราพร้อมเกษียณอายุแต่เนิ่นๆ การจัดทำแผนการเกษียณที่ละเอียดยิ่งขึ้นสามารถทำได้โดยปรึกษานักวางแผนการเงินที่มีมาตราฐานและมีความชำนาญ เนื่องจากในความเป็นจริง การคำนวณจะต้องนำผลตอบแทนการลงทุนที่เราจะทำได้ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราเพิ่มของรายได้ มาใช้ในการคำนวณร่วมด้วย
สำหรับหนี้สินต่างๆ นั้น หากเราสามารถลดมูลค่าหนี้ให้เหลือน้อยที่สุดหรือปลดหนี้ก่อนการเกษียณจะช่วยให้เรามีความมั่นคงในช่วงหลังเกษียณยิ่งขึ้น จึงอาจใช้วิธีการบริหารหนี้สินประกอบการวางแผนการเกษียณควบคู่ไปด้วย
ปัญหาความพร้อมในการเกษียณกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนในอนาคต และการเข้าสู่สังคมสูงวัยจะยิ่งทำให้ภาครัฐมีภาระที่ต้องแบกรับจากความไม่สมดุลของรายรับรายจ่ายเพื่อดูแลประชาชนสูงวัย เห็นได้จากหลายประเทศกำลังขยายอายุการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ประชาชน เราจึงต้องวางแผนการเกษียณสำหรับตัวเราเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างมีคุณภาพเพียงพอ
โฆษณา