18 ส.ค. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เราควรใช้เงิน หลังเกษียณอย่างไร ให้ไม่มีวันหมด

“ที่สุดแห่งความเสียดาย คือ ตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด ที่สุดแห่งความสลด คือ ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย”
1
ประโยคดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นความจริงว่า การวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ซึ่งถ้าหากเราอยากจะเกษียณได้อย่างสบายใจ มีเงินพอใช้จ่ายไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า เราจะต้องมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนที่จะเกษียณ
แล้ว อิสรภาพทางการเงินของเรา มีราคาเท่าไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
จุดเริ่มต้นของการจะรู้ว่า อิสรภาพทางการเงินของเรา มีราคาเท่าไร เราต้องเริ่มต้นจากการรู้ว่า เราจะมีรายจ่ายหลังเกษียณจากการทำงาน ปีละประมาณเท่าไร
ตัวอย่างเช่น คุณ A วางแผนใช้เงินหลังเกษียณ เดือนละ 20,000 บาท หรือคิดเป็นปีละ 240,000 บาท
พอรู้รายจ่ายหลังเกษียณแล้ว ต่อไปก็คาดการณ์ว่า เราจะมีชีวิตเหลืออยู่หลังเกษียณอีกกี่ปี และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เรายังต้องคาดการณ์ อัตราเงินเฟ้อในอนาคตด้วย
เพราะค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินจำนวน 240,000 บาท ในปีที่ 1 หลังจากเกษียณ จะมีมูลค่าไม่เท่ากับเงินจำนวน 240,000 บาท ในปีที่ 2 หลังจากเกษียณ
ในปีที่ 2 เงินจำนวนเท่ากันนี้ จะมีมูลค่าลดลง เพราะถูกผลของเงินเฟ้อกัดกินมูลค่าไปแล้ว และในปีต่อ ๆ ไป เงินเฟ้อก็จะยิ่งกัดกินมูลค่าไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น หากเราลืมพิจารณาเรื่องผลกระทบของเงินเฟ้อ เงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณของเรา ก็อาจมีใช้ไม่เพียงพอ
สำหรับราคาของอิสรภาพทางการเงินของเรา สามารถคำนวณหาได้โดย..
รายจ่ายต่อปี * (1 + อัตราเงินเฟ้อต่อปี) / (ผลตอบแทนจากการลงทุนต่อปี - อัตราเงินเฟ้อต่อปี)
1
จากตัวอย่างข้างต้น คุณ A คาดการณ์ว่า จะมีชีวิตเหลืออยู่หลังเกษียณอีก 30 ปี และสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ 5% ต่อปี ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ไว้ที่ 3% ต่อปี
1
ดังนั้น จากวิธีนี้ ราคาของอิสรภาพทางการเงินของคุณ A เท่ากับ 12,360,000 บาท
ด้วยจำนวนเงิน 12,360,000 บาทนี้ เมื่อนำมาลงทุนให้ได้ผลตอบแทนปีละ 5%
ผลตอบแทนจากการลงทุนทุกปี จะเพียงพอต่อรายจ่ายทุกปีของคุณ A ไปตลอดชีวิต
เช่น ในปีที่ 1 อัตราผลตอบแทน 5% จะทำให้คุณ A ได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน 618,000 บาท
แต่คุณ A มีค่าใช้จ่ายรวมในปีที่ 1 เป็นเงิน 240,000 บาท
หมายความว่า คุณ A จะเหลือเงินส่วนต่างที่ไม่ได้นำไปใช้จ่าย 378,000 บาท
หากคุณ A นำเงิน 378,000 บาทนี้ กลับไปลงทุนสมทบในเงินก้อนเดิม ในปีต่อไป คือปีที่ 2 คุณ A จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเงิน 636,900 บาท
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในปีที่ 2 นั้น เพื่อให้คุณภาพการจับจ่ายใช้สอยเงินของเรา เท่าเทียมกับปีที่ 1 เราต้องปรับค่าใช้จ่ายของเรา ให้สูงขึ้นตามผลของเงินเฟ้อ 3% ด้วย
ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในปีที่ 2 เท่ากับ 247,200 บาท
ดังนั้น ในปีที่ 2 คุณ A จะเหลือเงินหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว 389,700 บาท และก็เช่นเดียวกันกับปีที่ 1 ที่คุณ A ก็นำเงินที่เหลือกลับไปลงทุนต่อ
ถ้าคุณ A สามารถทำแบบนี้วนไปได้ทุกปี เงินต้นของคุณ A จะไม่มีวันหมด และเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ
สรุปแล้ว ก่อนที่เราจะสามารถคำนวณอิสรภาพทางการเงินของเราได้นั้น เราจะต้องคาดการณ์
- จำนวนเงินที่เราจะใช้จ่ายต่อปี หลังจากเกษียณ
- อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปี ในระยะยาว
- อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนต่อปี ที่เราสามารถทำได้ ในระยะยาว
หากเรารู้ส่วนประกอบเหล่านี้ครบ เราก็สามารถคำนวณหาออกมาได้แล้วว่า เราจะต้องมีเงินเท่าไร ถึงจะสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างสมบูรณ์
แต่ในการจะนำวิธีนี้ไปใช้ ก็มีข้อควรระวัง นั่นคือ เราจะต้องสามารถทำผลตอบแทน จากการลงทุนเฉลี่ยต่อปีในระยะยาว ได้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีในระยะยาว
ซึ่งเมื่อเราสามารถคำนวณตัวเลขตามวิธีนี้ออกมาได้แล้ว และเก็บออมเงินได้ถึงเป้าหมาย วันนั้นก็จะเป็นวันที่เรา ได้มีอิสรภาพทางการเงินอย่างสมบูรณ์..
Reference
-หนังสือ Your Money Or Your Life (1992) โดย Vicki Robin และ Joseph R. Dominguez
2
โฆษณา