17 ส.ค. 2023 เวลา 11:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ

#เรียนรู้จากอดีต

“Roaring 20s” ยุคทอง 1920s สหรัฐ ชนวนต้นเหตุการเกิดเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในโลก
หลายคนน่าจะเคยได้ยิน เหตุการณ์เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 (the great depression) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
มีการคาดการณ์ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก สูงถึงประมาณ 70 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน หรือเทียบเท่างบประมาณของไทยปัจจุบันประมาณ​ 20 ปี ส่งผลให้ GDP ทั่วโลกลดลงประมาณ​ 15% และตลาดหุ้นสหรัฐตกลงไปมากถึง 89% รวมถึงไม่กลับมาสู่จุดเดิมเลยอีกกว่า 25 ปี
ความเสียหายจากสถิติอย่างเดียว ไม่อาจทำให้เราเข้าใจสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างชัดเจน หากเราไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคก่อนหน้า ซึ่งคือยุค Roaring 20s ซึ่งเป็นยุคทองที่เศรษฐกิจสุดร้อนแรง ก่อนจะกลายเป็นชนวนการเกิด Great Depression
#ทุกอย่างเริ่มต้นหลังสงครามจบ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ผ่านพ้นไป อำนาจของประเทศในโซนยุโรปได้อ่อนแอลงไปมาก จากการใช้เงินทุนจำนวนมากในการทำสงคราม และการเสียชีวิตของชายวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ในขณะเดียวกัน สหรัฐกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้ รวมถึงเป็นเจ้าหนี้ของประเทศในยุโรปหลายประเทศสำหรับการนำเงินไปฟื้นฟูความเสียหาย
เมื่อยุโรปตกต่ำ สหรัฐจึงกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโดดเด่นขึ้นมาแทน เงินจึงไหลเข้ามาลงทุนในสหรัฐอย่างล้นหลาม
นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐในยุคนั้นยังออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก ลดดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วหลังสงครามสิ้นสุด อีกทั้งยังได้เงินชดเชยความเสียหายจากเยอรมันที่แพ้สงคราม ทำให้เงินอัดฉีดในยุคนั้นเรียกว่า จัดหนักจัดเต็มมาก
ผู้คนเฉลิมฉลองกันอย่างบ้าคลั่ง อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ความบันเทิงและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็วเช่น ภาพยนตร์ สื่อโฆษณา ดนตรี ศิลปะ สถาปัตยกรรม โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ผู้คนเริ่มมีวัฒนธรรมคลั่งไคล้ในดาราและคนมีชื่อเสียง (สมัยนั้นคือนักกีฬา) สื่อโหมโฆษณาทำให้คนอยากบริโภคมาก ๆ เกิดการกู้เงินใช้เกินตัวอย่างมหาศาล
ทางด้านตลาดหุ้น แน่นอนว่าหุ้นขึ้นหนักมาก เพราะเต็มไปด้วยข่าวดี และเงินอัดฉีด
ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง
อีกปัจจัยคือ การได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็วของทรัสต์ การลงทุนเป็น 1 ปัจจัยที่สำคัญในช่วงนั้น ทำให้มีนักลงทุนเข้าใหม่เป็นจำนวนมาก และเหมือนทุกครั้งคือตลาดหุ้นก็เป็นขาขึ้นอย่างยาวนาน ยิ่งหุ้นขึ้นคนก็ยิ่งโลภ ยิ่งนำเงินมาลงทุนมากขึ้น
ภาพรวมคือระหว่างปี 1920-1929 ตลาดหุ้นสหรัฐเป็นขาขึ้นอย่างรุนแรง โดย (Dow Jones) ปรับตัวขึ้นกว่า 6 เท่าใน 9 ปี !
#จุดชนวนระเบิด
หลังเศรษฐกิจร้อนแรงมาก ๆ ในปี 1928 ธนาคารกลางเริ่มชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ โดยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในเวลา 7 เดือน ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 1.5% เป็น 6%
ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น ชะลอความต้องการในการใช้เงิน คนที่เคยเป็นหนี้ก่อนหน้าก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ในตลาดหุ้นมีการเรียกเงินประกันที่สูงขึ้นในการใช้ Margin และกู้เงินไปซื้อหุ้น
ทำให้ตั้งแต่ปี 1928 เริ่มมีสัญญาณ​ความชะลอตัวทางเศรษฐกิจลงมาบ้าง แต่ก็ยังมีคนจำนวนน้อยมากที่สนใจและระวังตัว
เพราะธรรมชาติของมนุษย์ที่อยู่ในช่วงรุ่งเรืองของเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานเกือบ 10 ปี ทำให้ประมาทและลืมช่วงเวลาอันเลวร้ายของตลาดหุ้นไป
เดือนมีนาคม 1929 มีข่าวลือเกิดขึ้น
หลังธนาคารกลางมีการประชุมต่อเนื่องทุกวัน แต่ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดการประชุมใด ๆ สู่สาธารณะ ทำให้เกิดข่าวลือว่าจะมีการสกัดกั้นหนี้จากการเก็งกำไร ทำให้เกิดการเทขายอย่างรุนแรง ตลาด -4% ในวันนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่มีนโยบายใด ๆ ตลาดก็กลัยมาร้อนแรงดังเดิม แถมมีการใช้ Margin มากขึ้นกว่าเดิม (Panic Buy - คนกลัวตกรถ)
จนช่วนเดือนสิงหาคม มีการกำหนดให้วาง Margin เพิ่มเติมในการขอกู้เงินมาเพื่อซื้อหุ้น จากการวางหลังประกัน 10% ในปีก่อนสู่ 45-50% ในช่วงนั้น ตลาดจึงเริ่มถล่มลงมาอีกรอบ
#ตลาดถล่ม
ต้นเดือนกันยายน Roger Babson นักสถิติชื่อดังออกมาเตือนเกี่ยวกับตลาดที่อาจจะปรับตัวลงจากการเข้มงวดของนโยบายการเงิน ทำให้ตลาดร่วงลงมาทันทีกว่า -2.6% หลังการปราศรัย
(ผู้คนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Babson Break”) ซึ่งเป็นจุดที่ตลาดเริ่ม Panic จริงจังแล้ว
หลังจากนั้นช่วงปลายเดือนกันยายน บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ “Clarence Hatry” ก็ถูกปรับ ข้อหาฉ่อโกง ทำให้เกิดการเทขายรุนแรงมากขึ้นไปอีก
หากไม่มีการใช้ Margin กู้เงินมาลงทุน ตลาดจะไม่ขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ และเช่นกัน หากไม่มีการใช้ Margin ตลาดก็จะไม่ถล่มแรงขนาด -89% เช่นกัน
เมื่อตลาดตกลงมา คนที่ใช้เงินกู้จำเป็นต้องขายหุ้นออกมาเพื่อป้องกันการขาดทุน เมื่อเกิดการเทขายออกมาหุ้นลง ก็จะยิ่งเป็นการบังคับให้นักลงทุนต้องรีบขายหุ้นออกมา ทำให้หุ้นตกลงไปอีก เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้คนจะเริ่มหยุดขาย
1
ประกอบกับการตัดสินใจผิดพลาดของธนาคารกลางที่ออกนโยบายล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น และไม่สามารถหยุดความกังวลของผู้คนได้ ทำให้ความเสียหายแพร่กระจายออกไป (อาจเป็นเพราะสมัยนั้นการเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลไม่ได้รวดเร็วอย่างทุกวันนี้)
1
เหตุการณ์พีคที่สุดในปีนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม หรือที่ถูกขนานนามว่า “Black Monday” ซึ่งดัชนี Dow Jones ตกหนักถึง -13.5% จากการที่นักลงทุนจำนวนมากถูก Margin Call หรือบังคับให้เติมหลักประกันจากการที่หุ้นตกลงมา
หลังจากนั้นตลาดหุ้นก็ตกลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีขึ้นบ้างเป็นช่วง ๆ แต่สุดท้ายก็สร้างจุดสูงสุดใหม่จนไปถึงจุดต่ำสุดในปี 1932 หรือเรียกได้ว่าตลาดหุ้นเป็นขาลงกว่า 3 ปีเลยทีเดียว
เหตุการณ์ในครั้งสอนให้รู้ว่าการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและการเร่งให้เศรษฐกิจให้โตไวนั้น ไม่ต่างจากการเติมปุ๋ยให้ต้นไม้ การเติมปุ๋ยอย่างเหมาะสมและค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ต้นไม้โตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง แต่หากเติมปุ๋ยมากเกินไปก็จะทำให้ต้นไม้เกิดการช็อคและตายได้ เศรษฐกิจก็ไม่ต่างกันครับ
BottomLiner
โฆษณา