19 ส.ค. 2023 เวลา 06:07 • สัตว์เลี้ยง

ปลาซิวเขียวพม่า

ปลาซิวเขียวพม่าเป็นปลาเพียงชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีสีตามธรรมชาติเป็นสีเขียวจริงๆของมันเอง ไม่ได้ผ่านกระบวนการปรับปรุงสายพันธุ์ การมอร์ฟของสี รวมถึงการตัดแต่งพันธุกรรม
ปลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในปลาซิวที่ได้รับการยอมรับว่าปรับสภาพได้ยากเหลือเกิน แต่เมื่อมันอยู่น้ำแล้วก็กลายเป็นที่เลี้ยงได้ไม่ยากนัก ก่อนจะไปเล่าเรื่องปลาชนิดนี้ ขออธิบายไว้ก่อนว่า “ซิวเขียวพม่า” เป็นปลาซิวที่มีสีเขียวเคลือบทั้งตัว
ส่วนปลาซิวที่มีผิวสีเงินนัยน์ตาสีเขียว ปลาชนิดนี้มีชื่อว่า “ซิวตาเขียว” เนื่องจากตอนหาภาพประกอบบทความพบว่ามีการเข้าใจผิดและสับสนในการเรียกปลาชนิดนี้กันมากพอสมควร
เจ้าปลาที่มีลักษณะคล้ายกับซิวเขียวพม่าจริงๆจะมีอยู่อีกสองชนิดที่พบแต่ในพม่า และไม่มีรายงานว่าพบตามตะเข็บชายแดนของไทย ตัวแรกมีชื่อเรียกว่า “ซิวนานา” อย่างที่บอกเมื่อครู่ปลาชนิดนี้ไม่มีในไทยดังนั้นชื่อของมันที่ได้มาไม่ได้แปลว่าเป็นปลาที่พบได้ตรงแถวแยกนานา ถ.เพชรบุรี จ.กรุงเทพมหานคร ชื่อนานาที่เรียกนี้มาจากชื่อวิทย์ของปลาคือ microdevario nanus
จุดแตกต่างระหว่างซิวเขียวพม่ากับซิวนานามีอยู่สองจุดที่สังเกตได้ง่าย หนึ่งคือ นานาตัวกลมป้อม แต่ซิวเขียวพม่าจะยาวเพรียว จุดที่สองคือสีของซิวนานาเป็นสีเขียวอมเหลือง ในขณะที่ซิวเขียวพม่าจะเป็นสีเขียวมรกต
ส่วนปลาอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับซิวเขียวพม่าคือ microdevario gatesi ซึ่งแอดมินขอข้ามไปเลยแล้วกันนะครับ มันไม่มีใครเอามาขายในไทยแน่นอน
ในแหล่งน้ำธรรมชาติสามารถพบปลาซิวเขียวพม่าได้ในประเทศพม่าทางตอนล่างรวมถึงแนวชายแดนของไทยที่ติดกับทางพม่าแถวจังหวัดระนอง พังงา และก็มีเรื่องเล่าจาก ดร. นณณ์ ว่าทำไมปัจจุบันเราถึงพบปลาชนิดนี้ในแควน้อย จ.กาญจนบุรีไปด้วย โดยย่อคือมีคนเอาไปปล่อยไว้แล้วก็ขยายแพร่พันธุ์อยู่ในพื้นที่นั้นได้เอง
ซิวเขียวพม่าจะอาศัยอยู่เป็นกลุ่มหลักสิบตัวว่ายอยู่ผิวน้ำและกลางน้ำ อาศัยในลำธารเล็ก ตามริมตลิ่งในพื้นที่น้ำไหลไม่แรงนัก และยังพบในป่าลึกน้ำใส ซึ่งในแต่ละแหล่งที่พบก็จะมีความแตกต่างกันสภาพน้ำบางแหล่งก็ pH ต่ำ บางแหล่งก็ปกติ บางแหล่งก็น้ำเป็นสีน้ำตาลจากการหมักหมมของซากพืชเศษใบไม้ ท่อนไม้กิ่งไม้ทั้งหลาย ในขณะที่บางแหล่งก็น้ำใสปิ๊งไม่มีสี ไม่แน่ใจจริงๆว่าควรจะตอบคำถามว่าปลาตัวนี้อยู่ได้ในทุกสภาพน้ำรึเปล่า
ปลาตัวนี้ถือเป็นปลาซิวที่มีราคาแพงชนิดหนึ่ง มันแพงกว่าพวกซิวขวาน ซิวหางแดง ซิวกรรไกรเยอะอยู่ทั้งที่ตัวก็เล็กนิดเดียว แต่ด้วยความที่มันมีสีเขียวที่นับว่าแปลกสำหรับปลาน้ำจืดมันก็เลยเป็นที่นิยมสำหรับลูกค้าต่างชาติ
ในอดีตบริษัทแอดมินเคยถอดปลาชนิดนี้ออกจากลิสต์รายการสินค้า เนื่องจากหาวิธีการดูแลให้รอดไปจนถึงมือลูกค้าไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็จัดการได้ดีแล้วครับ และก็กลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่สร้างชื่อให้กับบริษัทมาสักพักหนึ่งแล้ว
การปรับสภาพปลาที่จับจากธรรมชาติให้พร้อมส่งนั้น กระบวนการมันไม่ได้จบที่ว่าหาวิธีทำให้รอดให้ตู้ของเราก่อนส่งออก เพราะถ้าคุณภาพน้ำเราประหลาดมาก เมื่อเราส่งออกไปถึงมือลูกค้าต่างประเทศแล้วเค้าดูแลต่อไม่ได้ มันก็คือการส่งปลาไปตายที่เมืองนอกนั่นแหละ
ดังนั้นเราต้องหาให้ได้ว่าปัจจัยสำคัญของการอยู่รอดมันมาจากเรื่องอะไรกันแน่ผ่านการทดลองปรับตัวแปรควบคุมต่างๆในการทดลองเลี้ยงครั้งแล้วครั้งเล่า ทดลองแพ็คด้วยปัจจัยควบคุมที่แตกต่างกันครั้งแล้วครั้งเล่า จนสามารถอธิบายลูกค้าต่างประเทศได้ว่าเค้าจะต้องเตรียมอะไรไว้สำหรับการดูแลปลาเหล่านี้
อ๊ะ... กลับมาที่เรื่องของปลาดีกว่าครับ เดี๋ยวออกนอกเรื่องไปกลายเป็นการถอดรหัสการดูแลปลา
ย้อนกลับไปในอดีต ครั้งแรกที่เห็นปลาชนิดนี้ได้มาจากผู้สันทัดทางด้านการหาปลาแถบกาญจนบุรีและตะเข็บชายแดนระหว่างไทยพม่า ตอนปลาอยู่ในถุงสภาพมันก็ปกติดี เอามาส่องกล้องจุลทรรศน์ก็เจอแค่ปรสิตกระจอกๆ แต่เลี้ยงยังไงก็ไม่รอดตามที่เล่าไว้ข้างต้น
หลังจากนั้นสองปีก็บังเอิญรู้จักกับเพื่อนชาวพม่าที่ส่งสินค้าผ่านชายแดนให้เราได้ ในช่วงดังกล่าวสามารถนำเข้าปลาจากทางพม่าได้ในราคาย่อมเยาขึ้นมาก และที่สำคัญคือมันเลี้ยงแล้วไม่ตายง่ายอีกต่างหาก นอกจากพวกซิวกาแล็คซี่ ซิวนานา ซิวกาเทซี่ กลุ่มปลาช่อนไฟร์ไอซ์ หรือพัลชรา แอดมินก็นำเข้ามาได้น้ำได้เนื้ออยู่ มีกลุ่มปลาตะเพียน และแคทฟิชขนาดเล็กหลายชนิดที่น่าสนใจ
แต่หลังจากด่านข้ามชายแดนดังกล่าวปิดไป ปลาหลายชนิดที่เคยนำเข้ามาก็หายไปจากตลาดจนถึงทุกวันนี้ ...น่าเสียดายนะ ส่วนเพื่อนคนดังกล่าวก็เลิกทำปลาสวยงามไปยึดอาชีพอื่นแล้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาซิวเขียวพม่าคือ Microdevario kubotai มาจากคำศัพท์สองคำประกอบกันคือ Mikro + devario คำแรกแปลว่าเล็ก จิ๋ว (micro) ส่วนคำว่า devario มีรากศัพท์มาจากภาษาเบงกาลี debari ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไรแค่เป็นคำที่ใช้เรียกปลาชนิดหนึ่ง
ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม Genus Devario จะเป็นปลาที่มีลักษณะลำตัวเพรียวยาวเช่นเดียวกับกลุ่ม Danio ส่วนคำว่า Microdevario ก็จะถูกใช้กับกลุ่มปลาที่มีขนาดโตเต็มวัยแล้วยังเล็กจิ๋วอยู่นั่นเอง
ส่วนคำว่า Kubotai มาจากชื่อของนักสำรวจชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Katsuma Kubota ที่เป็นผู้ค้นพบปลาชนิดนี้เป็นคนแรกในช่วงที่นำทีมคณะสำรวจเข้ามาหาปลาสวยงามชนิดใหม่ๆเพื่อไปจัดจำหน่ายในตลาดปลาสวยงามต่างชาติ ซึ่งไปเจอที่พม่าก็เลยเรียกซิวเขียวพม่า
ชื่อสามัญของปลาชนิดนี้คือ Burmese green rasbora แปลเป็นภาษาไทยตรงตัวเลยว่า “ซิวเขียวพม่า” แต่เดี๋ยวนี้ชื่อในตลาดปลาบ้านเราก็เรียกกันแค่ “ซิวเขียว” ไม่ค่อยได้ยินใครเรียก “ซิวเขียวพม่า” บางประเทศก็เรียกปลาตัวนี้ว่า green neon rasbora หรือบางทีลูกค้าก็เรียก Kubotai rasbora (ซิวคูโบไท)
มีใครสังเกตมั๊ยครับว่าชื่อสามัญของปลาชนิดนี้มีคำว่ารัสบอร่าอยู่ด้วย (rasbora) ทั้งที่ชื่อวิทย์ของมันอยู่ในกลุ่ม danio ทำไมไม่เรียกว่า Green neon danio คำตอบคือ เมื่อก่อนชื่อวิทย์ของปลาชนิดนี้ถูกเรียกว่า Micraorabora kubotai อยู่หลายปี ในตลาดก็เลยติดกับการใช้ชื่อมาเรื่อยๆนั่นเอง
ปลาชนิดนี้เค้าเพาะกันได้เยอะแยะมากมายทั่วทั้งโลกแล้วนะครับ เพาะกันได้เป็นสิบกว่าปีแล้ว สามารถกดกูเกิ้ลแล้วหารายละเอียดกันได้เลย เหมือนจะเห็นแว้บๆว่าสักเดือนสองเดือนก่อนกรมประมงน่าจะมีให้ความรู้เรื่องการเพาะปลาชนิดนี้อยู่เช่นกัน ถ้าใครบังเอิญไปทำขึ้นมาเป็นกิจลักษณะก็สามารถมาเสนอขายบริษัทแอดมินได้นะครับ ปัจจุบันที่บริษัทยังใช้ปลาจากธรรมชาติในการส่งออกอยู่เรื่อยๆ
ช่วงหลังนี่ไม่ค่อยได้เขียนบทความรู้สึกว่าเขียนแล้วก็ติดๆขัดๆอยู่เหมือนกัน เอาไว้จะพยายามเขียนให้บ่อยขึ้นนะครับ สำหรับออเดอร์การส่งสินค้าภายในประเทศช่วงนี้หยุดพักมาช่วงใหญ่แล้วครับ ทำงานส่งออกไม่ทัน เดี๋ยวถ้าพร้อมสำหรับการส่งในประเทศจะแจ้งให้ทราบใน Line OA พร้อมแนบรายการสินค้าไปให้พิจารณานะครับ
Credit picture by Chris Lukhaup
#ปลาสวยงาม #ซิวเขียว #ซิวเขียวพม่า
โฆษณา