20 ส.ค. 2023 เวลา 06:37 • การศึกษา

การดำเนินคดีอาญาน่ารู้ : "คู่สมรส" เป็นผู้เสียหาย

เวลาเราพูดถึง" คู่สมรส"หรือ "สามีภริยา" นั้น ในมุมมองทางกฎหมาย ให้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า คู่สมรสนั้น หมายถึง สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กล่าวคือ มีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายนั้นเอง
หากชายหญิงคู่หนึ่งมีการจัดงานแต่งงานกัน มีการเชิญแขกมาร่วมงานมากมาย เพื่อนพ้องรับรู้ แต่หากชายหญิงนั้นยังมิได้ทำการจดทะเบียนสมรสกัน เขาสองคนก็ยังไม่ได้เรียกชื่อว่าเป็น สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่คู่สมรส ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสามีหรือภริยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ตกเป็นผู้เสียหาย เช่น มีคนมาทำร้ายร่างกายสามีของเรา มีคนทำขโมยโทรศัทพ์มือถือภริยาของเรา เราจะดำเนินการได้อย่างไร
กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินคดีอาญาไว้ดังนี้
วรรคแรก : ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน
วรรคสอง : ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา
ประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4
จากบทบัญญัติดังกล่าว อธิบายได้ว่า
1) กรณีสามีเป็นผู้เสียหาย : ฝ่ายสามีมีสิทธิดำเนินอาญาได้ด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินคดีอาญาให้แทนตนก็ได้
2) กรณีภริยาเป็นผู้เสียหาย : ฝ่ายภริยาก็สามารถดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินคดีอาญาให้แทนตนได้เช่นเดียวกับสามี โดยฝ่ายภริยาไม่จำเป็นต้องมาขอความยินยอมหรือต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อนแต่อย่างใด
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อสามีหรือภริยาตกเป็นผู้เสียหายแล้ว สามีหรือภริยาผู็นั้นก็มีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ด้วยตนเอง
สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของทั้งสามีและภริยาจึงมีอย่างเท่าเทียมกัน
ซึ่งมาตรา 4 วรรคแรก ก็ได้เขียนหลักการข้างต้นเสมือนหนึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาของภริยาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี หากความผิดอาญาบางฐานเป็นความผิดที่กระทบต่อเนื้อตัวร่างกาย หรือแม้กระทั่งชีวิต เช่น ผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล หรืออาจรุนแรงถึงขนาดให้บุคคลนั้นเสียขีวิต
กรณีนี้จะเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังนี้
บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ..........
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ..........
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2)
เช่น นายแดน และนางสาวดาวเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย นางสาวดาวถูกโจรชิงทรัพย์และใช้มีดแทงเสียชีวิต เมื่อนางสาวดาวในฐานะภริยาถึงแก่ความตายแล้ว นายแดนในฐานะสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีสิทธิดำเนินคดีอาญาแทนนางสาวดาว ภริยาของตนต่อไปได้
แต่หากสมมติว่า นายแดนและนางสาวดาว ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เพียงแต่อยู่กินร่วมกันเท่านั้น
เช่นนี้ นายแดนจะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาแทนนางสาวดาวได้ ด้วยเหตุผลเพราะ นายแดนไม่ใช่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวดาวนั่นเอง
แต่ข้อจำกัดตรงนี้ ยังมีทางออกคือ ผู้บุพการี หรือผู้สืบดานของนางสาวดาว (ถ้าหากมี) ก็ยังใช้สิทธิดำเนินคดีอาญาแทนนางสาวดาวได้เช่นกัน
ในตอนหน้ามาดูกันว่า หากผู้เสียหายเป็น "ผู้เยาว์" เขาจะมีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้อย่างไร
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.ac.th
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
เว็บไซต์สาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
โฆษณา