21 ส.ค. 2023 เวลา 11:37 • การศึกษา

ขอบเขตการอุ้มบุญตามกฎหมายไทย

ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2558 ได้แก่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
โดยมีสาระสำคัญดังนี้
  • 1.
    มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ุทางการแพทย์ มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการให้ตั้งครรภ์แทนได้
  • 2.
    มีการกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดซึ่งมีโทษทางอาญา เช่น การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการทดลองต่าง ๆ ได้แก่ การนำอสุจิเข้าไปในร่างกายของสัตว์ หรือการซื้อ ขาย เสนอขาย นำเข้าหรือส่งออก เหล่านี้มีโทษทางอาญา เป็นต้น
  • 3.
    มีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการให้ตั้งครรภ์แทน
  • 4.
    มีการกำหนดบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก
สิ่งที่ผู้เขียนอยานำเสนอในบทความนี้ได้แก่ หลักเกณฑ์ในการขอให้ตั้งครรภ์แทนตามกฎหมายดังกล่าว
ใครบ้างที่ขอให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ และใครบ้างจะตั้งครรภ์แทนได้
...
การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนมีเงื่อนไขดังนี้
  • ผู้ขอ - สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเป็นคนไทย ถ้าไม่ใช่คนไทยก็ต้องสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
  • คนที่ตั้งครรภ์แทน - ต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่เป็นผู้ขอให้ดำเนินการ + และต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาดังกล่าว (แต่ถ้าไม่มีก็ให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้) + และต้องเคยมีบุตรมาก่อน
  • คนที่ต้องยินยอม - ถ้าหญิงที่ตั้งครรภ์แทนมีสามี สามีต้องให้ความยินยอมในการตั้งครรภ์แทนด้วย
ในการตั้งครรภ์แทน จะใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนไม่ได้ แปลว่า การดำเนินการต้องใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือผู้บริจาค และไข่ของภริยาหรือผู้บริจาค
เมื่อดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายภายใต้หลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว เด็กที่เกิดมาจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ขอให้มีการตั้งครรภ์แทน (ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน หรือผู้บริจาคอสุจิหรือไข่)
ข้อจำกัดสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ คนที่ขอให้ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แปลว่า สามีภริยาที่อยู่กินกันโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสขอให้ดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ นอกจากนี้ คนโสดที่ประสงค์จะมีลูกก็ขอให้ดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เช่นกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่รักเพศเดียวกันก็ไม่สามารถขอให้ดำเนินการดังกล่าวด้วย
(แม้ว่าสังคมจะเปิดกว้างและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของคู่รักดังกล่าวแล้วแต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิการสมรสแบบเท่าเทียม)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา :https://www.bsru.ac.th/
  • เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา :https://www.facebook.com/SchoolofLawBSRU
โฆษณา