22 ส.ค. 2023 เวลา 05:58 • การศึกษา

ประเภทของบริษัท ในวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม E&P

สวัสดีครับ วงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้นน้ำ เป็นอะไรที่พวกเราคนทั่วๆไปคิดว่ามันยุ่งเหยิง ซับซ้อน และ ไกลตัวมากๆ ไม่ใกล้ตัวเหมือน วงการบันเทิง วงการโทรคมนาคม วันนี้ผมจะมาคุยให้ฟังว่า จริงๆแล้ว มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย มีตัวผู้เล่นหลักๆอยู่ไม่กี่คนในวงการนี้ ผมไม่ชอบยูทูบที่ร่ายยาว น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ดังนั้นเราเข้าเรื่องกันเลยครับ
play maker คนแรกของเรา ชื่อว่า Oil Company หรือ บ.น้ำมัน ครับ ถ้าเปรียบอุตสาหกรรมเราเหมือนรถไฟสักขบวน คนนี้เหมือนหัวจักรครับ เป็นคนที่ลากเอาทุกๆองคาพยพ ให้เคลื่อนที่ออกไป
คนนี้เป็นคนที่ประมูลเอาพื้นที่สัมปทานจากผู้ให้สัมปทานต่างๆ เอามาสำรวจหาปิโตรเลียม เมื่อหาเจอแล้วก็จะพัฒนาพื้นที่พัฒนาแหล่งนั้น ผลิตเอาปิโตรเลียมขึ้นมาขาย ถ้าคนๆนี้ไม่เดิน เครื่องประมูล หรือ ลงมือสำรวจ ลงมือผลิต กิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ขยับไปไหน พูดง่ายๆ ไม่มีคนซื้อนั่นแหละ คนขายก็จ๋อย
จะขุดเจาะได้ ก็ต้องมีแท่นขุดเจาะ มีอุปกรณ์ และ คน ที่ทำการขุดเจาะใช่ไหมครับ แท่นขุดเจาะ อุปกรณ์ และ คนงาน เป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสที่จะบริหารจัดการ งานหลักบ.น้ำมันคือ
ประมูลเอาพื้นที่มาสำรวจและผลิต ดังนั้น บ.น้ำมันจึงต้องเช่า แท่นขุดเจาะ มีอุปกรณ์ และ คน มาใช้งาน
เมื่อมีบ.น้ำมันเป็นคนซื้อ ก็มีคนขาย play maker คนถัดมาคือ บ.ให้เช่าแท่น หรือ ที่เรียกกันว่า rig company
ตามชื่อเลยครับ Rig company ให้เช่าแท่นขุดเจาะ พร้อมอุปกรณ์ และ คน ที่บอกว่าเป็น play maker คนสำคัญก็เพราะ มูลค่าธุรกิจนั้นสูงมาก เป็นค่าใช้จ่ายหลักในการขุดเจาะเลยทีเดียว
ถ้าถามว่า ถ้าค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายหลักแล้ว โดยหลักการทางธุรกิจ บ.น้ำมันก็ควรที่จะมีแท่นขุดเจาะเป็นของตัวเองจริงไหมครับ เรื่องนี้เป็นที่ถกกันเยอะครับ เอาไว้ผมจะแยกมาเล่าต่างหากว่า ทำไมบ.น้ำมันไม่นิยมที่จะลงทุนมีแท่นเจาะและคน เป็นของตัวเอง
เรามาดูคนสำคัญของวงการคนต่อไปกันดีกว่า
play maker คนต่อมาคือ บ.ที่ให้บริการเฉพาะทาง ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า service company
ต้องขยายความเล็กน้อยครับ ในการขุดเจาะ นอกจากมีแท่นเจาะทำงานหลักๆแล้ว ก็มีงานเฉพาะทางเกี่ยวเนื่องมากมาย เปรียบเหมือนมีผู้รับเหมาสร้างตึกแล้ว ก็ต้องมีงานเฉพาะทางที่ผู้รับ เหมาหลักทำไม่ได้ เช่น งานไฟ งานน้ำ งานระบบปรับอากาศ งานตกแต่งภายใน เป็นต้น
งานขุดเจาะของเราก็เช่นกัน เรามีงานเฉพาะทางที่บ.ให้เช่าแท่นเจาะ ทำไม่ได้ เช่น เรามีงานน้ำโคลน งานซีเมนต์ท่อกรุ งานหยั่งธรณี งานทดสอบหลุม และ อื่นๆอีกมากมายครับ
บ.ที่ให้เช่าอุปกรณ์ คน รวมไปถึงให้บริการทางวิศวกรรมอื่นๆ ในหมวดนี้ เราเรียกว่า service company ครับ
ในการทำงานของเราต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์ และ งานบริการ ปลีกย่อย อีกเยอะแยะครับ บ.ที่ขายสินค้าและบริการจึงเป็นบ.อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น ขายท่อกรุ ให้เช่าก้านเจาะชนิดพิเศษ ขายหัวขุดเจาะ ไปจนถึงให้บริการออกแบบทางวิศวกรรม และ ซอฟแวร์
เรารู้จัก play maker ทั้ง 4 ไปแล้วนะครับ ทบทวนอีกนิดมีใครกันบ้าง มี บ.น้ำมัน บ.แท่น บ.service บ.ขายสินค้าและบริการอื่นๆ
นอกจาก 4 play maker แล้ว มีอีก 2 กลุ่มที่ควรต้องรู้จัก คือ บ.ให้บริการฝึกอบรม เช่น การควบคุมหลุม หรือ ที่เราเรียกว่า well control ฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย ที่เราเรียกกันติดปากว่า ฝึกน้ำฝึกไฟ นอกจากนี้ก็ยังมีบ.ที่ฝึกอบรมเชิงลึกทางวิศวกรรมการขุดเจาะ
สุดท้าย ท้ายสุด ก็คือ ที่ผมเรียกว่า ผู้ควบคุมกฏ ซึ่งโดยมากก็คือ องค์กรของรัฐ ในกรณีประเทศไทย ก็คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือ DMF ต่างประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะมีชื่อเรียกแตก ต่างกันไป เช่น ที่พม่าคือ MOGE ย่อ มาจาก Myanmar Oil and Gas Enterprise หรือ ที่ อินโดเนเซีย คือ SKKMIGAS อีกตัวอย่างหนึ่งก็ ปิโตรเวียดนาม ของเวียดนาม เป็นต้น
เอาเป็นว่าเรารู้จักสภาพแวดล้อมของวงการคร่าวๆของวงการแล้วนะครับว่ามีใครทำอะไรกันบ้าง ตอนต่อไปจะเจาะลึกลงไปแต่ล่ะกลุ่ม เช่น มีกลุ่มย่อยๆอะไรบ้าง ทำงานอะไร อย่างไร คน ที่ทำงานในกลุ่มนั้นต้องเรียนจบอะไร มีประสบการณ์อะไร โปรดติดตาม
โฆษณา