24 ส.ค. 2023 เวลา 02:44 • ข่าว

ก่อนเที่ยงไทย ญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำฟุกุชิมะลงแปซิฟิก กระบวนการเริ่มต้นขึ้นแล้ว

24 ส.ค. 2023 - NHK รายงานว่าบริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) เริ่มต้นกระบวนการขั้นสุดท้ายก่อนจะปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยการปล่อยน้ำฟุกุชิมะจะเริ่มขึ้นในเวลา 13:00น. ตามเวลาท้องถิ่น (11:00น. ตามเวลาประเทศไทย)
เช้าวันนี้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง TEPCO เริ่มตรวจวัดความเข้มข้นของไอโซโทปกัมมันตรังสีทริเทียม โดยการเติมน้ำทะเลปริมาณมากลงไปผสมกับน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วเพื่อเจือจางความเข้มข้นนั้นลง
เป็นเวลากว่า 12 ปีหลังจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในปี 2011 TEPCO ใช้น้ำปริมาณมากถึง 1.34 ล้านตันในการรักษาเสถียรภาพของเตาปฏิกรณ์ น้ำจำนวนนี้ถูกกักเก็บไว้ในแท็งค์น้ำขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ถังที่ตั้งอยู่ทั่วพื้นที่โรงไฟฟ้า ซึ่งคาดการณ์กันว่าการกำจัดน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วอาจใช้เวลานานถึง 30 ปีจึงจะระบายน้ำออกได้ทั้งหมด
TEPCO เปิดเผยว่าเมื่อได้วิเคราะห์ความเข้มข้นของไอโซโทปทริเทียมในน้ำแล้วพบว่ามีความเข้มข้นอยู่ที่ราว 43 - 63 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานระดับชาติที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 60,000 เบคเคอเรล รวมถึงสภาพอากาศและท้องทะเลมีความเหมาะสมมากพอ ทำให้มีความพร้อมที่จะปล่อยน้ำจำนวนนี้ลงสู่ทะเลเปิดภายในเวลา 13:00น. ตามเวลาท้องถิ่น
น้ำจะถูกปล่อยออกสู่ทะเลเปิดจากท่อน้ำที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าออกไปราว 1 กิโลเมตร ขณะที่ TEPCO จะยังติดตามสถานการณ์การปล่อยน้ำจำนวนนี้ตลอดเวลาจากศูนย์ควบคุมระยะไกลในอาคารป้องกันแผ่นดินไหวภายในพื้นที่โรงไฟฟ้า
สำหรับการปล่อยน้ำครั้งแรกนี้จะปล่อยออกไปด้วยปริมาณ 7,800 ตัน ใช้เวลาราว 17 วันตามแผนการที่กำหนดไว้
โฆษณา