24 ส.ค. 2023 เวลา 12:48 • ประวัติศาสตร์

รู้จักประเทศยูเครน

ยูเครน(Ukraine) เป็นประเทศหนึ่งในยุโรปตะวันออก มีเนื้อที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในยุโรปรองจากรัสเซียซึ่งยูเครนมีอาณาเขตติดต่อทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังมีอาณาเขตติดต่อกับเบลารุสทางทิศเหนือ ติดต่อกับโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการีทางทิศตะวันตก ติดต่อกับโรมาเนียและมอลโดวาทางทิศใต้ และมีแนวชายฝั่งจรดทะเลอะซอฟและทะเลดำ ยูเครนมีเนื้อที่ 603,628 ตารางกิโลเมตร(233,062 ตารางไมล์) มีประชากรประมาณ 41.3 ล้านคน
และเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ในยุโรป เมืองหลวงของประเทศ คือ เคียฟ ภาษาราชการคือภาษายูเครน และประชากรส่วนมากสามารถสื่อสารภาษารัสเซียได้อย่างคล่องแคล่ว
ดินแดนที่เป็นประเทศยูเครนสมัยใหม่ มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ 32,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยกลาง พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมสลาฟตะวันออก โดยมีสหพันธ์เผ่าชนแห่งรุสเคียฟก่อตัวเป็นรากฐานของอัตลักษณ์ยูเครน หลังจากที่รุสเคียฟแตกออกเป็นหลายราชรัฐในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ประกอบกับหายนะที่เกิดจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกล ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของดินแดนก็เสื่อมสลายและบริเวณนี้ก็ถูกแย่งชิง แบ่งแยก
และปกครองโดยมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งได้แก่เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย จักรวรรดิออสเตรีย–ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน และอาณาจักรซาร์รัสเซีย รัฐผู้บัญชาการคอสแซ็กของชาวยูเครนปรากฏขึ้นและเจริญรุ่งเรืองในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 แต่ในที่สุดดินแดนของรัฐนี้ก็ถูกแบ่งกันระหว่างโปแลนด์–ลิทัวเนียกับจักรวรรดิรัสเซีย ต่อมาเกิดขบวนการชาตินิยมยูเครนขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติรัสเซียและมีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนยูเครนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1917 โดยได้รับการรับรองจากนานาชาติ
ภายหลังสงครามโลกครั้ง 2 ส่วนตะวันตกของยูเครนได้รวมเข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนและทั้งประเทศก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ยูเครนได้รับเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991
หลังได้รับเอกราช ยูเครนประกาศตนเป็นรัฐที่เป็นกลาง โดยจัดตั้งความร่วมมือทางการทหารอย่างจำกัดกับรัสเซียและประเทศอื่น ๆ ในเครือรัฐเอกราช ในขณะเดียวกันก็สถาปนาความเป็นหุ้นส่วนกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือใน ค.ศ. 1994 ใน ค.ศ. 2013 หลังจากที่รัฐบาลของประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูกอวึช ตัดสินใจระงับความตกลงสมาคมระหว่างยูเครนกับสหภาพยุโรป
และแสวงหาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัสเซีย คลื่นการเดินขบวนและการประท้วงที่รู้จักกันในชื่อยูโรไมดานก็เริ่มขึ้นและกินเวลานานหลายเดือนจนกระทั่งบานปลายเป็นการปฏิวัติแห่งศักดิ์ศรีซึ่งนำไปสู่การโค่นอำนาจยานูกอวึชและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
เหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นภูมิหลังของการผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซียในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2014 และสงครามในดอนบัสในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ต่อมา ยูเครนเริ่มใช้ข้อตกลงการค้าเสรีเชิงลึกและครอบคลุมกับสหภาพยุโรปมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2016
ปัจจุบัน ยูเครนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในอันดับที่ 77 เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรป โดยประสบปัญหาความยากจนและการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ในอัตราสูงมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์และกว้างขวาง ยูเครนจึงเป็นหนึ่งในผู้ส่งธัญพืชออกรายใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีกองทัพที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในยุโรปรองจากรัสเซียและฝรั่งเศส
ยูเครนเป็นสาธารณรัฐเดี่ยวภายใต้ระบบกึ่งประธานาธิบดีโดยแบ่งแยกอำนาจออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ประเทศนี้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ สภายุโรป องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป องค์การกวามเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจ และสามเหลี่ยมลูบลิน และเป็นหนึ่งในรัฐผู้ก่อตั้งเครือรัฐเอกราชแม้ว่าจะไม่เคยเป็นสมาชิกขององค์การนี้ก็ตาม
โฆษณา