26 ส.ค. 2023 เวลา 08:05 • สุขภาพ

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu)

พอดีมีโอกาสได้ไปฉีดวัคซีนใหญ่ เราก็อยากพูดถึงเรื่องนี้ซักหน่อย ว่าทำไมต้องฉีดช่วงนี้ แล้วฉีดเพื่ออะไร
ทำไมต้องฉีด เพราะพบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี เป็นโรคที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไม่ต่างจากโควิท มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรง และเสียชีวิตได้
กลุ่มคนที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง มีดังนี้
  • เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระหว่างไตรมาสที่ 2 หรือ 3
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคตับ โรคเลือด โรคระบบประสาท กระบวนการทำงานทางชีวเคมีผิดปกติ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคเอชไอวี / เอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ การใช้สเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน
  • โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 90 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • การใช้แอสไพรินในระยะยาวในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี อาจทำให้เป็นโรคเรย์ (Reye’s disease) เป็นโรคที่มี ความผิดปกติของตับร่วมกับสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
  • อาศัยหรือทำงานในที่แออัด มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
*** 6 หัวข้อแรก จะแนวเดียวกับกลุ่มเสี่ยงของโควิท
สำหรับสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ
A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A
ส่วนการติดต่อ ติดต่อจากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอและการจามของผู้ป่วย เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย
อาการของไข้หวัดใหญ่: จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1-3 วัน
สำหรับอาการที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน
  • มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูกใส ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา
  • อาเจียนหรือท้องเดิน
  • ปกติจะมีไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อยๆ ลดลง แต่ยังมีอาการคัดจมูกและแสบคออยู่ ประมาณ 1 สัปดาห์จึงหาย
อาการรุนแรงและโรคแทรกซ้อน
  • เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรือบางครั้งมีอาการหัวใจวาย
  • อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะอย่างมาก และมีอาการซึมลง
  • บางรายอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว แน่นหน้าอกและอาจทำให้เสียชีวิตได้
ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและให้นอนพักผ่อน
ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัสโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษา
ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถลดความรุนแรงของอาการและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อาการของโรคไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 มีความคล้ายคลึงกัน
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดและป้องกันความสับสนระหว่างโรคทั้งสองนี้ การรับวัคซีนทั้ง COVID-19 และไข้หวัดใหญ่ในเวลาเดียวกันนั้นทำได้
การป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่
เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถการป้องกันการติดเชื้อได้ 100% สุขอนามัยที่ดีสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ล้างมือเป็นประจําด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
  • ไม่สัมผัสตา จมูก และปาก
  • เมื่อจะจามหรือไอ ควรจามหรือไอใส่ข้อศอกหรือกระดาษทิชชู่ และล้างมือทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดโทรศัพท์หรือพื้อผิวของสิ่งของที่สัมผัสบ่อย
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด
  • หลีกเลี่ยง ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
อ้างอิง
โฆษณา