26 ส.ค. 2023 เวลา 09:41 • การศึกษา

มาตรฐานแท่งหลักดินและสายต่อหลักดินในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้า

จากประกาศของการไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป สำหรับผู้ขอไฟฟ้ารายใหม่ทุกรายทุกประเภท จะต้องมีการจัดทำระบบสายดินตามมาตรฐานครับ ซึ่งในบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึงแท่งหลักดินและสายต่อหลักดินเท่านั้นครับ
โดยจะขออ้างอิงข้อมูลจากหนังสือมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2564 ครับ
แท่งหลักดิน
หลักดินแบบแนวดิ่ง จะเป็นแบบที่นิยมใช้งานมากที่สุด เนื่องจากมีราคาถูกและติดตั้งง่ายครับ ซึ่งแท่งหลักดินจะทำมาจาก แท่งเหล็กหุ้มด้วยทองแดง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5/8 นิ้ว และมีความยาวไม่น้อยกว่า 2.4 เมตรครับ
หลักดินห่างจากอาคารอย่างน้อย 0.6 เมตร
ตำแหน่งในการตอกแท่งหลักดิน แนะนำควรห่างจากอาคารอย่างน้อย 0.6 เมตร เพื่อให้พ้นฐานรากของอาคารครับ
ความลึกของหลักดิน 0.3 เมตร
การตอกแท่งหลักดินควรให้หลักดินจมอยู่ในดินประมาณ 0.3 เมตร ครับ
การเชื่อมสายหลักดินกับแท่งหลักดินด้วยแคล้มป์
การต่อสายหลักดินเข้ากับแท่งหลักดินควรติดตั้งให้มีความแข็งแรงครับ โดยการใช้แคล้มป์มาทำการเชื่อมต่อโดยการขันสกรูยึดสายต่อหลักดินกับหลักดินให้แน่น ซึ่งวิธีนี้จะทำงานสะดวกรวดเร็ว แต่มีข้อด้อยเรื่องความแข็งแรงและความคงทนในการใช้งานครับ
การเชื่อมสายหลักดินกับแท่งหลักดินด้วยความร้อน
การต่อสายหลักดินกับหลักดิน โดยการเชื่อมต่อกันด้วยความร้อน วิธีนี้จะเป็นการหลอมโลหะที่เป็นสายต่อหลักดินกับหลักดินให้ละลายติดเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งจะมีความแข็งแรงและความคงทนในการใช้งานดีกว่าวิธีการใช้แคล้มป์ แต่วิธีนี้ก็ต้องใช้อุปกรณ์และเทคนิคในการทำงานครับ
Inspection Pit ( บ่อกราวด์ )
จุดต่อสายหลักดินกับแท่งหลักดินนั้น แนะนำควรอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก ซึ่งเพื่อนๆ สามารถใช้บ่อสำเร็จรูปครอบจุดต่อหลักดินได้ เพื่อป้องกันไม่ให้จุดต่อเสียหายและเพื่อใช้ในตรวจสอบหลักดินและใช้ในการวัดค่าของหลักดินได้ครับ
ตัวอย่างการติดตั้งบ่อกราวด์
ในกรณีที่เพื่อนๆ ตอกหลักดินมากกว่า 1 หลัก ระยะห่างของแท่งหลักดินนั้น จะต้องห่างกันไม่น้อยกว่าความยาวของแท่งหลักดินครับ แล้วเชื่อมต่อกันด้วยสายต่อหลักดินเข้ากับแท่งหลักดินครับ
ตัวอย่างการตอกหลักดิน 3 หลัก เรียงตามแนวยาว
ตัวอย่างการตอกหลักดิน 3 หลัก เรียงตามแนวยาว แบบสามเหลี่ยมด้านเท่า
สายต่อหลักดิน ก็จะเป็นสายไฟที่ต่อจากกราวด์บาร์ที่แผงเมนสวิตช์มายังแท่งหลักดินครับ
สายต่อหลักดิน
จากหนังสือมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสายต่อหลักดิน จะต้องเป็นสายตัวนำทองแดง ที่หุ้มด้วยฉนวนครับ และสายต่อหลักดินจะต้องเป็นสายเส้นเดียวยาวตลอดโดยไม่มีการตัดต่อสายครับ
ข้อกำหนดสายต่อหลักดิน
โดยมาตรฐานก็จะมีข้อยกเว้น ให้มีจุดต่อสายได้กรณีที่ทำจุดไว้สำหรับการทดสอบ เช่น การติดตั้ง Ground Test box เป็นต้นครับ
ตัวอย่าง Ground Test Box
ตารางข้อกำหนดขนาดสายต่อหลักดิน
ขนาดของสายต่อหลักดิน ตามมาตรฐานจะอ้างอิงขนาดสายจะต้องไม่เล็กกว่าในตารางที่ 4-1 ครับ โดยตารางนี้จะกำหนดขนาดสายต่อหลักดินเล็กสุด 10 ตร.มม และใหญ่สุด 95 ตร.มม. ครับ
โดยขนาดสายต่อหลักดินจะแปรผันตามขนาดสายเมนประธานครับ
ตัวอย่างที่ 1 การหาขนาดสายต่อหลักดิน
ตัวอย่างที่ 1 หากเพื่อนๆ ใช้สายเมนประธานเป็นสายทองแดงขนาด 16 ตร.มม จากตารางที่ 4-1 เพื่อนๆก็จะใช้งานสายต่อหลักดินขนาดต่ำสุด 10 ตร.มม ครับ
ตัวอย่างที่ 2 การหาขนาดสายต่อหลักดิน
ตัวอย่างที่ 2 ถ้าเพื่อนๆใช้สายเมนประธานเป็นสายทองแดงขนาด 50 ตร.มม จากตารางที่ 4-1 เพื่อนๆก็จะใช้งานสายต่อหลักดินขนาดต่ำสุด 16 ตร.มม ครับ
ตัวอย่าง การทดสอบความต้านทานการต่อลงดิน
ในการวัดค่าความต้านทานการต่อลงดินจะใช้อุปกรณ์ Earth Tester ในการทดสอบครับ ซึ่งในการทดสอบวัดค่า เพื่อนๆก็ปฎิบัติตามคู่มือการใช้งานของเครื่องเทสในรุ่นนั้นๆครับ
ข้อกำหนดความต้านทานการต่อลงดิน
โดยมาตรฐานจะกำหนดค่าวามต้านทานการต่อลงดินจะต้องไม่เกิน 5 โอห์ม ครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆทุกท่านนะครับ
👉 แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
🎯 หนังสือมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ฉบับ พ.ศ.2564 (ฉบับแก้ไขล่าสุด พิมพ์ครั้งที่ 2)
ช่องทางติดต่อและติดตามเรา
💥LINE ID : @thekopengineer
💥LINE จากลิ้งค์ : https://lin.ee/aPpVIUY
โฆษณา