Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
26 ส.ค. 2023 เวลา 12:41 • กีฬา
ลีกซาอุฯ รวยมาจากไหน ทำไมมีเงินเปย์ไม่อั้นขนาดนี้? อธิบายแบบเข้าใจง่าย
วันที่ 1 มกราคม 2023 นับจากคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ย้ายจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปอยู่อัล นาสเซอร์ ในลีกซาอุดิอาระเบีย ผ่านไปไม่ถึง 9 เดือนเท่านั้น มีนักเตะจากลีกยุโรปอีกประมาณ 40 คน หลั่งไหลเข้าไปในซาอุฯ กันอย่างบ้าคลั่ง
ซาอุฯ ไม่ได้เป็นประเทศในฝันของนักเตะ แต่สิ่งที่พวกเขามียิ่งกว่าใครคือ "เงิน" ที่พร้อมจ่ายหนักๆ แบบไม่เสียดาย
ลีกซาอุฯ จ่ายหนักขนาดไหน? สถิติบอกว่า ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ทั้งโลกนี้ มีเพียงแค่พรีเมียร์ลีกเท่านั้น ที่ใช้เงินซื้อผู้เล่น มากกว่าลีกซาอุฯ
ไม่ใช่แค่ค่าตัว แต่ค่าเหนื่อยก็จ่ายกันอย่างสุดตัว คาริม เบนเซม่า ได้เงินค่าจ้างจาก อัล-อิตติฮัด สัปดาห์ละ 3.8 ล้านยูโร เป็นตัวเลขที่ไม่มีทีมไหนในลีกยุโรปสามารถจ่ายได้
ในข้อเท็จจริงนั้นลีกซาอุฯ จ่ายเงินคว้านักเตะบิ๊กเนม มาเป็นระยะๆ อยู่แล้วตั้งแต่อดีต เช่น โรแบร์โต้ โดนาโดนี่ (อัล-อิตติฮัด) หรือ ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ (อัล-นาสเซอร์) รวมถึงโค้ชในตำนานอย่างมาริโอ ซากัลโล่ ก็เคยคุมสโมสรอัล-ฮิลาล
รวมถึงเคสคลาสสิค ในปี 1978 ริเวลิโน่ นักเตะบราซิล ถูกเซ็นสัญญาจากอัล-ฮิลาล เขาได้รถเบนซ์หนึ่งคัน ได้อยู่ในปราสาทของเจ้าชายคาเล็ด อัล ซาอุด และได้ค่าจ้าง 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งยุคนั้นถือว่ามหาศาลมากแล้ว
ในอดีตว่าเปย์หนักแล้ว แต่ในปี 2023 ลีกซาอุฯ ทุ่มหนักกว่านั้นหลายเท่า พวกเขาตั้งใจจะทะยานขึ้นมาเป็นลีกฟุตบอลระดับท็อปของโลกให้ได้เร็วที่สุด
1
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ซื้อนักเตะแพงๆ ขนาดนี้ จ่ายค่าเหนื่อยสูงลิ่วยิ่งกว่าลีกยุโรป แต่ละสโมสรเอาเงินมาจากไหน เป้าหมายของพวกเขาคืออะไรกันแน่
บทวิเคราะห์จาก สำนักข่าว AFP อธิบายว่า ในอดีตการจ้างนักเตะดังๆ เป็นไอเดียของสโมสร ทีมไหนอยากจ้างสตาร์ก็จ่ายเงินกันไป
แต่ในปี 2023 นี่คือไอเดียของรัฐบาลเลยทีเดียว ที่อยากทำให้ลีกซาอุฯ เป็นแหล่งรวมของซูเปอร์สตาร์ระดับโลก
ในปัจจุบัน ซาอุดิอาระเบีย มีรายได้หลักจากน้ำมันดิบ แต่มีการวิเคราะห์ว่า ในปี 2040 อัตราการใช้น้ำมันดิบในโลก จะลดลงเหลือแค่ 28% เท่านั้น นั่นทำให้ในยุคสมัยต่อไป ซาอุฯ อาจมีความมั่งคั่งน้อยลง และได้รับความสนใจน้อยลงในระดับนานาชาติ
1
ไซม่อน แชดวิค ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสคีม่า อธิบายว่า "ซาอุดิอาระเบียกำลังแข่งกับเวลา พวกเขามีเวลาประมาณ 20 ปีต่อจากนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะความต้องการน้ำมันดิบ นับวันยิ่งลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นพวกเขาต้องขยับตัวให้เร็ว และขยับอย่างมีกลยุทธ์ด้วย"
2
การขายน้ำมันดิบจนร่ำรวย ทำให้ซาอุฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่รวยที่สุด พวกเขามี GDP อันดับ 18 ของโลก มีเงินทุนสำรองอันดับ 7 ของโลก
ส่วนกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุฯ (PIF) มีขนาดใหญ่ที่สุด อันดับ 8 ของโลก โดย PIF จะเอาทรัพย์สินของประเทศไปลงทุนในบริษัทต่างๆ เช่น ซื้อสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และถือหุ้นสตาร์บัคส์ เป็นต้น เพื่อทำให้เงินที่มีงอกเงยขึ้นกว่าเดิม
เพื่อทำให้ซาอุฯ สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตใหม่ได้ รัฐบาลจึงสร้างโปรเจ็กต์ชื่อ Vision 2030 ขึ้นมา โดยจุดประสงค์หลักคือ ในปี 2030 ซาอุฯ ต้องมีรายได้ในทางอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันดิบ และกลายเป็นประเทศที่เป็น Destination ของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่มีภาพลักษณ์ของดินแดนทะเลทรายที่ดูเข้าถึงยาก
1
กีฬาฟุตบอล ถือเป็นหนึ่งในแกนสำคัญที่ซาอุฯ ต้องการ ให้เข้ามาเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศ รัฐบาลซาอุฯ วางแผน ว่าจะขอ Bid เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2030 ให้ได้ นอกจากนั้น ยังต้องการทำให้ฟุตบอลลีกซาอุฯ เป็นที่สนใจของแฟนบอลทั่วทั้งโลก
3
หลักการเดียวกับพรีเมียร์ลีกในปัจจุบัน อังกฤษมีฟุตบอลเป็น Soft Power ที่สำคัญ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ซึ่งฝั่งซาอุฯ ก็คาดหวังว่าบอลลีกในประเทศ จะเป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
3
ดังนั้นรัฐบาลจึงผลักดันเต็มที่ ให้แต่ละสโมสรซื้อผู้เล่นดังที่สุด ดีที่สุดเข้ามาสู่ทีม โดยรัฐจะซัพพอร์ทหลายอย่างช่วย เช่น ไม่มีการกำหนด Salary Cap คุณจะจ่ายค่าเหนื่อยเท่าไหร่ก็ได้ และไม่มีการกำหนด Financial Fair Play อยากซื้อเท่าไหร่ซื้อเลย
1
นอกจากนั้น ยังอนุญาต นักเตะซูเปอร์สตาร์เป็นกรณีพิเศษ ถ้าย้ายมาซาอุฯ สามารถอยู่บ้านเดียวกับแฟนสาวที่ยังไม่แต่งงานได้ คือเรื่องนี้ ตามหลักในประเทศที่เคร่งครัดอย่างซาอุฯ ทำไม่ได้ แต่ตอนอัล-ฮิลาล ซื้อเนย์มาร์ ก็ได้สิทธิพิเศษนี้จากรัฐบาลด้วย
คำถามต่อไป คือสโมสรในลีกซาอุฯ เอาเงิน เอาทองมาจากไหนเยอะแยะ จ่ายค่าตัว ค่าเหนื่อย ทะลุมิติกันได้ขนาดนั้น
ในลีกสูงสุดทั้งหมด 16 ทีม จะมีบางสโมสรที่เป็นของเอกชน บางสโมสรจะผูกอยู่กับสภาเมือง แต่จะมี 5 ทีมที่มีเจ้าของคือรัฐบาล
5 ทีมดังกล่าว ประกอบด้วย
1) อัล-นาสเซอร์ (PIF ถือหุ้น 75%)
- นักเตะที่มี : คริสเตียโน่ โรนัลโด้, ซาดิโอ มาเน่, อายเมอริก ลาป็อกต์, มาร์เซโล่ โบรโซวิช, อเล็กซ์ เตลลิส
2) อัล-อิตติฮัด (PIF ถือหุ้น 75%)
- นักเตะที่มี : คาริม เบนเซม่า, ฟาบินโญ่, เอ็นโกโล่ ก็องเต้
3) อัล-ฮิลาล (PIF ถือหุ้น 75%)
- นักเตะที่มี : เนย์มาร์, รูเบน เนเวส, อเล็กซานเดอร์ มิโตรวิช, คาลิดู คูลิมาลี่, เซอร์เกย์ มิลินโควิช-ซาวิช, ยาสซีน โบโน่, มัลคอม
4) อัล-อาห์ลี (PIF ถือหุ้น 75%)
- นักเตะที่มี : โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่, เอดูอาร์ เมนดี้, ฟรองค์ เกสสิเยร์, อัลลัน แซงต์-แม็กซิมง
5) อัล-เอตติฟาค (กระทรวงกีฬาซาอุฯ ถือหุ้น 100%)
- นักเตะที่มี : จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, มุสซ่า เดมเบเล่, สตีเว่น เจอร์ราร์ด (โค้ช)
คือสโมสรอื่นๆ ในลีกซาอุฯ เราจะเห็นตัวต่างชาติบ้าง แต่จะไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ขนาดนั้น จะมีนักเตะเคยดัง เช่น คริสเตียน เตโย่ อดีตปีกบาร์ซ่า หรือ ฆวนมี่ อดีตแบ็กขวาเรอัล เบติส แต่กับ 5 ทีมด้านบน พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเต็มที่ ดังนั้นจึงมีเงินไม่อั้น ในการกว้านซื้อซูเปอร์สตาร์มาอยู่ด้วย
ถ้าเราสังเกตดู จะเห็นว่า ในลีก 16 ทีม แต่สโมสรที่ซื้อนักเตะดังๆ แพงๆ จะมีชื่อวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาอยู่ 5 สโมสร เหตุผลเพราะพวกเขามีเงินทอง unlimited นั่นเอง
PIF หรือกองทุนความมั่งคั่งของซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบันมีทรัพย์สิน มูลค่า 538,000 ล้านปอนด์ มีงบประมาณมหาศาลมาก ดังนั้นการแบ่งเงินส่วนหนึ่ง เอามาซื้อสโมสรนิวคาสเซิล หรือเอามาจ่ายให้ 4 สโมสรในลีกซาอุฯ ที่ถือหุ้นอยู่ เพื่อซื้อนักเตะบิ๊กเนม ถือเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก สามารถจ่ายได้สบายมาก
1
สรุปคือ ถ้าเราถามว่าลีกซาอุฯ เอาเงินมาจากไหน คำตอบที่เคลียร์ที่สุดคือ "ไม่ใช่ทั้งลีก" ที่มีเงินมากมายขนาดนั้น ทีมอื่นๆ ก็แค่พอมีเงิน เหมือนสโมสรฟุตบอลทั่วไป
แต่เฉพาะ 5 ทีม คือ อัล-นาสเซอร์, อัล-อิตติฮัด, อัล-ฮิลาล, อัล-อาห์ลี และ อัล-เอตติฟาค ได้เงินจากรัฐบาลซาอุฯ ซัพพอร์ทเต็มที่ จนสามารถสร้าง Superteam ได้นั่นเอง
ส่วนเป้าหมายว่าลีกซาอุฯ ทุ่มเงินขนาดนี้ไปทำไม? นั่นก็เพราะการสนับสนุนกีฬา คือหนึ่งในแกนหลักของ Vision 2030 ซาอุฯ ต้องการให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศมากขึ้น พวกเขาอยากเป็น Destination แห่งใหม่ ของคนรักกีฬา
2
- ลีกฟุตบอลในประเทศต้องก้าวสู่ระดับเวิลด์คลาส มีแต่สตาร์เดินชนกัน
- ฟอร์มูล่าวัน ซาอุดิอาระเบียนกรังด์ปรีซ์ เริ่มครั้งแรกในปี 2021
- LIV Golf ที่สร้างขึ้นมาเพื่อปะทะกับ PGA Tour
- มวยสากลชิงแชมป์โลก คู่โอเล็กซานเดอร์ ยูซิค ปะทะแอนโทนี่ โจชัว ก็มาต่อยกันที่เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุฯ
- รายการแข่งม้า ซาอุดิคัพ รางวัลสูงสุดในโลก 20 ล้านดอลลาร์
- เจ้าภาพฟุตบอลเอเชียนคัพ ปี 2027
- และเป้าหมายเจ้าภาพฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2030
2
ซาอุฯ ต้องการเป็นจุดหมายของคนรักกีฬาทั่วโลก พวกเขาใช้งบประมาณที่มี ใช้ความรวยของตัวเอง เอามาสร้างอีเวนต์ที่ดีที่สุดเท่าที่เงินจะสามารถจ่ายได้
ซาอุดิอาระเบีย ในยุคที่ผ่านมา โดนชาวโลกมองว่าเป็นประเทศที่เคร่งขรึม กฎเกณฑ์ละเอียดยิบย่อย ไม่ค่อยเฟรนด์ลีย์กับนักท่องเที่ยว ดังนั้นในวันที่พวกเขาจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ การลงทุนเรื่องกีฬา ก็สามารถเป็นสะพานเชื่อม ให้โลกได้รู้จักซาอุฯ ในมุมใหม่ๆ มากขึ้น
4
ในสายตาคนทั่วไป การจ่ายค่าเหนื่อยโรนัลโด้ สัปดาห์ละ 3.8 ล้านยูโร หรือ ซื้อตัวเนย์มาร์ 90 ล้านยูโร มันเหมือนกับว่าคุณเปย์เงินแบบไม่คิด ราวกับเผาเงินทิ้ง
แต่โปรเจ็กต์นี้ ภาครัฐหักลบมาดีแล้ว นี่คือกลวิธีในการสร้างโปรลีกซาอุฯ ให้นิยม, สร้างภาพลักษณ์ที่สดใหม่ให้กับประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้าประเทศด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยผลักดันให้คนในประเทศได้รักกีฬามากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้นแม้จะต้องจ่ายเงินก้อนโตขนาดนี้ ให้โรนัลโด้, ให้เบนเซม่า, ให้เนย์มาร์, ให้ก็องเต้, ให้ฟีร์มีโน่, ให้ฟาบินโญ่ ฯลฯ ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ยังเชื่อว่า มันคุ้มค่าในระยะยาวอยู่ดี
1
22 บันทึก
82
4
19
22
82
4
19
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย