28 ส.ค. 2023 เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"จัดพอร์ตลงทุน" รับเงินเฟ้อครึ่งหลังปี 2566 อย่างไร ต้องเฝ้าระวังอะไรเป็นพิเศษ?

มีคำถามที่ถูกถามเข้ามาอย่างมากมายเกี่ยวกับการ "จัดพอร์ตการลงทุน" สำหรับครึ่งปีหลัง 2566 เป็นอย่างไร? มีอะไรที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนภายใต้การบริหารจัดการได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่มากกว่าดัชนีเทียบวัด (Benchmark) ที่กำหนดไว้ ก่อนอื่นคงต้องกลับมาดูปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยากับการลงทุนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวของนักลงทุนเป็นลำดับแรก
หากพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศไทย คงต้องไล่เรียงไปตั้งแต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic) และเศรษฐกิจจุลภาค (Microeconomic) ซึ่งคงต้องพิจารณาจากพฤติกรรมของภาพรวมเศรษฐกิจในรูปแบบมหภาคก่อน ผ่านปัจจัยหลักด้านมหภาคจำนวน 5 ด้าน คือ
  • 1.
    GDP Growth หรือ การวัดผลการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ
  • 2.
    Inflation & Interest Rate หรือ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย
  • 3.
    Unemployment หรือ อัตราการว่างงาน
  • 4.
    Balance of Payment & Exchange Rate หรือ ดุลการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
  • 5.
    Debts & Deficits หรือ หนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และการขาดดุล
ซึ่งหากมองจากตัวเลขต่าง ๆ ที่เปิดเผยออกมาในช่วงล่าสุดจะพบว่าคาดการณ์ GDP Growth ดูดีกว่าที่หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจได้คาดไว้ หรือ ค่อนข้างเป็นบวก เช่น ธนาคารโลกออกมาปรับประมาณการณ์ GDP Growthของประเทศไทยจาก 3.6% เป็น 3.9% เป็นต้น อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาเริ่มโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เริ่มทยอยปรับตัวลดลงทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า
นอกจากนี้จดหมายเปิดผนึกของท่านผู้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่ผ่านมา และในประเด็นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทาง ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.00% ยังคงมีช่องว่างค่อนข้างกว้างเมื่อเทียบกับฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศอังกฤษ
ซึ่งอาจจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งนโยบายส่วนลดค่าไฟฟ้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับลดลงกว่าที่ ธปท. คาดไว้ แต่ยังคงมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในฟากอุปสงค์จากสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับฟื้นตัวดีขึ้นหลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ รวมถึงตัวเลขภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
มีโอกาสที่ทาง กนง. อาจจะทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น (นโยบายการเงินตึงตัว หรือ Tightening Monetary Policy) โดยอ้างอิงกับสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจระยะปานกลาง และระยะยาวในอนาคต เพื่อกลับไปสู่ระดับปกติที่มีความเหมาะสม (Normalize Level) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ของประเทศไทยยังคงติดลบอยู่
สำหรับปัจจัยเรื่องอัตราการว่างงานในประเทศไทยนั้นค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และประเทศพัฒนาแล้ว มองเป็นปัจจัยที่ไม่ได้ส่งผลกระทบทั้งในมุมบวก และมุมลบ สำหรับดุลการชำระเงินของไทยในช่วงครึ่งปีแรก และทิศทางถึงสิ้นปีนี้ที่ยังคงมีแนวโน้มที่เป็นบวก หรือ เกินดุลอยู่ โดยอยู่ในทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้น เป็นไปตามการฟื้นตัวโดยรวมของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ส่วนประกอบหลักของดุลการชำระเงินประกอบด้วย ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ดุลบัญชีทุน (Capital Account) และดุลบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ซึ่งตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะตัวเลขส่งออกของไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น โดยที่ดุลบัญชีทุนยังคงมีทิศทางติดลบอยู่ หรือ มีเงินทุนไหลออก โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดทุนที่ทยอยไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
รวมถึงทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีความผันผวนและอ่อนไหวต่อทิศทางนโยบายทางการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงความเชื่อมั่นที่อาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ในระยะเวลาอันสั้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคหลักตัวสุดท้าย คือ หนี้ภาครัฐ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ภาคครัวเรือนภายในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานกำกับดูแลให้ความสนใจเนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตัวเลขหนี้ภาครัฐปรับตัวขึ้นมาตลอดอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งค่อนข้างสูง แต่อาจจะยังไม่เท่ากับประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ แห่ง หนี้ภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำภายหลังจากการเกิดวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการกู้เพื่อลงทุน
ในขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนภายในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากที่ระดับร้อยละ 90.6 ของ GDP จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของประชากรกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่อายุยังไม่มาก เพิ่งเข้ามาในระบบการจ้างงาน หรือ เจเนอเรชั่น Y (อายุระหว่าง 27 ถึง 43 ปี) เนื่องจากมีความเชื่อเรื่องการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมทางการเงินที่แตกต่างจากประชากรในเจเนอเรชั่นก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่าง ธปท. ทยอยออกมากระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้ภาคครัวเรือนทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงออกมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เช่น คลินิกแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ และทางด่วนแก้หนี้ เป็นต้น
ได้เล่าให้ฟังอย่างละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค และผลกระทบในเชิงบวก เชิงลบที่ส่งผลโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการมองภาพในลักษณะ Top-down แต่อีกปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่จะกล่าวถึง คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจจุลภาค ซึ่งเป็นการมองในลักษณะ Zoom-in เข้ามาในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ ในมิติของหน่วยทางสังคมย่อย ได้แก่ นิติบุคคล และลงไปถึงระดับประชากรแต่ละคนในประเทศ
ซึ่งหากพิจารณาในลักษณะของผลกระทบด้านเศรษฐกิจจุลภาคนั้นค่อนข้างมีความเปราะบาง และต้องใช้ความระมัดระวังในการกำกับดูแล ซึ่งถ้าเศรษฐกิจจุลภาคที่กล่าวถึงมีความเข้มแข็ง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์ หรือมีการแทรกแซงในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้สามารถสร้างรากฐานที่ดีได้ และสามารถเติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคงจะทำให้ตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตที่ดีไปด้วย
ในมิติด้านการจัดพอร์ตการลงทุน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องนำทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจจุลภาคมาดูประกอบควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถที่จะจัดพอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และมีผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Excess Return) ที่มากกว่าดัชนีเทียบวัดที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นความท้าทายพอสมควรสำหรับนักลงทุนทั่วไป ผู้จัดการกองทุน และผู้ลงทุนสถาบัน ....
อ่านกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนต่อที่ : https://moneyandbanking.co.th/2023/54753/
โฆษณา