29 ส.ค. 2023 เวลา 01:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้ทันกลเม็ด "ตกแต่งบัญชี" ได้อย่างไร?

การตกแต่งบัญชีมีให้เห็นบ่อยๆ แต่ผลสำเร็จของการ "ตกแต่งบัญชี" ที่มีสาระสำคัญ และสร้างความเสียหายทางการเงินสูง มักจะมาจากผู้บริหารที่เก่ง แต่ขาดจริยธรรม จงใจทำการทุจริต โดยแสวงหาการร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร และสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีที่ดูเหมือนปกติ และผ่องถ่ายเงินออกไปด้วยวิธีการต่างๆ
จากข่าวคราวเรื่องการตกแต่งบัญชีที่เกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง ที่สร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อผู้ลงทุนและเจ้าหนี้เงินกู้นั้น ได้กระตุ้นให้ผู้ใช้งบการเงินตระหนักถึงความสำคัญด้านการบัญชี
และมีคำถามมากมายว่า การตกแต่งบัญชีเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมผู้สอบบัญชีที่ทำงานตามมาตรฐานสอบบัญชีระดับสากลก็ตรวจไม่พบ แม้แต่นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันการเงิน ก็ไม่ได้ระแวงสงสัยว่าจะมีสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัททำงานอย่างไร จึงปล่อยให้มีการทุจริตที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งเกิดขึ้นได้ เป็นต้น
ผู้เขียนในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการสอบบัญชีและได้ศึกษาเกี่ยวกับการจับผิดการตกแต่งงบการเงินมาพอสมควร ใคร่ขอสรุปแนวทางย่อๆ ว่า เราสามารถรู้ทันกลเม็ดการตกแต่งบัญชีได้อย่างไร
จริงๆ แล้ว "การตกแต่งบัญชี" มีให้เห็นบ่อยๆ แต่ผลสำเร็จของการตกแต่งบัญชีที่มีสาระสำคัญ และสร้างความเสียหายทางการเงินสูง มักจะมาจากผู้บริหารที่เก่ง แต่ขาดจริยธรรม จงใจทำการทุจริต โดยแสวงหาการร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกองค์กร และสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีที่ดูเหมือนปกติ และผ่องถ่ายเงินออกไปด้วยวิธีการต่างๆ
ฉะนั้น ผู้บริหารหรือนักวิเคราะห์ที่ต้องใช้งบการเงินเพื่อการตัดสินใจ ควรจะมีขั้นตอนการทำงานดังนี้
  • ทำความเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ : มีวัตถุประสงค์อะไร มีกระบวนการประกอบธุรกิจอย่างไร รูปแบบองค์กร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อประเมินลักษณะพิเศษของธุรกิจนี้ ตลอดจนการกำกับดูแลและการควบคุมภายในที่ควรจะมี
  • ประเมินทัศนคติของผู้บริหาร : หัวข้อนี้สำคัญมาก เพราะผู้บริหารคือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ เราสามารถสังเกตบุคลิกและแนวความคิดจากการสื่อสารที่เขาส่งออกมาว่า มีทิศทาง นโยบาย หรือกลยุทธ์การบริหารอย่างไร เป็นเชิงรุกหรือเชิงระมัดระวัง มีแผนการดำเนินงานที่สมเหตุสมผลกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการแข่งขันหรือไม่ มีจุดเด่นทางทรัพยากรที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร
  • ประเมินแรงจูงใจในการตกแต่งบัญชี : บริษัทที่อยู่ในภาวะปกติ ย่อมไม่มีแรงจูงใจที่จะแต่งบัญชีที่มีนัยสำคัญ แต่ถ้าบริษัทต้องใช้งบการเงินเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการเพิ่มทุน ในการกู้ยืม ในการออกหุ้นกู้ หรือในการสร้างราคาหุ้น ก็มักจะตกแต่งให้งบการเงินมีกำไรสูง มีฐานะการเงินแข็งแรง มีอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ดูดี ส่วนบริษัทที่ไม่ใช่มหาชน ก็มักจะตกแต่งบัญชีให้มีกำไรต่ำ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี บางครั้งบริษัทมีช่องโหว่ที่เกิดจากการควบคุมภายในไม่เพียงพอ ก็จูงใจให้พนักงานตกแต่งบัญชีเพื่อทำการทุจริต
  • พิจารณามาตรฐานการบัญชีที่อาจจะเอื้อต่อการตกแต่งบัญชี : เนื่องจากมาตรฐานการบัญชีสากลใช้เกณฑ์คงค้าง ไม่ใช่เกณฑ์เงินสด และมาตรฐานการบัญชีบางฉบับก็มีทางเลือกให้ผู้บริหารใช้ดุลยพินิจในการประมาณการต่างๆ เพื่อการบันทึกบัญชี ฉะนั้น ผู้บริหารอาจจะใช้ช่องทางนี้ในการทำให้กำไรสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงทางเศรษฐกิจก็ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในงบการเงินงวดปัจจุบัน และงวดถัดๆ ไปในอนาคตด้วย
  • วิเคราะห์งบการเงินและมองหาสิ่งผิดปกติ : เมื่อมีความเข้าใจในข้อ 1-4 แล้ว การอ่านหรือวิเคราะห์งบการเงินก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า รายการต่างๆ ที่แสดงในงบการเงินมาจากไหน ได้สะท้อนถึงความเป็นจริงของธุรกิจหรือไม่ หากมีสิ่งผิดปกติที่ไม่สมเหตุสมผลกับลักษณะการประกอบธุรกิจ ก็ควรจะมีการตรวจสอบเป็นพิเศษ
📌การตกแต่งงบการเงินเชิงเทคนิค
สิ่งที่บริษัทต่าง ๆ มักจะทำคือ การตกแต่งงบกำไรขาดทุน ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ หรือค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป หรือต่ำเกินไป แต่ก็ต้องอาศัยการตกแต่งรายการสินทรัพย์หรือหนี้สินด้วย การตกแต่งกำไรในแต่ละงวดจึงจะสำเร็จตามหลักการบัญชี จึงทำให้งบดุลผิดปกติไปด้วย โดยมีรายการสินทรัพย์หรือหนี้สิน สูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ เงินจ่ายล่วงหน้า เงินรับล่วงหน้า รายได้ค้างรับ ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น
เมื่องบกำไรขาดทุนผิด และงบดุลผิด อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ก็ผิดไปด้วย และหากได้มีการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดประกอบ ก็จะยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นว่า รายการต่างๆ มีการเคลื่อนไหวทางเงินสดอย่างไร
1.การตกแต่งรายได้สูงกว่าความเป็นจริง : เพื่อให้กำไรสูง เช่น ก) สร้างยอดขายที่ไม่จริง แสดงเป็นลูกหนี้ในงบดุล แล้วมีการรับคืนหรือตัดหนี้สูญในภายหลัง ข) รับรู้รายได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขการรับรู้ เช่น กรณีธุรกิจบริการที่รับรู้ตามอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ แสดงเป็นรายได้ค้างรับในงบดุล ค) บันทึกเงินรับล่วงหน้าเป็นรายได้ ทำให้ยอดหนี้สินต่ำไปในงบดุล ง) บันทึกรายได้จากการขายให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน จ) สร้างส่วนลดรับที่ไม่จริงจากคู่ค้า เป็นต้น
2.การตกแต่งรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง : เพื่อให้กำไรต่ำ เช่น ก) ไม่บันทึกรายได้โดยหลีกเลี่ยงการออกใบกำกับภาษี และเอาเงินเข้าบัญชีส่วนตัว ข) ขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าปกติ และเรียกเก็บเพิ่มในงวดถัดไป ค) ประมาณการรับรู้รายได้ต่ำในธุรกิจรับจ้างทำของ หรือยืดการรับรู้ออกไป ทำให้มีการทำในงบดุลสูงเกินจริง เป็นต้น
3.การตกแต่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่าความเป็นจริง : เพื่อให้กำไรสูง หรือปกปิดผลขาดทุน เช่น
ก) ยืดการบันทึกค่าใช้จ่ายไปงวดหน้า โดยการบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้าในงบดุล แล้วค่อยทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายในปีถัดไป ข) บันทึกค่าใช้จ่ายเป็นสินทรัพย์ทั้งๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของสินทรัพย์ ค) หลีกเลี่ยงการประมาณค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยไม่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและไม่ตั้งเป็นหนี้สินในงบดุล ง) ไม่พิจารณาการด้อยค่าของสินทรัพย์ หรือตัดค่าเสื่อมราคายาวเกินไป ทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำเกินไป และสินทรัพย์สูงเกินไป จ) ไม่บันทึกภาระค้ำประกันภายหลังการขายเป็นค่าใช้จ่าย ทำให้หนี้สินต่ำไป เป็นต้น
4.การตกแต่งค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง : เพื่อให้กำไรต่ำ เช่น ก) เอาค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท ข) สร้างค่าใช้จ่ายที่ไม่จริงขึ้น ด้วยความร่วมมือจากอีกฝ่ายหนึ่ง ค) บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ ง) ตัดค่าเสื่อมราคาด้วยอายุงานที่สั้นเกินไป จ) กันค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์สูงเกินไป แล้วกลับรายการเป็นรายได้ในงวดถัดไป เป็นต้น
อ่านบทความเพิ่มเติมที่ : https://moneyandbanking.co.th/2023/49699/
โฆษณา