31 ส.ค. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด จีน VS เยอรมนี สงครามแย่งตลาดรถยนต์ ในจีน

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อนที่ชื่อว่า “เยอรมนี” ได้ร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ท้องถิ่นกับเพื่อนอย่าง “จีน” เพื่อเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน
2
แต่ในปัจจุบัน เพื่อนจีนคนนี้ กลับกลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเพื่อนเยอรมนี เสียเอง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
ทำไมทั้งสองประเทศ ถึงกลายมาเป็นคู่แข่งกันได้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน เริ่มต้นพัฒนาด้วยการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์จากสหภาพโซเวียต
ทำให้เกิดบริษัทรถยนต์ใหญ่ของรัฐบาลจีน ที่เรียกกันว่า Big4 เกิดขึ้นมา นั่นคือ SAIC Motor, Dongfeng, FAW และ Changan
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ แล้ว แต่บริษัทเหล่านี้ ผลิตรถยนต์ได้เพียงปีละ 100,000-200,000 คันเท่านั้น
จนปี 1990 รัฐบาลจีนได้เปิดให้มีการนำเข้ารถยนต์จากต่างชาติได้เป็นครั้งแรก
ส่งผลให้รถยนต์ต่างชาติ ถูกนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ซึ่งนำไปสู่การขาดดุลการค้าของจีน
จนทำให้รัฐบาลจีนต้องตั้งมาตรการ กำแพงภาษีรถยนต์นำเข้าสูงถึง 200% เพื่อลดปริมาณการนำเข้า
แต่ด้วยคุณภาพของรถยนต์ต่างชาติที่ดีกว่า มาตรการนี้จึงไม่ได้ผลมากนัก
รัฐบาลจีนจึงแก้เกมใหม่ ด้วยการเปิดให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติ มาตั้งฐานการผลิตในประเทศ แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นการร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ท้องถิ่น
ในตอนนั้น เยอรมนีที่ขึ้นมาเป็นเจ้าอุตสาหกรรมรถยนต์ หลังจากที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษ และสหรัฐฯ ถดถอยลง
เมื่อเห็นโอกาสสำคัญที่จะเติบโตในตลาดจีน
บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน จึงตอบรับจีนเป็นเจ้าแรก ๆ
อย่าง Volkswagen Group ก็ได้ร่วมทุนกับ SAIC, FAW และสามารถขายรถยนต์ในจีน ได้มากถึงปีละ 3,000,000 คัน
1
ในขณะที่ BMW และทาง Mercedes-Benz หลังจากที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทจีนนั้น ก็มีสัดส่วนของยอดขายในจีนเพิ่มเป็น 33% และ 37% ของยอดขายทั้งหมด ตามลำดับ
1
ซึ่งการร่วมทุนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นผลดีกับบริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมันเท่านั้น แต่เป็นผลดีกับประเทศจีนเอง เพราะทำให้จีนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จีนเองก็รู้ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของตัวเอง ไม่มีทางไล่ตามแบรนด์รถยนต์ตะวันตกได้ทัน
จนกระทั่งมาถึง
ช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์
จาก “รถยนต์สันดาป” มาเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า”
ทำให้จีนตั้งเป้าที่จะเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแทน
ซึ่งจากที่เคยเป็นเพื่อนร่วมธุรกิจกัน บริษัทจีนกลับก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของเยอรมนี
เหตุผลแรกเลย “รัฐบาลจีนสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก”
ตั้งแต่ปี 2009 จีนให้เงินทุน เพื่อพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การทำเหมืองแร่ผลิตแบตเตอรี่ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงการอุดหนุนราคารถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างสถานีชาร์จทั่วประเทศ
1
ซึ่งทั้งหมดนี้ จีนใช้เงินไปกว่า 1,000,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่จีนเผชิญอยู่ ก็เป็นตัวเร่งให้จีนออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอีกด้วย
1
และต่อมาคือ “จีนครอบครองแบตเตอรี่ได้เกือบทั่วโลก”
ก็ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมรถยนต์มีผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยเยอรมนีจะมีธุรกิจที่เรียกว่า Mittelstand หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่คอยผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าเฉพาะทางคุณภาพสูง ให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ซึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์สัญชาติเยอรมัน จะมีบริษัทเหล่านี้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ มากถึง 85% ของบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบดังกล่าวใช้ได้กับรถยนต์สันดาปเท่านั้น เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ที่คิดเป็น 40% ของต้นทุนรถ
และแบตเตอรี่พวกนี้เอง ก็จำเป็นต้องผลิตจากแร่สำคัญ เช่น ลิเทียม โคบอลต์ ซึ่งจีนครอบครองแร่หายากเหล่านี้ได้เกือบทั่วโลกอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็น การที่บริษัท Tianqi Lithium Corporation ของจีน เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Talison Lithium ของออสเตรเลีย ทำให้จีนมีแร่ลิเทียมในมือกว่า 46% ทั่วโลก
1
ส่วนโคบอลต์กว่า 70% ของโลก มาจากเหมืองแร่ในคองโก ที่จีนเป็นผู้ถือสัมปทานส่วนใหญ่อยู่เช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ บริษัทผลิตแบตเตอรี่สัญชาติจีนอย่าง CATL และ BYD มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% ของกำลังการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลก
โดยปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์ในจีนกว่า 44% กลายเป็นแบรนด์สัญชาติจีน เช่น BYD, Geely
ในขณะที่รถยนต์สัญชาติเยอรมัน ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 เพียง 20%
รถยนต์สัญชาติเยอรมัน โดยเฉพาะในเครือ Volkswagen จะยังคงเป็นผู้นำรถยนต์สันดาปในตลาดจีนอยู่ แต่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์จีนสามารถครองตลาดไปได้แล้ว
จึงทำให้รถยนต์สัญชาติเยอรมันหลายค่าย มีการปรับตัวทำรถยนต์ไฟฟ้าออกมามากขึ้น
สุดท้ายแล้ว ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สงครามรถยนต์ในตลาดจีน ระหว่างจีนกับเยอรมนีจะเป็นอย่างไร
และเรื่องราวที่กล่าวมานั้น คงไม่จบแค่ตลาดรถยนต์จีนเท่านั้น
เพราะการที่รถยนต์ไฟฟ้าจีน สามารถก้าวขึ้นมากินส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนได้
ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ค่ายรถยนต์จีน จะคิดการใหญ่กว่านั้น ด้วยการออกไปตีตลาดต่างประเทศมากขึ้น
และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นแล้วกับประเทศไทย ที่มีค่ายรถยนต์จีนมากมาย แห่กันเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย
1
และในที่สุด ในตลาดรถยนต์ทั่วโลก รถยนต์สัญชาติจีน จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของค่ายรถยนต์ทุกสัญชาติ ตั้งแต่ เยอรมัน อเมริกัน รวมไปถึงญี่ปุ่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเอง..
โฆษณา