Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ซับศิลป์
•
ติดตาม
3 ก.ย. 2023 เวลา 19:36 • ศิลปะ & ออกแบบ
"แพเมดูซา" โดย ธีโอดอร์ เจริโคลต์
The Raft of the Medusa, Théodore Géricault, 1818–19
“แพเมดูซา” ภาพสีน้ำมันโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส ธีโอดอร์ เจริโคลต์ (Théodore Géricault) สร้างขึ้นระหว่างปี 1818 - 1819 บรรยายถึงเหตุการณ์ในเดือนมิถุนายน 1816 เรือฟริเกตเมดูซา ออกเดินทางพร้อมกับเรืออีก 3 ลำ มุ่งหน้าสู่ท่าเรือแซ็ง-หลุยส์ของเซเนกัล ซึ่งอังกฤษมอบให้แก่ฝรั่งเศสโดยเป็นสัญลักษณ์ของความสุจริตใจต่อกษัตริย์หลุยส์ที่ 18 โดยเรือสามารถรองรับผู้คนได้เกือบสี่ร้อยคน
ในการเดินทางครั้งนี้ผู้ควบคุมเรือคือกัปตัน Hugues Duroy de Chaumareys วัย 53 ปี เขารับงานนี้หลังจากว่างเว้นจากการเดินเรือไป 25 ปี และยังไม่เคยสั่งการเรือรบมาก่อนในชีวิต เขามุ่งแต่จะเดินเรือให้เร็วที่สุดจนแซงเรือลำอื่น ๆ ไปได้ สุดท้ายด้วยความเร็วที่มากเกินไปทำให้เรือชนเข้ากับฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรือฟริเกตเมดูซากำลังเดินทางไปท่าเรือแซ็ง-หลุยส์ของเซเนกัล ที่มาภาพ : https://artincontext.org/the-raft-of-the-medusa-theodore-gericault/
เพื่อไม่ให้เรือจมลูกเรือจึงตัดสินใจทิ้งของที่มีน้ำหนักส่วนเกินลงน้ำ แต่กัปตัน กลับห้ามไม่ให้พวกเขาทิ้งปืนใหญ่ลงไปเพราะไม่อยากทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฝรั่งเศสโกรธเคืองจนในที่สุดเรือก็จมลงสู่ก้นมหาสมุทร กลุ่มคนรวยได้รับอภิสิทธ์ให้ลงเรือชูชีพก่อน ในขณะที่คนที่เหลืออีก 149 คนถูกบังคับให้ขึ้นแพชั่วคราวซึ่งผูกเชือกพ่วงไว้กับเรือชูชีพลำหนึ่ง
ไม่นานหลังจากนั้นเชือกของแพที่พวงอยู่กับเรือชูชีพหลุดออกจากกัน ทั้งนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเชือกหลุดเองหรือถูกตัดอย่างจงใจ ทำให้พวกเขาต้องลอยแพอยู่ท่ามกลางทะเลเป็นเวลา 13 วัน โดยไม่มีน้ำหรืออาหารเลย สุดท้ายมีผู้รอดชีวิตเพียง 15 คนเท่านั้น และยังพบว่าผู้รอดชีวิตกินเนื้อของศพเพื่อประทังชีวิต
แพเมดูซาถูกพบโดยบังเอิญในวันที่ 17 กรกฎาคม 1816 โดยกลุ่มอาร์กัส พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือการพยายามค้นหาใด ๆ จากรัฐบาลฝรั่งเศส ผู้รอดชีวิต 5 คนเสียชีวิตหลังจากได้รับการรักษาไม่นาน เหตุการณ์นี้สร้างความอับอายให้สถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสอย่างมาก กัปตัน De Chaumareys ถูกตัดสินโดยศาลทหารแต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็พ้นผิด
ความอยุติธรรมนี้เป็นสาเหตุให้เจริโคลต์วาดภาพแพเมดูซาขึ้นมาเพื่อประนามผู้มีอำนาจ จากภาพศิลปินเลือกที่จะบรรยายภาพแพเมดูซาหลังจากที่เรือแตกแล้ว แพที่ลอยอยู่เหนือทะเลมาแล้วกว่า 13 วันดูทรุดโทรมเกินกว่าจะใช้งานได้ ลูกเรือที่อพยพลงมาบนแพเหลือรอดชีวิตอยู่ไม่มาก พวกเขาดูอิดโรยและเหนื่อยล้า ชายชรากำลังปกป้องร่างกายของลูกชายของเขา ชายชราอีกคนดึงผมของตัวเองด้วยความสิ้นหวัง
รายละเอียดภาพ
หลายคนก็พยายามไข่วคว้าจับยึดเสากระโดงเพื่อจะมีชีวิตรอดท่ามกลางพายุ ข้างๆกันนั้นมีซากศพขาดวิ่นเหลือเพียงส่วนอก เราสามารถมองเห็นเรือลำหนึ่งแล่นเข้ามาใกล้อยู่ที่เส้นขอบฟ้า พร้อมกับชายผิวดำชูผ้าเป็นธงเพื่อขอความช่วยเหลือ ภายหลังได้มีการถกเถียงกันว่าชายผิวดำคนนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงเพื่อเลิกทาสตามความต้องการของศิลปิน
รายละเอียดภาพแพเมดูซา ที่มาภาพ: https://www.widewalls.ch/magazine/the-raft-of-the-medusa
ตัวละครในภาพดูสมจริงจนน่าสยดสยอง เมื่อรวมเข้ากับโทนของภาพที่มีความดราม่าจากคอนทราสต์ของสี และแสงที่สูงทำให้ภาพสื่อถึงความทุกข์ทรมานราวกับว่ามีเสียงกรีดร้องดังออกมาจากภาพ จุดเด่นของภาพคือการจัดวางกลุ่มคนเป็นรูปทรงปิรามิดสองแห่งทับซ้อนกัน ปิรามิดแรก (สีแดง) แสดงความสิ้นหวังและสูญเสีย จะเห็นได้ว่ามีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมากบริเวณฐานปิรามิดด้านหน้า ปิรามิดที่สอง (สีน้ำเงิน) คือส่วนที่แสดงความหวัง เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดทางอารมณ์ของภาพคือชายผิวดำกำลังโบกผ้าเพื่อขอความช่วยเหลือไปที่เรือกู้ภัย
1
ปิรามิดแบ่งตำแหน่งของกลุ่มคน ที่มาภาพ : https://artincontext.org/the-raft-of-the-medusa-theodore-gericault/
เพื่อความสมจริงของภาพเจริโกต์ได้ค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลมากมายเขาเดินทางไปพูดคุยกับผู้รอดชีวิตหลายคน เขาไปที่เลออาฟวร์ชายฝั่งทะเลฝรั่งเศสเพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของเรือบนน้ำ และสีของท้องฟ้า เขาศึกษาภาพการออกแบบแพ และช่างไม้ที่สร้างแพเมดูซาก็ได้มอบสำเนาของแพนั้นให้กับเจริโกต์
แผนภาพแพแห่งเมดูซ่า ที่มาภาพ : https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Raft_of_the_Medusa
เขาศึกษาทางกายวิภาคของร่างกายในเชิงลึกเพื่อให้ได้สีผิวของผู้เสียชีวิตที่แม่นยำที่สุด เขาร่างภาาพศพในห้องดับจิตของโรงพยาบาล Beaujon วิเคราะห์ใบหน้ามนุษย์ของผู้ป่วยที่กำลังจะตาย และยังตัดสินใจยืมหัวที่ถูกตัดมาจากโรงพยาบาลจิตเวชกลับมาที่ทำงานของเขาเพื่อศึกษาการเสื่อมสภาพของร่างกายมนุษย์ ทั้งยังคัดลอกผลงานสำคัญของจิตรกรคนอื่นๆ เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจจากนั้นจึงร่างภาพด้วยสีน้ำและสีน้ำมัน
ภาพร่างแพเมดูซา ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Raft_of_the_Medusa
คุณสมบัติของภาพแพเมดูซานั้นครบถ้วนตามลักษณะของศิลปะแนวโรแมนติกด้วยลักษณะการวาดภาพที่มีความต่างของสีและเเสงสูง ทั้งยังสื่ออารมณ์ของภาพออกมาได้อย่างดี ศิลปินยังวาดภาพแพเมดูซาบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่แม้เรื่องราวและเนื้อหาของภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือวีรบุรุษอย่างการวาดที่นิยมกันในขณะนั้นก็ตาม
ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเจริโกต์ไม่ได้รับเงินสนับสนุนให้วาดภาพนี้ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจพรรณนาถึงโศกนาฏกรรมได้อย่างอิสระตามความต้องการของเขาเอง ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นผลงานชิ้นแรกที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคม และรัฐบาลได้อย่างละเอียดอ่อน แสดงให้เห็นว่าศิลปินสามารถใช้เสียงของตนยกระดับสังคมได้หากว่าเขาต้องการ
-ซับศิลป์-
1
ที่มา
https://www.artchive.com/artwork/the-raft-of-the-medusa-theodore-gericault-1818-1819/
https://www.widewalls.ch/magazine/the-raft-of-the-medusa
https://artincontext.org/the-raft-of-the-medusa-theodore-gericault/
https://smarthistory.org/theodore-gericault-raft-of-the-medusa/
4 บันทึก
6
1
4
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย