4 ก.ย. 2023 เวลา 06:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

จากภาพร่างยางยืดสู่กายเนื้อมนุษย์ : อ.เออิจิโร โอดะ กับการดัดแปลงซีรีส์One Piece

หนึ่งในมังงะแห่งยุคที่ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่จบลง และตัวรูปเล่มรวมก็ขึ้นถึงหลักร้อยไปแล้ว สำหรับ One Piece ผลงานมังงะชิ้นล่าสุดของ อ.เอจิริโร โอดะ ซึ่งจำกัดความคำว่าล่าสุด มันก็หมายถึง การที่ อ.โอดะ เริ่มเขียนและวาดผลงานมาตั้งแต่ปี 1997 และก็เป็นเวลากว่า 26 ปี ที่การผจญภัยของผองเพื่อนแก๊งโจรสลัดหมวกฟาง นำโดย มังกี้ ดี. ลูฟี่ ยังคงดำเนินไป และมันก็ได้ระหกระเหินมายังพรมแดนใหม่ อย่างการเป็นซีรีส์คนแสดง ภายใต้ชายคาของ Netflix
และหลังจากการประกาศดัดแปลงมังงะมาสู่รูปแบบ “คนแสดง” มันก็ย่อมมาพร้อมความคาดหวังจากทั้งแฟน ๆ ที่ติดตามมาอย่างยาวนาน ว่าภาพร่างและภาพวาดบนหน้ากระดาษ จะถูกถอดแบบตีความ ให้กลายมาเป็นกายเนื้อบนจอสตรีมมิ่งได้อย่างไร
โครงการซึ่งถูกประกาศมาตั้งแต่ กรกฎาคม 2017 โดยบรรณาธิการของนิตยสารมังงะรายสัปดาห์ Weekly Shōnen Jump อย่าง ฮิโรยูกิ นาคาโนะ แถลงว่า Tomorrow Studios จะผนึกกำลังกับ Shueisha เพื่อเริ่มงานสร้างซีรีส์คนแสดง One Piece โดยโปรดักชั่นอเมริกัน เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการตีพิมพ์มังงะ และมันก็เริ่มเปิดกล้องถ่ายทำในเดือนมีนาคม 2021 ในเมือง เคปทาวน์ เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้
หลังการประกาศ จนถึงการถ่ายทำ ที่ถูกคั่นด้วยภาวะโควิด ก็เป็นเวลาเกือบ ๆ 7 ปี ที่ในที่สุดซีรีส์คนแสดง One Piece ก็ได้ออกสู่สายตาคนทั่วโลก ซึ่งก็มาพร้อมกระแสตอบรับ ที่บ้างก็ว่าเป็นการดัดแปลงที่ซื่อตรงต่อมังงะต้นฉบับ บ้างก็ว่าเป็นการดัดแปลงจากมังงะที่ดีที่สุด
แต่ท่ามกลางการตอบรับความคาดหวังมากมายของแฟน ๆ โจทย์แรกที่ผู้สร้างของซีรีส์อย่าง แมตต์ โอเวนส์ และ สตีเวน เมดะ ต้องเผชิญ กลับไม่ใช่แค่การต้องทำงานเพื่อตอบรับความคาดหวังแฟน ๆ เท่านั้น แต่ต้องทำเพื่อให้ อ.เอจิริโร โอดะ พึงพอใจด้วย
การเป็นผลงานมังงะชื่อดัง ก็ย่อมตกเป็นโจทย์ของสื่อแขนงอื่น ในการหยิบลิขสิทธิ์ไปดัดแปลงให้กลายเป็นสื่อรูปแบบอื่น ๆ ทั้งอนิเมะซีรีส์ ภาพยนตร์แอนิเมชั่น จนมาถึงภาพยนตร์คนแสดง ซึ่ง One Piece ของอ.โอดะ เอง ก็ถูกหยิบไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันมูฟวี่หลายครั้ง แต่การดัดแปลงเป็นซีรีส์คนแสดง ก็เป็นความท้าทายหนึ่งเช่นกัน
ซึ่งสำหรับ อ.โอดะ ก็ตระหนักและตั้งเป้าหมายว่า การดัดแปลงไม่อาจจะคัดลอกเนื้อหาทุกอย่างจากต้นฉบับได้ แต่มันต้องรักษาไว้ซึ่งแก่นหัวใจของเรื่อง ซึ่ง อ.โอดะ ก็ยอมรับว่า ความรักที่แฟน ๆ มีต่อตัวละครคือปัจจัยสำคัญในการดัดแปลง
“การสร้างซีรีส์คนแสดงจากการดัดแปลงมังงะ ไม่ได้เป็นแค่การจำลองเนื้อหาจากตัววัตถุดิบดั้งเดิมแบบหนึ่งต่อหนึ่งเท่านั้น มันเกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้ถี่ถ้วน ถึงสิ่งที่แฟน ๆ รักในตัวละครและเคมีระหว่างตัวละครเหล่านั้น และยังคงซื่สัตย์กับองค์ประกอบเหล่านั้น”
“การเป็นซีรีส์คนแสดงที่ดี ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเรื่องราวให้มากเกินไป สิ่งสำคัญสุดคือ การที่นักแสดงจะสามารถถอดแบบตัวละคร ในวิถีทางที่จะทำให้แฟนที่อ่านมังงะพึงพอใจได้หรือไม่ และผมคิดว่า พวกเขาทำได้ดี และผมหวังว่าผู้ชมจะยอมรับมัน” – อ.โอดะ กล่าว
แต่อย่างไรก็ดี ในตอนแรกที่ อ.โอดะ เริ่มเขียน เขาก็คิดด้วยว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่มังงะ One Piece จะถูกนำมาสร้างให้กลายเป็นรูปแบบคนแสดงได้ เพราะถึงเรื่องราวจะเป็นธีมโจรสลัดผจญภัยในโพ้นทะเล มันก็เต็มไปด้วยความแฟนตาซีเหนือจริง อย่างเช่น พลังของลูฟี่ ที่ได้รับมาจากผลปิศาจอย่าง โกมุโกมุ ที่แปรเปลี่ยนร่างกายให้กลายเป็นยางยืด
แต่ ความคิดของอ.โอดะก็เปลี่ยนไป หลังในปี 2001 เขาได้ชมหนังสัญชาติฮ่องกง นำแสดงโดย โจว เหวินฟะ และ อู๋ ม่งต๊ะ อย่าง Shaolin Soccer หรือ นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ ที่ผสมผสานแนวกีฬาฟุตบอล เข้ากับแนวทางตลกเหนือจริงได้เป็นธรรมชาติ จนทำให้เขาเริ่มคิดได้ว่า หนทางที่จะดัดแปลง One Piece ให้กลายเป็นหนังหรือซีรีส์คนแสดงนั้น “มีอยู่จริง”
“ณ ตอนที่ผมเริ่มวาด ผมไม่คิดด้วยซ้ำว่า จะมีสักตอนไหนในมังงะที่สามารถเอามาสร้างใหม่ ให้กลายเป็นรูปแบบคนแสดงได้ จนกระทั่งผมได้ดู “นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่” และมันรู้สึกเหมือนเอาความการ์ตูนให้กลายเป็นความจริง ผมจึงเปลี่ยนใจ และตระหนักได้ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยน เพราะมันมีทั้งเทคโนโลยีที่สามารถทำให้ “วันพีซ” เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ผมจึงเปลี่ยนมาเฟ้นหาพันธมิตรที่เหมาะสม ในการดัดแปลงมังงะให้กลายเป็นจริง” – อ.โอดะ กล่าว
ซึ่งหลังจากโครงการซีรีส์คนแสดง One Piece เริ่มเดิน ความยากอีกอย่างก็คือ การดัดแปลงเนื้อหาในช่วงแรกจากมังงะ อย่างเส้นเรื่องของภาค “East Blue” ที่มีตั้งแต่ การผจญภัยในเมืองเชลล์ทาวน์, เมืองออเรนจ์ทาวน์, หมู่บ้านไซรัป, ภัตตาคารกลางน้ำ บาราติเอ้ และ อาลองปาร์ค ที่ตามมังงะแล้ว กินความยาวถึง 11 เล่ม แต่ต้องถูกขมวดรวมลงในซีรีส์คนแสดงความยาวทั้งสิ้น 10 ตอน ตามแผนดั้งเดิม
โดย อ.โอดะ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงอำนวยการสร้าง หรือเป็นที่ปรึกษาด้านสร้างสรรค์หลัก เท่านั้น หากแต่เขายังยืนยันด้วยตัวเองว่า เขาทำตัวเป็นเหมือน “สุนัขเฝ้ายาม” เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เนื้อหาต้องถูกดัดแปลงในทิศทางที่ถูกต้อง และถึงแม้มันจะล่วงเลยไปถึงขั้นถ่ายทำแล้ว แต่หากเขาไม่พึงพอใจ ทีมงานก็ต้องรีบกลับไปถ่ายซ่อมเพื่อทำให้มันออกมาดีกว่าเป็นที่พึงพอใจสำหรับอ.โอดะ
“มีมังงะหลายเรื่องที่ดัดแปลงเป็นรูปแบบคนแสดง แต่มันก็เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของความล้มเหลว และแทบไม่มีใครในญี่ปุ่น สามารถยกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยซ้ำ แล้วแฟนของ “วันพีซ” หรือคนดูที่ไม่เคยอ่านมังงะ จะยอมรับมันไหม? ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องตอบคำถามนั้น แต่ก็โชคดีที่ Netflix ตกลงว่า พวกเขาจะปิดงานก็ต่อเมื่อ ผมยินยอมว่า ผมพึงพอใจกับชิ้นงานแล้ว”
“ผมจึงอ่านบท ส่งโน้ตติชมให้ ทำตัวเสมือนดั่งสุนัขเฝ้ายาม เพื่อทำให้มั่นใจว่า วัตถุดิบจะดัดแปลงออกมาในทิศทางที่ถูกต้อง”
“แต่หลังจากการถ่ายทำเสร็จสิ้น มันก็หลายฉากที่ทางทีมงานตกลงปลงใจ จะกลับไปถ่ายซ้อม เพราะผมรู้สึกว่า มันดีไม่พอกับโลกของเรื่องนั้น แต่ในอีกแง่นึง มันก็มีบางประโยคของบทสนทนา ที่ผมรู้สึกว่า ‘นี่ไม่ใช่ลูฟี่’ บนกระดาษ จนกระทั่งผมได้ดูฉากที่ถ่ายทำมาและรู้สึกว่า ‘มันออกมาเจ๋งทันที ที่อิญญากิ แสดงเป็นลูฟี่ และเอาจริง ๆ มันได้ออกมาดีด้วย!!’ และมันยังมีอีกหลายสิ่ง ที่ต้องกลับไปแก้ไข เพื่อให้ทุก ๆ อย่างออกมาดูไม่เหนือจริงจนเกินไปในรูปแบบซีรีส์คนแสดง” – อ.โอดะ กล่าว
ด้านหนึ่งในผู้กำกับ ฯ สองตอนของซีรีส์ “Tell No Tales” และ “The Pirates Are Coming” อย่าง เอ็มมา ซัลลิแวน ซึ่งเคยมีประวัติในการกำกับซีรีส์ขึ้นชื่ออย่าง Doctor Who มาแล้ว ก็ยืนยันในขั้นตอนการทำงานที่มีข้อจำกัดดังกล่าว ที่ว่าแทบทุกอย่างต้องผ่านตาของอ.โอดะ ก่อนตลอดเวลา
เช่น ในฉากย้อนอดีตของโซโร ที่ตามบทดั้งเดิม คุอินะกับโซโรวัยเด็ก ต้องใส่หน้ากากเคนโดสู้กัน แต่ก็เป็น อ.โอดะ ที่ได้ดูฟุตเทจตามที่ได้ถ่ายตามบทมานั้น และต้องการให้ถ่ายซ่อมฉากสู้นี้ใหม่ “โดยไม่มีหน้ากากเคนโด”
“เพราะทุกอย่างต้องผ่าน โอดะ ก่อนเสมอ ยกตัวอย่าง ชั้นมีฉากนึง เป็นฉากที่คุอินะกับโซโรวัยเด็กต่อสู้กัน และเราถ่ายตามบทแบบเดิม จน โอดะ ได้ดู และเขาพูดว่า ‘ผมไม่อยากให้ใส่หน้ากากเคนโด้ ผมอยากให้ถ่ายซ่อม’ ดังนั้น เราเลยกลับไปที่เมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ และถ่ายแก้กันใหม่ และมันก็ดีขึ้น มันดีขึ้นจริง”
“ดังนั้นทุกอย่างต้องผ่านเขา มันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่แสนจะสร้างสรรค์อย่างเหลือเชื่อ ฉะนั้น คุณจะต้องพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ทุกอย่างออกมาดีสมคุณค่าของมัน ซึ่งคุณจะค้นพบวิธีการเล่าเรื่องทางด้านภาพที่งดงามที่สุดที่คุณเจอ แต่ขณะเดียวกัน คุณจะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่ซีรีส์ได้วางไว้” – ซัลลิแวน กล่าว
แต่การดุลเนื้อหา ก็อาจจะยากพอ ๆ หรือไม่เท่ากับการคัดเลือกนักแสดงมารับบทเป็นตัวละครใน One Piece โดยเฉพาะการเฟ้นหาตัวละคร ที่จะมารับบทนำเป็น มังกี้ ดี. ลูฟี่ ที่มาพร้อมอุปนิสัยร่าเริง รักสนุก มองโลกในแง่ดี และมาพร้อมความทะเยอทะยานที่ยวดยิ่ง
จนกระทั่ง พวกเขาได้พานพบกับ อิญญางิ โกดอย นักแสดงหนุ่มวัย 20 ปี สัญชาติเม็กซิกัน ที่มีงานแสดงระดับนานาชาติคือ ซีรีส์ Who Killed Sara? และ The Imperfects ทาง Netflix แต่เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมยิ่งสำหรับลูฟี่ สำหรับการแสดงที่แสนเป็นธรรมชาติ จน อ.โอดะ สามารถแนะนำทิศทางการแสดงของลูฟี่ฉบับคนแสดงได้
“ผมคิดว่า ความท้าทายใหญ่สุด คือการตามหาใครสักคนมาเล่นเป็นลูฟี่ ผมไม่ได้คาดไว้ว่าจะเจอใครสักคนแบบ อิญญางิ โกดอย ณ ตอนที่ผมสร้างตัวละครลูฟี่ ผมวาดให้เขาเป็นเด็กที่กระตือรือร้นสุดเท่าที่ผมจะคิดออก เป็นเด็กที่ภายนอก แต่ภายในไม่ได้ธรรมดาขนาดนั้น ซึ่ง อิญญางิ ก็เป็นเฉกเช่นที่ผมวาดไว้เลย แถมเขายังเป็นธรรมชาติมาก”
“ก่อนที่ผมจะได้เห็นคัตแรกของซีรีส์ โน้ตส่วนมากของผม มักจะเกี่ยวกับว่า ในมังงะ ลูฟี่ทำตัวยังไง แต่หลังได้เห็นการแสดงของอิญญางิ ผมก็สามารถที่จะเปลี่ยนไปติชมในส่วนที่ว่า ลูฟี่ต้องแสดงแบบไหนในฉบับคนแสดง”
ด้านผู้กำกับ ฯ มาร์ค จอบสท์ ที่มีเครดิตในมืออย่างการกำกับซีรีส์ Daredevil, Luke Cage และ The Witcher ถูกไว้วางใจให้รับหน้าที่กำกับสองตอนแรกอย่าง “Romance Dawn” และ “The Man in the Straw Hat” ก็พูดถึงความสำคัญในการคัดเลือกนักแสดง ที่ต่างมีบุคลิกที่โดดเด่นและแตกต่างกันอย่างน่าจดจำ
รวมถึงมันจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายซีรีส์ฉบับคนแสดงนี้ได้เลยว่า ผู้ชมจะสามารถหลงใหลและติดตามไปกับเนื้อหาซีรีส์ทั้งหมดได้หรือไม่ หากคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมพอมารับบท หากแต่การรับบทในฉบับคนแสดงนี้ ตัวละครเหล่านั้นจะต้องถูกปรับให้อยู่บนฐานความจริง และมีความเป็นมนุษย์มากพอจะเชื่อมถึงใจถึงคนดู
“คือคุณจะเพรียบพร้อมไปด้วย งานสร้างที่เลิศหรูและเทคนิคน่าตื่นตามากมายก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่มีการแสดงที่ตราตรึงไว้อยู่ในเฟรมภาพของคุณ ใครจะสนล่ะ? ดังนั้น ผมรักนักแสดง ผมชอบที่จะได้ทำงานกับนักแสดง รวมถึงฝ่ายคัดเลือกนักแสดงด้วย”
“เราทุกคนต่างรู้ว่า ชะตากรรมของซีรีส์จะขึ้นอยู่กับที่เราจะสามารถหานักแสดงที่เหมาะสมได้หรือไม่ เวลา 9 เดือนจึงหมดไปกับการเฟ้นหานักแสดงทั่วทั้งโลก เราพบนักแสดงมากกว่าพันคน ที่ซึ่งเรากำลังหาบางอย่างที่มีความเฉพาะตัว เราต้องการนักแสดงที่มีทั้งหัวใจ มิติ และอารมณ์ขัน”
“แต่สิ่งที่สำคัญคือ ในซีรีส์ที่มีการสร้างโลกเบื้องหลัง มันง่ายดายที่จะทุ่มเวลาและงบไปกับการสร้างโลกเหล่านั้น แต่สำหรับผม ผู้ชมไม่ตกหลุมรักในฉากหรือสถานที่ พวกเขาตกหลุมรักผู้คน ดังนั้น ถ้าคุณคัดมาถูกและทำให้นักแสดงสวมบทเล่นเป็นตัวละครนั้นที่ผู้ชมใส่ใจ และทำให้พวกเขาเชื่อได้อย่างสนิทใจ ให้อยู่บนฐานความจริง มีชีวิตชีวา และมีความเป็นมนุษย์ จากนั้น คุณจะตรึงผู้ชมไว้ได้อยู่หมัด”
“พวกเขาจะใส่ใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครนั้น รวมถึงภาวะวิกฤตกับความสัมพันธ์ที่พวกเขามี“
ขณะที่ปัจจุบัน มังงะก็ได้ตีพิมพ์มากว่าพันตอนแล้ว แต่ อ.โอดะ ก็ไม่เคยวาดฝันด้วยซ้ำ ว่าการผจญภัยมหากาพย์โพ้นทะเลจะยาวนานถึงเกือบสามทศวรรษ หากแต่ ตัวละครทั้งหมดที่พวกเขาสร้างสรรค์ มันได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง จากเป็นภาพร่างบนหน้ากระดาษ กลับสานต่อเรื่องราวมาอย่างยาวนาน มีฐานแฟนคลับที่ต่างหลงรักตัวละครเหล่านั้น และบัดนี้มันก็กำลังโลดแล่นอยู่ในสภาพกายเนื้อมนุษย์ตัวเป็น ๆ ในฐานะ ซีรีส์คนแสดง One Piece
และแม้ทุกอย่างจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ที่ อ.โอดะ ก็ต่างตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ของซีซั่นสองไม่แพ้กับแฟน ๆ เพราะมัน น่าจะพร้อมการผจญภัยอีกมากมาย ที่รออยู่ในรูปแบบคนแสดง
“ผมไม่คิดด้วยซ้ำว่า “วันพีซ” จะมาไกลขนาดนี้ ณ ตอนแรก ผมจินตนาการไว้ว่า มันอาจจะกินเวลาสักห้าปีด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็นมังงะเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ต่อเนื่อง จนผมค้นพบว่า ขณะที่ผมยังคงเขียนไป เหล่าตัวละครกลับดำรงชีวิตตามวิถีของพวกเขาเอง และก่อนที่ผมจะรู้ตัว พวกเขาก็ขีดเขียนเรื่องราวให้กับผมแทน และมันก็ยังคงดำเนินไปเฉกเช่นนั้น” – อ.โอดะ กล่าวทิ้งท้าย
สามารถรับชมซีรีส์คนแสดง One Piece ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix ครับ
ที่มา : The New York Times / Screen Rant / The Hollywood Reporter / Netflix Geeked
โฆษณา