4 ก.ย. 2023 เวลา 04:05 • ความคิดเห็น
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "ร้านอาหาร ยังไงก็ขายได้" แต่เราก็ยังพบเห็นข่าวคราวการปิดตัวของร้านอาหารอยู่เนืองๆ ต้องยอมรับว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่คืนทุนไวโดยธรรมชาติ เพราะต้นทุนคงที่ไม่สูงเหมือนธุรกิจอื่นๆ ระยะเวลาคืนทุนจึงสั้นกว่า ที่เหลือก็เพียงแต่บริหารกระแสเงินสด และเฝ้ารอโอกาสการขยับขยายธุรกิจ
เจ้าของร้านตัวจริงที่คลุกคลีมากับร้าน จะทราบดีว่า ต้องบริหารวัตถุดิบเพื่อให้มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยการคาดการณ์ปริมาณที่คาดว่าจะขายได้ในแต่ละวัน เพราะหากวัตถุดิบเกิดเน่าเสีย มันจะถูกคำนวณกลับมาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย และก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการจัดเก็บให้คงความสดใหม่ ซึ่งจะตามมาด้วยต้นทุนแฝง อาทิค่าเสื่อมฯเครื่องทำความเย็น ค่าไฟเพื่อเดินเครื่องทำความเย็น ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องทำความเย็น นี่คือความละเอียด ที่เจ้าของร้านมักละเลยมากถึงมากที่สุด หลังจากคุยโวเรื่องยอดขายอยู่ไม่นาน ร้านก็ปิดตัวลงในที่สุด
ทั้งหมดที่กล่าวมา ยังไม่ได้พูดถึงการแยกกระเป๋าร้าน ออกจากกระเป๋าส่วนตัวของเจ้าของร้าน การบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายพนักงานร้าน แม่ครัว ผู้ช่วยแม่ครัว พนักงานเสริ์ฟ พนักงานล้างจาน และ/หรือบาร์เทนเดอร์ ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์กับแหล่งวัตถุดิบ ที่ซื้อขายให้เครดิตกันอยู่ประจำ
คงต้องถามเจ้าของกระทู้ว่า หลังบ้านของคุณดีพอหรือยัง เพราะมันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกระตุ้นยอดขาย และคำว่าศก.แบบนี้ คือศก.แบบไหน "ในความรู้สึกของคุณ" การกระตุ้นยอดขาย ไม่ได้หมายถึงเพียงสร้างยอดขาย ผ่านจำนวนลูกค้า แต่มันควรหมายถึง ลูกค้าชั้นดีกระเป๋าหนัก ที่จะไม่ทำให้คุณวิ่งวุ่นจนเหนื่อยฟรี แต่หากลูกค้าชั้นดีหายไป คุณมีหน้าที่ต้องทำให้เขากลับมา ด้วยความรู้สึกว่า คุ้มค่าทั้งรสชาติ วัตถุดิบ และการบริการ แถมยังได้ "อะไรที่พิเศษในความรู้สึก" อีกด้วย
เราอาจไม่ตอบตรงไปตรงมา คุณอาจไม่ถูกใจในคำตอบ
แต่คุณต้องตระหนักไว้ว่า ไม่มีคำตอบใดที่ตายตัว
เพราะลูกค้าของคุณคือมนุษย์
ที่มีการเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึกเป็นรายวินาที
ซึ่งหมายความว่า คุณต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา
โฆษณา