4 ก.ย. 2023 เวลา 04:24 • ปรัชญา

กายวิภาคของความอิจฉา ตอนที่ 1

เราหลายคนคงเคยรู้สึกปวดใจไม่มากก็น้อยเวลาที่เห็นเพื่อนหรือคนใกล้ตัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายกว่าเรา.
หรือการได้รู้ว่าเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ทำงานดีเด่นไปกว่าเราเลยได้รับเงินเดือนมากกว่าเราก็อาจทำให้เรารู้สึกร้อนใจได้.
แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเช่นเวลาไปกินข้าวกับเพื่อน, แล้วอาหารจานที่เพื่อนสั่งดูน่ากินกว่าหรืออร่อยกว่าจานที่เราสั่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกปวดใจเบาๆ ได้.
บทความนี้ชวนท่านผู้อ่านมาสำรวจและชำแหละความปวดใจในสถานการณ์เหล่านี้, ซึ่งเรารู้จักมันในนามของ “ความอิจฉา”.
เป็นที่ชัดเจนว่า ความอิจฉาเกิดขึ้นเมื่อเราเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่น, ซึ่งจะต้องมีลักษณะหรือมีอะไรบางอย่างที่ดีกว่าเรา, สูงกว่าเรา, หรือมีโอกาสมากกว่าเรา.
ความรุนแรงของความอิจฉาขึ้นอยู่กับว่าเราเปรียบเทียบตัวเราเองกับใครและเรากับคนเหล่านั้นมีความแตกต่างหรือช่องว่างมากน้อยเพียงใด. ยกตัวอย่างเช่น, การที่หัวหน้าของเราได้เลื่อนเงินเดือนไม่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดเท่ากับการที่เพื่อนร่วมงานในตำแหน่งเดียวกันกับเราได้เลื่อนเงินเดือน; แต่เราไม่ได้เลื่อน.
เราจะเห็นได้ว่า การเปรียบเทียบเป็นเชื้อไฟสำคัญของความรู้สึกอิจฉา. นักเขียนชื่อดังอย่างมาร์ค ทเวนเคยเขียนเตือนเกี่ยวกับการเปรียบเทียบไว้อย่างคมคายว่า “การเปรียบเทียบคือความตายของความสุข.”
นอกจากนี้, สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอิจฉามักจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถได้มาง่ายๆ และเราจะยิ่งร้อนใจเท่าทวีหากสิ่งนั้นตกไปอยู่กับผู้ที่ไม่สมควรจะได้รับหรือครอบครองสิ่งนั้น. เช่น, เพื่อนร่วมงานของเราได้รับเลือกให้ทำโปรเจคท์ที่คนทั้งแผนกต่างแย่งชิงมาทำ (สิ่งที่ได้มายาก) และคนทั้งแผนกก็ทราบดีว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้ทำงานไม่เอาไหนเลย (ผู้ที่ไม่สมควรจะได้รับสิ่งที่ได้มายากนั้น).
เรารู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ต่อไปนี้: เราซื้อล็อตเตอรี่มาทั้งชีวิต, ยังไม่เคยถูกรางวัลเกินหลักพันเลย. แต่เพื่อนสนิทของเราซื้อครั้งแรกกลับถูกรางวัลที่หนึ่งสิบสองใบ!
ความรู้สึกนี้แหละคือความอิจฉา!
เพื่อนรักของเราถูกหวย, เป็นเรื่องที่ดีสำหรับชีวิตเพื่อน, เราควรจะยินดีกับเพื่อนมิใช่หรือ? ในความเป็นจริงก็ไม่เสมอไปหรอกครับ. เราสามารถรู้สึก “เสียใจในเรื่องดีๆ ของคนอื่น” ได้, ซึ่งเป็นนิยามความอิจฉาของนักบุญธอมัส อะไควนัส, นักบวชและนักปรัชญายุคกลาง. เขายังเตือนเราไว้อีกด้วยว่า ความอิจฉา, หากลุกลามรุนแรง, อาจนำไปสู่ความริษยาซึ่งบันดาลให้เราทำร้ายคนอื่น.
อาเธอร์ โชเป็นฮาวเออร์, นักปรัชญาเยอรมัน, ก็กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันว่า คนเราจะรู้สึกถึงความไม่สมบูรณ์หรือข้อบกพร่องของตัวเองอย่างทุกข์ระทมใจมากยิ่งขึ้นเมื่อได้มองเห็นความสุขและสิ่งที่ผู้อื่นมีในครอบครอง.
โปรดติดตาม กายวิภาคของความอิจฉา ตอนต่อไป.
ติดต่อบรรยายปรัชญา, วิทยาศาสตร์, และการคิดวิเคราะห์ได้ทาง inbox หรือ e-mail: ranadetevada@hotmail.com.
สั่งหนังสือได้ทาง inbox.
ขอบพระคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจและสนับสนุนครับ.
โฆษณา