4 ก.ย. 2023 เวลา 04:33 • ธุรกิจ

ว่าด้วยเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปังชา

โดย สมรลักษณ์ แจ่มแจ้ง
ข่าวปังช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของปังชา ที่ร้านน้ำแข็งไสใส่ชาไทยร้านใหญ่ยื่นโนติซไปยังร้านเล็กที่มีเมนูทำนองเดียวกันและมีชื่อร้านเป็นเมนูนั้น (ปังชา) ว่าห้ามใช้คำนี้ มันละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ของฉัน ต้องจ่ายค่าละเมิดมานะ มาแบบนี้ก็แน่นอนว่าความปังต้องบังเกิดในยุคโลกโซเชียลเช่นนี้ ทัวร์พร้อมลงทันที จนร้านใหญ่ต้องรีบออกมาแก้ข่าวว่ามีการสื่อสารผิดพลาด เรื่องก็เหมือนจะเอวังก็ด้วยประการฉะนี้ แต่ผู้คนก็ยังมีความงงงวยสับสนกับเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งซับซ้อนและยากที่จะตีความหรือเข้าใจ
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เคสแรกที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไล่ฟ้องผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ หลายคนน่าจะยังจำกันได้ว่าครั้งหนึ่งในประเทศไทยก็เคยมีเคสของร้านกาแฟชื่อดังกล่าวหาผู้ประกอบการรายหนึ่งว่าละเมิด เครื่องหมายการค้า (สตาร์บัคส์ vs สตาร์บัง ซึ่งจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย
ปัจจุบันสตาร์บังเปลี่ยนโลโกและชื่อร้านเป็น O.K. STAR BUNG) การไล่ฟ้องผู้ประกอบการรายอื่นว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานี้ใช่ว่าจะมีแค่บ้านเรา ในต่างประเทศก็มี แต่ละเคสนั้น สาระสำคัญก็แตกต่างกันไป ฟ้องกันไป ฟ้องกันมา แพ้คดีบ้าง ชนะคดีบ้าง แล้วแต่หลักฐานที่นำมาสู้กัน
กลับมาที่ปังชา เคสนี้เกิดจากความไม่เข้าใจสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ตนมี โดยกรณีนี้เป็นเรื่องของเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง 3 ประเภทนี้แตกต่างกันในสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองและสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา
ทรัพย์สินทางปัญญามีหลายประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร (สิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ อนุสิทธิบัตร) แบบผังภูมิของวงจรรวม เครื่องหมายการค้า (เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายร่วม เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง) ความลับทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และการคุ้มครองพันธุ์พืช
หลายคนมักใช้คำว่า “ลิขสิทธิ์” กับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทมีลักษณะความคุ้มครองและสิทธิแตกต่างกัน ดังนั้นการเข้าใจในลักษณะของทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้รู้ว่าเรามีสิทธิแค่ไหน อย่างไร
ในกรณีนี้ ปังชาได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในภาพของเครื่องหมาย "ปังชา" ไม่ใช่คำว่า ปังชา เนื่องจากคำว่า ปังชา เป็นคำสามัญสำหรับขนมหวาน ใช้บรรยายขนมหวานน้ำแข็งใส่ขนมปังราดชาเย็น ผู้ขายขนมหวานรายอื่น ๆ ก็สามารถบรรยายขนมหวานประเภทนี้ของตนว่า “ปังชา” ได้ กฎหมายจึงไม่ให้เจ้าของเครื่องดื่มและขนมหวานเจ้าใดเจ้าหนึ่งเป็นเจ้าของคำนั้น ๆ และให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าเฉพาะภาพเครื่องหมาย "ปังชา" โดยให้สละสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้คำว่า "ปังชา"
พูดง่าย ๆ ก็คือ ใคร ๆ ก็ใช้คำว่า "ปังชา" ได้ แต่ห้ามเลียนแบบภาพเครื่องหมาย "ปังชา"
มาถึงตรงนี้หวังว่าผู้อ่านจะพอเข้าใจและเห็นภาพเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ชัดเจนขึ้น แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจยาก เอาเป็นว่าถ้าหากได้รับจดหมายแจ้งว่าคุณกำลังละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของใครเขาอยู่ ก็อย่าเพิ่งตกใจแล้วรีบโอนเงินไปเพื่อให้เรื่องจบเด็ดขาด
หายใจเข้าลึก ๆ แล้วค่อย ๆ พิจารณาว่าเขาอ้างสิทธิในผลงานใด เราได้กระทำการใดที่ไปเกี่ยวข้องกับผลงานที่อ้างมาหรือไม่ และผลงานนั้นได้รับการจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือยัง (หากผลงานนั้นยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ก็พอให้ยิ้มได้นิดนึงว่ายังไม่ถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ณ ตอนนี้แน่นอน เพราะเขายังไม่มีสิทธิ แต่เขาสามารถยื่นจดหมายแจ้งให้เราหยุดกระทำการได้) และสุดท้าย ขอแนะนำให้ปรึกษากับผู้รู้จริงทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นดีที่สุด
เอกสารอ้างอิง
โฆษณา