Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
nothing but movie
•
ติดตาม
6 ก.ย. 2023 เวลา 08:58 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
อาคิระ คุโรซาว่า รำลึก 25 ปี การจากไปของอาจารย์ใหญ่นักทำหนัง
จากซันจิโร่ถึงยูชิดะ เริ่มต้นจากนักเรียนแล้วเกษียณด้วยวุฒิศาสตราจารย์
ยุคทองของหนังญี่ปุ่นนั้นรุ่งเรืองสุดขีดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในยุคทศวรรษที่ 1950 หลังจากญี่ปุ่นดาหน้าคว้ารางวัลในเวทีระดับโลกไม่เว้นแต่ละปี และเมื่อ Rashomon ได้รับรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลหนังเวนิซ 1951 และหนังญี่ปุ่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคว้ารางวัลระดับโลกอย่างต่อเนื่อง และตอกย้ำด้วยหนังในปี 1952 อย่าง Ikiru แล้วต่อด้วย Seven Samurai ปี 1954 ซึ่งถือว่าเป็น 3 ผลงานที่ทรงคุณค่าส่งอิทธิพลต่อวงการหนังโลกอย่างมาก
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรำลึกถึงคุโรซาว่าด้วยการบอกเล่าถึงหนัง 3 เรื่องดังเหล่านี้ รวมไปถึงหนังอย่าง The Hidden Fortress , Yojimbo ,Kagemusha รวมทั้ง RAN อีกแล้ว
คุโรซาว่าเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่รู้ว่าทำไมสื่อมวลชลถึงเรียกเขาว่า “จักรพรรดิ” หรือบ้างก็เรียกเขาว่าเป็นปรมาจารย์ เป็นอภิมหาผู้กำกับบ้าง แต่สำหรับตัวผมเองแล้วคิดว่าหากจะให้คำจำกัดความของคุโรซาว่าในโลกของคนทำหนังแล้ว คำว่า "อาจารย์ใหญ่ของนักทำหนัง" น่าจะเหมาะสมที่สุด
คำว่าอาจารย์ใหญ่ไม่ได้มาอย่างลอยๆ มื่อคำนึงว่าหนังเรื่องแรกที่คุโรซาว่ากำกับคือ Sugata Sanshiro ในปี 1943 เป็นหนังเพื่อความบันเทิง เต็มไปด้วยฉากต่อสู้ เป็นเรื่องราวของซันจิโร่อดีตคนลากรถที่พยายามเสาะหาอาจารย์สอนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของญี่ปุ่น
จนมาพบกับยาโนผู้เป็นปรมาจารย์ยูโด ยาโนเฝ้าอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ไม่เพียงแต่สอนทักษะการต่อสู้ หลักการใช้กำลัง แต่ยังสอนปรัชญาในการใช้ชีวิต การควบคุมตนเอง การเอาชนะจิตใจจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวซันจิโร่ จากเด็กหนุ่มเลือดร้อน มีเรื่องชกต่อยไปทั่ว กลายเป็นคนที่เข้าใจหลักเหตุผล หลักธรรมชาติ ตลอดจนปรัชญา สามารถดึงลูกศิษย์ให้กลายเป็นบัวพ้นน้ำได้
และในหนังเรื่องสุดท้ายเมื่อปี 1993 ของเขาก็คือ Madadayo คุโรซาว่าก็ปิดชีวิตการทำหนังของตนเองด้วยหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์อีกครั้ง ตลอดชีวิตการทำหนัง 5 ทศวรรษของคุโรซาว่า เขาทำหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับอาจารย์อยู่ 2 เรื่อง
นั่นก็คือหนังเรื่องแรกและเรื่องสุดท้าย เหมือนกับว่าชีวิตการเป็นผู้กำกับหนัง เขาเริ่มต้นจากลูกศิษย์ซึ่งก็คือซันจิโร และสิ้นสุดหน้าที่ครูกับศาสตราจารย์ยูชิดะใน Madadayo หนังทั้งสองเรื่องได้กำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นบทเปิดและปิดหน้าที่อาจารย์ใหญ่ของอาคิระ คุโรซาว่าจริงๆ
ชีวิตของคุโรซาว่านั้นน่าสนใจ เขาเกิดในครอบครัวซามูไรที่มีพ่อเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นและหัวทันสมัย คุโรซาว่าเป็นลูกคนที่ 7 เขาเติบโตขึ้นมาบนความคิดที่อยากเป็นจิตรกร แต่เมื่อได้ดูหนังเขาหลงใหลศิลปะแขนงนี้จนเบนเข็มความตั้งใจ ทั้งๆ ที่ฝีมือทางด้านจิตกรรมของเขานั้นไม่ธรรมดา เคยได้รับรางวัลจากการประกวดมากมาย
แต่เมื่อเปลี่ยนเป้าหมายมาสู่วงการหนัง คุโรซาว่าได้ทำลายภาพวาดของเขาทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดความวอกแวกในจิตใจ ซึ่งเขาบอกว่ามีสุภาษิตญี่ปุ่นที่ห้ามไม่ให้คนเราไล่จับกระต่าย 2 ตัว ไม่ฉะนั้นแล้วอาจจะจับไม่ได้เลยสักตัวก็ได้
คุโรซาว่าเริ่มต้นวงการหนังด้วยการทำงานให้กับสตูดิโอโตโฮ เขาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของคาจิโระ ยามาโมโตะซึ่งเปรียบเสมือนผู้ชี้แนะจนกระทั่งเขาได้รับโอกาสให้เป็นผู้กำกับหนังให้กับโตโฮ โดยงานเรื่องแรกที่เขาวางแผนนั้นไม่ได้สร้างเนื่องจากปัญหาการเซ็นเซอร์และงบประมาณ จนกระทั่งเขาได้อ่านโฆษณาในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับนวนิยายการต่อสู้ที่กำลังจะวางแผง นั่นก็คือเรื่องซันจิโร่ โดยเรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เน้นความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ยูโดกับลูกศิษย์
ตัวเรื่องรางนั้นยึดมาจากซามูไรตัวจริงที่มีในประวัติศาสตร์นั่นก็คือมิยาโมโต้ มุซาชิ จะเห็นได้ว่าเรื่องราวในซันจิโร่เหมือนกับมุซาชิราวกับถอดกันออกมา แต่สาระสำคัญจริงๆ ในหนังเรื่องนี้มันอยู่ที่การเรียนรู้มากกว่าการต่อสู้
ในตอนสุดท้ายฉากไคลแม็กซ์ที่ซันจิโร่จะต้องต่อสู้กับคู่ปรับนั้นลมพายุเมฆกรรโชกรุนแรง มันเป็นการแสดงเนื้อหาที่ตัวละครสามารถตกผลึกทางความคิดเกิดใหม่จากธรรมชาติ คุโรซาว่าใช้สภาพอากาศให้เป็นประโยชน์อย่างมากในหนังภาคแรกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่มีลมกรรโชกรุนแรง เมฆขาวที่ล่องลอยเหนือศรีษะคู่ต่อสู้อย่างบ้าคลั่ง เป็นฉากการต่อสู้ที่แสดงออกถึงหลักการทำหนังและแนวคิดปรัชญามนุษยนิยมที่จะโดดเด่นในงานยุคหลังสงครามของเขา
คุโรซาว่าปิดฉากในหนังซันจิโร่ในฉากแรกด้วยกล้องที่ทะลุทะลวงผ่านตลาดกลางเมือง มีทั้งรถลาก รถเทียมม้า ฝูงชนเอะอะเสียงดังจจนฟังไม่ได้ศัพท์ ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินลากเกี๊ยะพร้อมถุงผ้าในมือผ่าฝูงชนเข้าไปในตรอกแคบๆ เขาถามหญิงสาวข้างทางว่าทางสายแคบๆ นี้จะะพาไปสู่บ้านของอาจารย์นักสู้ที่เขาตามหาหรือไม่ มันอาจจะเป็นคำถามที่เหมือนกับคุโรซาว่าถามไถ่ตนเองก็เป็นได้ ในฐานะผู้กำกับหนังคุโรซาว่าอาจจะเป็นเช่นเดียวกับซันจิโรที่เดินเข้าไปในเมืองที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเต็มไปด้วยโอกาสทั้งสำเร็จและล้มเหลว
การเดินทางสู่ความเป็นลูกผู้ชายนักสู้ของซันจิโระสร้างความกังวลใจให้กับคณะกรรมการเซ็นเซอร์สื่อในช่วงสงครามระดับหนึ่ง ด้วยความที่ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับความรักชาติอย่างเต็มที่ตามแบบที่หนังที่ออกฉายในปี พ.ศ. 1943 ทำให้พวกเขาตัดสินใจตัดหนังออกไปราว 17 นาทีที่มองว่าเป็นปัญหา ในขณะที่ตราหน้าให้หนังเรื่องนี้พร้อมกล่าวหาคุโรซาว่า "เป็นหนังที่เหมือนอังกฤษ-อเมริกันมากเกินไป"
(เช่นเดียวกับซันจิโร มีหนังอีกเรื่องของคุโรซาว่าคือ The Idiot (1951) ก็ถูกตัดออกไปมากแต่เป็นฝีมือของสตูดิโอมิใช่การเซ็นเซอร์ ด้วยความที่พวกเขาไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่องในหนังถึงตัดออกไป โดยมีการใส่คำบรรยายแทรกเข้าไปในฉากที่หายไป)
เมื่อหนังออกฉาย Sugata Sanshiro ได้รับความนิยมในบ็อกซ์ออฟฟิศมากพอที่จะให้สตูดิโอสร้างภาคต่อในอีกสองปีต่อมา โดยคุโรซาว่าถูกบังคับให้สร้างฉากโฆษณาชวนเชื่อ ชันจิโรสู้กับนักชกอเมริกันแล้วเอาชนะไปได้อย่างง่ายดาย หนังภาค 2 ออกฉายในขณะที่ประเทศกำลังจะแพ้สงคราม ก่อนญี่ปุ่นถูกอเมริกาทิ้งปรมณูลงมาที่นางาซากิ และฮิโรชิมาเพียงสามเดือนเท่านั้น
.....................
ความสัมพันธ์ระหว่างคุโรซาว่าและสตูดิโอโตโฮ ต้องถือว่าลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด คุโรซาว่าเกิดจากโตโฮ ทั้งมีหนังที่ประสบความสำเร็จสูงและล้มเหลวร่วมกัน ส่วนทางด้านนักแสดงในช่วงต้น คุโรซาว่าใช้บริการของทาเคชิ ชิมูระ ดาราสิงห์เฒ่าที่เล่นหนังให้กับคุโรซาว่า 20 เรื่องจากหนังที่คุโรซาว่ากำกับทั้งหมด 30 เรื่อง และมีโตชิโร มิฟูเน่เข้ามาร่วมงานกันในช่วงปลายทศวรรษ 1940
แต่อาชีพผู้กำกับหนังของเขาเริ่มตกต่ำในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นของคุโรซาว่ากับดาราประจำคือ โตชิโร มิฟูเน่ ซึ่งในที่สุดก็ถึงจุดแตกหักหลังจาก Red Beard ออกฉายในปี 1965 เป็นจุดสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับและนักแสดงคู่บุญ ในขณะที่ระบบสตูดิโอของญี่ปุ่นเข้าสู่จุดวิกฤตสิ้นสุดของความยิ่งใหญ่ ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากโทรทัศน์ ขณะที่ในยุคนี้คุโรซาว่าได้สร้างบริษัทผลิตหนังของตนเองขึ้นมา คือ Kurosawa Production Company
วิกฤติในชีวิตของคุโรซาว่าเกิดขึ้นในยุคนี้ หลังจากได้รับเชิญให้ทำงานกำกับในฝั่งญี่ปุ่นของหนังสงคราม Tora! Tora!Tora! (1970) เขาถูกไล่ออกอย่างอัปยศเมื่อขัดแย้งกับผู้ผลิตชาวอเมริกัน จากนั้นมาลงทุนทำหนัง Dodes'ka-den ตั้งใจให้เป็นการกลับมาอีกครั้ง โดยเป็นการประกาศการเริ่มต้นใหม่ในอาชีพการงานของคุโรซาว่าด้วยการใช้สีสันที่จัดจ้านและการเล่าเรื่องที่พูดถึงชนชั้นล่างในสังคมญี่ปุ่น
แต่หนังเรื่องนี้ล้มเหลวและมีส่วนทำให้คุโรซาว่าพยายามปลิดชีวิตตัวเองในอีกหนึ่งปีต่อมา แต่ภาพจำที่โดดเด่นของ Dodes'ka-den คือท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้านราวกับระบายด้วยสีบนผืนผ้าใบ
ตลอดช่วงยุค 1970s คุโรซาว่าล้มเหลวในการหาเงินทุนสร้างหนังในญี่ปุ่น เขาทำ Dersu Uzala ในปี 1975 ด้วยเงินจากรัสเซัย และด้วยหนังของเขาทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อนักสร้างหนังในโลกตะวันตกที่เติบโตมาในยุค 1970 คุโรซาว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา มาร์ติน สกอร์เซซี สตีเวน สปีลเบิร์กและจอร์จ ลูคัส ในการหาเงินมาให้เขาได้ทำหนังอย่าง นักรบเงา Kagemusha Ran Akira Kurosawa's Dream และ Rhapsody in August
หนังในยุคนี้ 1980s ของเขาแสวงหาเงินทุนจากต่างประเทศ แต่ Madadayo ที่เปรียบเสมือนเพลงหงส์ของคุโรซาว่า ได้พาเขากลับคืนสู่สตูดิโอโตโฮที่ให้ดำเนิดเขาขึ้นมาในฐานะคนในวงการหนังและเป็นผู้กำกับในที่สุด พร้อมทั้งได้นำสิ่งต่าง ๆ มุ่งเป้าไปที่ผู้ชมในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น Madadayo ได้รับทุนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นและจัดจำหน่ายโดยโตโฮ สตูดิโอในบ้านเก่าของคุโรซาว่าเช่นเดียวกับ Sanshiro Sugata
Madadyo แปลว่ายังไม่ใช่หรือ Not Yet คำๆนี้เป็นเสียงร้องของศาสตราจารย์ยูชิดะ ที่ทุกปีในวันเกิดของเขา เหล่าลูกศิษย์ต่างร่วมกันจัดงานฉลองให้กับอาจารย์เป็นประจำทุกปีเสมือนงวานคืนสู่เหย้า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ศาสตราจารนย์ยูชิดะก็จะร้องเปล่งเสียงมาดาดาโยออกมาว่าปีนี้แกยังไม่ตาย ซึ่งตีความหมายได้หลายอย่าง
อย่างน้อยก้แทนคำของคุโรซาว่าที่ยังไม่ตายเขายังมีแรงทำงาน และ Madadayo มีความเป็นหนังส่วนตัวสูงของคุโรซาว่า ซึ่งเขาทั้งเขียนบท ตัดต่อ และกำกับ เนื้อเรื่องทั้งหมดตั้งอยู่ในโตเกียวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามตลอด 20 ปี
โดยเริ่มจากปี 1943 ศาสตราจารย์ยูชิดะผู้สอนภาษาเยอรมันและตัดสินใจเกษียณอายุราชการ เพื่อทุ่มเวลาให้กับงานเขียนหนังสืออย่างเต็มที่ ความสัมพันธ์ระหว่างยูชิดะกับนักเรียนเป็นมากกว่าครูกับอาจารย์แต่เป็นเหมือนบิดาและลูกที่มีทั้งความเคารพ ความนอบน้อม
ตลอดเวลากว่า 20 ปี เราจะติดตามยูชิดะ ภรรยาของเขารวมไปถึงนักเรียนเก่าผ่านการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมญี่ปุ่นเมื่อถึงงานเลี้ยงวันคืนสู่เหย้า ให้เห็นว่าสังคมญี่ปุ่นหลังสงครามเปลี่ยนไปอย่างไร ตลอดเวลาที่ผ่านไปยูชิดะต้องพบกับเหตุการณ์มากมายและนักเรียนของเขาก็จะคอยเป็นคนจัดแจงแก้ไขปัญหาให้กับอาจารย์
ในภาษาญี่ปุ่นนั้นคำว่าอาจารย์ Sensei มันเป็นมากกว่าครูที่สอนนักเรียน อาจารย์เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรค่าแก่การเคารพ และยูชิดะผู้อ่อนโยนเฉลียวฉลาด ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของคุโรซาว่าเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้รับเช่นกัน หนังมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน แต่คราวนี้คุโรซาว่าแสดงบทบาทของศาสตราจารย์สูงอายุ ซึ่งได้รับการดูแลด้วยความรักจากนักเรียนเก่าของเขา ซึ่งยืนยันว่าเขาได้สอนพวกเขา “บางสิ่งที่มากกว่าภาษาเยอรมัน” ในหลักสูตรของการศึกษาของพวกเขา
ยูชิดะเหมือนคุโรซาว่า เขาทรงภูมิ มีมุนุษยสัมพันธ์ มองเห็นความดีงานในตัวมนุษย์ ได้รับการนับถือ และเหล่าลูกศิษย์ก็พร้อมทุ่มเทเพื่ออาจารย์ เหมือนกับเช่นคุโรซาว่าได้รับ จะว่าไปแล้วเขาก็เปรียบเสมือนครูให้กับคนทำหนังรุ่นใหม่ จนเมื่อถึงยามอาภัพก็มีนักเรียนพร้อมสู้เพื่อครูของพวกเขา จนครูกลับมายืนได้อีกครั้งใน Kagemusha
Madadayo กลายเป็นหนังส่งท้ายคุโรซาว่าได้อย่างลงตัว ศาสตราจารย์ยูชิดะเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยในปี 1943 ปีเดียวกับที่ Sugata Sanshiro ออกฉาย เรื่องราวกินความจากนั้นไปกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุโรซาว่ารุ่งโรจน์ถึงขีดสุด ผ่านยุคหลังสงครามโลก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในหนังของคุโรซาว่ายุคหลังสงครามเสมอ เป็นช่วงที่คุโรซาว่าเริ่มทำหนังช่วงแรกๆ และเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามต้องถูกควบคุมโดยทหารอเมริกัน อันเป็นฉากหลังที่ติดอยู่ในใจของคุโรซาว่ามาโดยตลอด
ในบรรดาหนังที่มีฉากหลังร่วมสมัยของคุโรซาวะนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวพันกับญี่ปุ่นในยุคสงครามและหลังสงคราม ช่วงของการฟื้นฟูประเทศที่มีบาดแผลจากนิวเคลียร์และการทำลายล้างเป็นฉากหลังแสดงให้เห็นในหนังของเขาอยู่ตลอดเวลา การจบหนังเรื่องสุดท้ายของตนเองกับงานที่ย้อนไปในช่วงดังกล่าวมันจึงเป็นจังหวะของเหตุการณ์ที่พอดิบพอดี
เคยมีคนไปถามว่าทำไมคุโรซาว่าถึงทำ Madadayo เขาบอกว่าต้องการเล่าเรื่องของคนที่ยอดเยี่ยมและบริสุทธิ์ ซึ่งมีฉากหนึ่งในเรื่องที่ลูกศิษย์ของยูชิดะเรียกศาสตราจารย์ของเขาว่าเป็นเสมือนทองคำที่ปราศจากสิ่งอื่นมาเจือปน ซึ่งมันก็สะท้อนตรงไปสู่ตัวคุโรซาว่า เขาหนักแน่นในตนเองเหมือนทองคำที่ไร้สิ่งเจือปนเช่นกัน
เช่นเดียวกับ Sugata Sanshiro และ Dodes'ka-den กล้องแพนลงมาในช่วงเปิดตัวของ Sanshiro Sugata หรือท้องฟ้าที่ถูกขับเน้นด้วยสีฉูดฉาดราวภาพวาดของ Dodes'ka-den ในฉากจบของ Madadayo คุโรซาว่าใช้ภาพขนาดไกลเห็นเด็กกำเล่นซ่อนแอบ ตัดกับท้องฟ้าที่มีสีสันราวภาพวาด เด็กชายที่กำลังซ่อนแอบนั้น เขาเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ปรากฏเมฆที่ดูเหมือนการหมุนวนด้วยสีชมพูและสีเหลือง ภายใต้พระอาทิตย์ตกดินแบบเหนือจริง ราวกับว่ากล้องหลงใหลในความงามและความลึกลับของชีวิตเกินกว่าจะจากมันไป
คุโรซาว่าใช้กล้องแทนซันจิโรในตรอกเล็กเพื่อให้รู้สึกว่าชายหนุ่มแปลกหน้ากำลังเผชิญกับโลกใบใหม่ สีสันที่เกินจริงใน Dodes'ka-den เป็นเหมือนความหลงใหลในจิตกรรมอันเป็นรักแรกของงงานศิลปะที่คุโรซาว่าอยากเป็น มาบรรจบกันทั้งหมดตลอดชีวิตทำหนัง 5 ทศวรรษกับหนัง 30 เรื่อง ใน Madadayo
คุโรซาว่าไม่ได้ตั้งใจให้ Madadayo เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเขา แม้เขาจะมีสุขภาพที่ทรุดโทรมลง แต่เขาก็ยังคงมีแนวคิดใหม่ ๆ ที่อยากทำ สิ่งที่ยืนยันได้คือหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วโครงการที่เขาเริ่มต้นเพื่อจะทำต่อจาก Madadayo 2-3 เรื่องก็ไดรับการสร้างออกมาระบุว่าเป็นมรดกของคุโรซาว่า
กระนั้น Madadayo ก็นำเสนอหนังปิดท้ายที่สมบูรณ์แบบเกี่ยวกับชีวิตและอาชีพการงานของผู้กำกับชั้นครู เขาเริ่มต้นด้วยตัวละครนักเรียนแล้วเกษียณด้วยการเป็นศาสตราจารย์ ซันจิโร่สู่ยูชิดะจึงกลายเป็นคำจำกัดความที่เราสามารถเรียกเขาได้อย่างเต็มคำว่าอาจารย์ใหญ่ของนักทำหนังทุกคน
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย