Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
7 ก.ย. 2023 เวลา 10:22 • ท่องเที่ยว
วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร (1) .. จากสวนขวาในวังหลวง สู่บึงบัวปทุมวัน
ปทุมวัน .. เป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ฉันคุ้นเคยมากที่สุดมายาวนาน ด้วยเหตุที่อยู่ใกล้จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย แหล่งศึกษาที่ร่มเย็น จนเรียนจบและออกมาประกอบอาชีพ
แม้เมื่อทำงาน .. ช่วงหนึ่งที่ยาวนานเช่นกัน ที่ทำงานของฉันอยู่ที่สุริวงศ์ จึงเคยมากราบพระบ่อยๆ รวมถึงรับประทานอาหารกลางวันที่ทางวัดจัดให้ฟรี
วันนี้ฉันกลับมาที่นี่อีกครั้ง ตั้งใจจะมาไหว้พระ .. มองไปรอบๆ เห็นตึกระฟ้าสูงใหญ่ ศูนย์การค้าชื่อดัง อันเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมความเคลื่อนไหวที่เปี่ยมสีสันของผู้คนแห่งหนึ่งในเมืองกรุง
กว่าจะเปลี่ยนแปลงมาเป็นพื้นที่คึกคักอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน .. พื้นที่นี้เคยเป็นสถานที่สงบ ร่มเย็น สวยงาม ที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง
จากสวนขวาในวังหลวง .. สู่บึงบัว ปทุมวัน
ย้อนเวลาพาทุกท่านกลับเข้าสู่วันวาน เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ .. ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เคยสร้าง เป็นสวนสำหรับประพาสสำราญพระราชอิริยาบถ แต่มิได้ให้สร้างให้ใหญ่โตนัก เพียงแต่ได้ขุดสระ และสร้างพระตำหนักทองที่ประทับไว้ในสระหนึ่งหลัง ริมสระสร้างเป็นเขามอก่อด้วยหินปะการัง หรือที่เรียกกันว่า “หินฟองน้ำ” หน้าเขาสร้างพลับพลาริมสระไว้เป็นที่เสวย ปลูกไม้ต้นไม้ดอกไม้เอนชายไว้ในบริเวณนี้พองาม
1
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองจัดสร้างสวน ข้างพระราชมณเฑียรด้านตะวันออก ขึ้นใหม่ มีการขุดสระทำเขา สร้างพระราชมณเฑียรและสร้างเก๋งขึ้นเป็นอันมาก สวนที่กล่าวนี้เรียกกันว่า “สวนขวา”
รอบๆสวนขวาที่ทำขึ้นใหม่กว้างขวางมาก มีเก๋งที่ปลูกขึ้นมีทั้งแบบที่ทำเป็นตึกแบบฝรั่งและแบบเก๋งจีนมากกว่าร้อยเก๋ง เป็นที่ชื่นชมของทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทยเองที่มีโอกาสได้มาชม
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อศิลาปูพื้นในสวนขวา และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำไปบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ
Photo : มติชน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ .. ทรงมีพระประสงค์จะสร้าง “พระอภิเนาว์นิเวศน์” ที่ประทับของพระองค์ในสวนขวา ณ บริเวณพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างไป
.. แต่พระบรมวงศ์ฝ่ายในและสนมกำนัลต่างกราบบังคมทูลขอให้สร้าง “สวนขวา” แบบรัชกาลที่ 2 ให้กลับคืนเหมือนเดิม แต่พระองค์ปฏิเสธ เพราะเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 ที่ทรงรื้อไปถวายวัดเป็นพุทธบูชา จึงไม่สามารถทำได้
หากมีพระบรมราชโองการสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ จัดหาทุ่งนาภายนอกพระนคร จะได้สร้างเป็นสระและสถานที่ประพาสขึ้นใหม่แทนสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ตามแบบอย่างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่เคยทรงไว้แต่ก่อน ตามความประสงค์พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายในที่กราบทูลขอมา
Photo : มติชน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติได้ไปสำรวจสถานที่ต่างๆ พบว่า ที่นาในทุ่งบางกะปิ ริม“คลองบางกะปิ” (คลองแสนแสบในปัจจุบัน) เหมาะที่จะสร้างเป็นสวนหรืออุทยานที่ตรงกับความประสงค์ของฝ่ายในที่ทูลขอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทูลเชิญรัชกาลที่ 4 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการสั่งการก่อสร้างจึงเกิดขึ้น
ในการก่อสร้างครั้งนั้น โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กอง และพระยาสามภพพ่าย (หนู หงสกุล) เป็นนายงานควบคุมการก่อสร้าง .. มีการจ้างชาวจีนมาขุดลอกสระ 2 สระเชื่อมต่อกัน
Photo : มติชน
.. สระทางด้านเหนือเรียกว่าสระใน เป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์และฝ่ายใน ส่วนทางด้านใต้เรียกว่าสระนอก ทรงอนุญาตให้ข้าราชการและราษฎรทั่วไปมาเล่นเรือกันได้ และภายในสระทั้งสองนั้นก็ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ฯลฯ ออกดอกงดงามเต็มสระ
ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ให้รายละเอียดไว้ว่า “…จ้างจีนขุดสระกว้างใหญ่ ขนมูลดินขึ้นทำเป็นกำแพงโดยรอบในสระให้ปลูกบัวต่างสีต่างชนิดและสร้างเกาะใหญ่ไว้ท่ามกลาง มีเกาะเล็กเกาะน้อยลดเลี้ยวไปตามทิศต่างๆ
Photo : มติชน
นอกจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเก๋งใหญ่น้อยลงไปในเกาะ บนเกาะนั้นปลูกพันธุ์ผักชนิดต่างๆ รวมทั้งไม้ดอกชนิดต่างๆด้วย เมื่อถึงเดือนยี่ (เดือนธันวาคม-มกราคม) ให้เปิดไขน้ำเข้าไปไว้ให้เปี่ยมสระจะได้เสด็จไปประทับและให้ฝ่ายในได้สำราญกับสวนอย่างเต็มที่
บริเวณสระบัวในส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งที่ประทับแรมขึ้นองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า ‘พระที่นั่งปทุมมาภิรมย์’
… มีพลับพลาที่เสด็จออก มีโรงละคร มีที่พักข้าราชการฝ่ายในล้อมรอบด้วยเขื่อนเพชร (กำแพงเตี้ย) กั้นเป็นสัดส่วน มีโรงครัวของฝ่ายใน (หญิง) และฝ่ายหน้า (ชาย) แยกจากกันมีกำแพงล้อมรอบกั้นเป็นอาณาเขต และพระราชทานนามให้แก่สถานที่แห่งนี้ว่า “ปทุมวัน” และทรงเรียกบริเวณที่ประทับว่า “วังสระปทุม”
นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นหมู่หนึ่งเพื่อเป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลในวาระต่างๆ เมื่อเสด็จมาประพาสที่พระราชวังนี้
วัดบริเวณด้านทิศตะวันตกของสระนอก ทรงถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสี และพระราชทานนามวัดว่า "วัดปทุมวนาราม" แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสระปทุม
โดยทรงนิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาครองวัด แล้วพระราชทานสมณศักดิ์เจ้าอธิการ (ก่ำ) เป็นพระครูปทุมธรรมธาดา ..จะเห็นได้ว่านามต่างๆ ที่ปรากฏนั้นตั้งแต่ นามพระที่นั่ง นามวัด และนามพระสงฆ์ ล้วนขึ้นต้นด้วย ‘ปทุม’ ทั้งสิ้น
ในครั้งกระนั้นทรงโปรดให้พระภิกษุพายเรือรอบสระบัวภายในวัด เพื่อรับบิณฑบาตจากพระองค์เองและเจ้าจอมหม่อมห้ามเป็นครั้งคราว .. นอกจากนั้นยังมีพระบรมราชานุญาติให้ราษฎรได้เข้าไปทำบุญและเล่นสักวาที่สระใหญ่หน้าพระอุโบสถได้อีกด้วย
การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2404 แต่ไม่สามารถจัดงานสมโภชได้เพราะพระนางเธอพระองค์นั้นเสด็จสวรรคต .. การสมโภชจึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2410 เป็นระยะเวลา 5 คืน
จากที่มาของวัดปทุมวนารามดังที่กล่าวข้างต้น วัดปทุมวนารามจึงเป็น “วัดเคียงวัง” เพียงแต่ “สถานที่ตั้งวัด” อยู่ใกล้กับชุมชนชาวลาวที่รัชกาลที่ 3 กวาดต้อนมาเมื่อครั้งปราบกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ ถึงรัชกาลที่ 4 ชุมชนเหล่านี้กลับใจที่จะไม่กลับเมืองลาว แต่จะตั้งรกรากอยู่ที่ริมคลองแสนแสบ
นอกจากนี้รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า เมื่อวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนชาวลาวจึงน่าจะนำพระพุทธรูปจากเมืองลาวที่เชิญเข้ามาในเมืองไทยในรัชกาลของพระองค์ มาประดิษฐานที่วัดนี้เพื่อให้ชาวลาวได้เคารพบูชา พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์คณะลาวจากวัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาสด้วย
จึงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์จากคณะลาว วัดบวรนิเวศวิหารมาจำพรรษาที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2400 พระสงฆ์ที่นิมนต์มาให้เป็นเจ้าอธิการพระราชทานนามว่า “พระครูประทุมธรรมธาดา” เพื่อให้สัมพันธ์กับชื่อวัดประทุมวนาราม เจ้าอธิการท่านนี้เคยรับใช้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก
พร้อมกันนั้นก็ได้อัญเชิญ “พระใส” หรือ พระสายน์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเพื่อการขอฝน ซึ่งขณะนั้นฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล
และ “พระแสน” ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองหนองคายพร้อมกัน แล้วพักไว้ที่วัดเขมาภิรตาราม ซึ่งเป็นวัดในความดูแลของสมเด็จพระบรมราชชนนีของพระองค์ ขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปทุมวนารามเมื่อ พ.ศ. 2400
ภายหลังอัญเชิญพระเสริมจากพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส มาประดิษฐานที่วัดปทุมวนารามแทน เพราะว่าพระใส และพระเสริม เคยเป็นพระพุทธรูปคู่กันมาตั้งแต่เมืองลาว จึงน่าจะเชิญมาประดิษฐานไว้ในวัดเดียวกัน
ปัจจุบัน แม้ไม่มีบึงบัวที่บานสะพรั่งงดงามเต็มสระเหมือนในอดีต จะเหลือก็เพียงแค่ไม่กี่ดอกอยู่ในอ่างบัวเท่านั้น .. แต่การมาไหว้พระ สวดมนต์ และได้สงบจิตใจท่ามกลางความรื่นรมย์ของบรรยากาศภายในวัด ก็เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอมทุกครั้ง
Ref : ข้อมูลบางส่วนจาก : หม่อมราชวงศ์ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. “วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทำไมต้องตักบาตรด้วยข้าวเหนียว?”ใน, ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับตุลาคม 2557
https://www.silpa-mag.com/history/article_49457
Ref :
https://www.royaloffice.th/2021/03/25/%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B2/
บันทึก
3
1
1
3
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย