Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยวนี้มีธรรม
•
ติดตาม
13 ก.ย. 2023 เวลา 08:12 • ท่องเที่ยว
ตามรอยพระศาสดา จ.สระบุรี
เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหม
ว่าเกิดมาอย่างไร
และเกิดมาทำไม
สัตว์โลกเกิดเป็นหนึ่งชีวิตขึ้นมา
เพราะกิเลสตัณหา
ทำให้ก่อภพ
เพราะความอยากเป็นเหตุ
จึงมีผลเป็น"การเกิด" ไม่จบสิ้น
เมื่อใดเกิดแล้ว ความทุกข์ทั้งหลาย
ก็ย่อมตามมา
ความเจ็บป่วย ความแก่ชรา
และมีความตายในท้ายที่สุด
ไม่มีใครหลีกพ้นได้
หากไม่อยากวนเวียนอยู่เช่นนี้
ก็จงดับที่การเกิด
ด้วยการดับความอยาก
กิเลส ตัณหาทุกอย่าง
เพื่อเข้าเขตพระนิพพาน
ซึ่งเป็นหนทางเดียว
ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น...✍️ By ศุชีวา
"วัดพระพุทธฉาย"
ทริปนี้จะพาทุกท่านไปแวะเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ใน จ.สระบุรี แน่นอนว่าหากพูดถึงสระบุรี ทุกคนคงนึกถึงรอยพระพุทธบาทสระบุรีอันเลื่องชื่อก่อนเป็นลำดับแรกและตามด้วยพระพุทธฉาย ครั้งนี้มีเวลาสั้นๆ คือ 1 คืน 2 วัน จึงตั้งต้นที่สระบุรี และจบที่ไปพักค้างที่เมืองลพบุรี
เริ่มออกเดินทางแต่เช้า ช่วงต้นเดือนกันยายนมีฝนบางๆ และแสงแดดอ่อนๆ จุดแรกที่ไปเช็คอินคือ วัดพระพุทธฉาย อ. เมือง จ.สระบุรี ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชม. ไปถึงวัดตอนเจ็ดโมง
กว่าๆ ยังเช้าอยู่มาก และวัดยังไม่เปิด
จึงแวะหาอะไรร้อนๆ รองท้องก่อน บริเวณหน้าวัดมีร้านขายกาแฟโอวัลตินแบบโบราณ และข้างๆ กันมีปาท่องโก๋ขาย ได้บรรยากาศแบบชุมชนสมัยก่อน
รู้สึกฟินไม่น้อยเลยทีเดียว
"ภาพพระพุทธฉาย"
"ทางขึ้นไปนมัสการพระพุทธฉาย"
วัดพระพุทธฉายเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่แปดโมงเช้าเป็นต้นไป หลังจากอิ่มท้องแล้ว ก็เริ่มเดินขึ้นบันไดไปด้านบน ซึ่งไม่สูงมาก พระพุทธฉายที่ว่านี้ เชื่อว่าเป็นภาพเงาของพระพุทธเจ้าซึ่งปรากฏอยู่บนผนังภูเขาเป็นสีแดงๆ คล้ายกับพระพุทธรูป ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (กษัตริย์อยุธยา) ซึ่งล่วงมากว่า 400 ปีแล้ว และได้มีการสร้างมณฑปครอบไว้
"ภายในมณฑป"
เมื่อเข้าไปด้านในของมณฑป จะพบกับพระพุทธฉาย และบริเวณรอบๆ มีพระพุทธรูปให้กราบไหว้บูชา วันที่ไปนั้น เจอกับไกด์ตัวน้อยชื่อ "น้องอ้วน" มาคอยแนะนำเล่าเรื่อง และนำชมอย่างคล่องแคล่ว น้องเล่าปาฏิหาริย์ให้ฟังว่า ตรงรอยพระพุทธฉายนั้น เวลาฝนตกน้ำจะไม่ไหลลงมาตรงนั้น แต่จะไหลลงมาด้านข้างทั้งสองฝั่งแทน โดยให้สังเกตรอยดำๆ ซ้ายขวา ซึ่งเป็นรอยน้ำฝน แต่ตรงบริเวณพระพุทธฉายที่เป็นสีแดงนั้นจะไม่ปรากฏรอยน้ำฝนเลย
"พระพุทธไสยยาสน์"
ด้านหลังของมณฑปมีพระพุทธไสยยาสน์ หรือพระนอนขนาดใหญ่ให้กราบไหว้บูชา และมีพระบรมรูปของรัชกาล 5 อยู่ด้วย พร้อมลายพระหัตถ์ที่สลักลงบนผนังหิน เมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จประพาส จ.สระบุรี และเสด็จไปยังวัดพระพุทธฉาย
"รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา"
"ทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท"
ฝั่งด้านขวาของพระพุทธฉายเป็นทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดไปประมาณ 400 ขั้น น้องอ้วนบอกว่าใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ถ้าใครไม่ได้ฟิตร่างกายไปก่อนก็อาจจะไม่ไหว ผู้เขียนเองก็เดินไปหอบไป 😆 ด้วยใจศรัทธาและมีอิทธิบาทสี่เป็นตัวนำทาง ก็พยายามเดินไปจนถึงยอดเขา แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ประตูมณฑปยังปิดอยู่ จึงได้ชมแค่เพียงบริเวณรอบๆ และนมัสการอยู่ด้านนอก น้องอ้วนเล่าว่า ที่นี่เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ซึ่งค้นพบหลังพระพุทธฉาย และได้มีการสร้างมณฑปครอบไว้เช่นเดียวกัน
"หอมนสิการ อ.แก่งคอย"
ไปต่อที่ อ.แก่งคอย ถ้าใครไปเยือนสระบุรีในช่วงปี 2023 นี้ แห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดก็คือ "หอมนสิการ" ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.แก่งคอย เป็นหอแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับหนทางแห่งการพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นนิทรรศการแบบร่วมสมัย หอมนสิการจัดสร้างขึ้นโดยดำริของอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ประธานมูลนิธิโนอิ้งบุดด้า สถาปัตยกรรมงดงามแปลกตานี้ผสมผสานศิลปะไทย อินเดียและสุโขทัย
"ห้องประดิษฐานพระบรมโลกนาถ"
"พระบรมสารีริกธาตุ"
การเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ ชาวไทยมีค่าบัตรคนละ 30 บาท โดยจัดให้เข้าชมเป็นรอบๆ รอบละ 6-7 คน เมื่อเข้าไปด้านใน จะมีพนักงานคอยต้อนรับ แจกหูฟังและเครื่องเล่นเสียงคนละชุดให้ถือไปฟังระหว่างเดินชมแต่ละห้องตามลำดับ เนื้อหาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเสียสละของพระพุทธเจ้าและการเดินทางของท่านสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์(อริยสัจสี่) ทำให้ได้แง่คิดและสัจธรรมเกี่ยวกับการมีชีวิต รวมถึงวิธีการที่จะนำเราไปสู่ทางหลุดพ้น (ทางหอไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพนิทรรศการ สงวนสิทธิ์อยากให้ทุกท่านไปเยี่ยมชมด้วยตนเองค่ะ)
"ภาพปักพระบรมโลกนาถ"
เมื่อเยี่ยมชมไปได้ประมาณ 6-7 ห้อง ก็จะถึงโถงตรงกลาง ซึ่งเป็นห้องประดิษฐานของพระพุทธรูปพระบรมโลกนาถสร้างจากเนื้อสัมฤทธิ์ปิดทองแท้และมวลสารดินจากเมืองกุสินารา (สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน) พระบรมสารีริกธาตุ และภาพปักพระบรมโลกนาถ ซึ่งอนุญาตให้แวะกราบไหว้และถ่ายภาพได้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนเห็นว่าที่นี่เป็นที่แรกที่อนุญาตให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสพระบรมสารีริกธาตุอย่างใกล้ชิดมากๆ (มีพระบรมสารีริกธาตุ 23 พระองค์ )
สำหรับจุดที่เป็นไฮไลท์ที่น่าสนใจคือ ภาพปักพระบรมโลกนาถ ซึ่งมีสตอรี่อันน่าทึ่ง คือ เป็นงานฝีมือของคุณสุวลักษณ์ เสนานุช ใช้เวลาปักประมาณ 8 เดือน และผู้ปักได้ปวารณาศีล 8 พร้อมกับบริกรรมคำว่า "นิพพาน" ตลอดการปักภาพนี้ นับว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าล้ำอย่างยิ่ง
"รอยพระพุทธบาท"
"ภายในมณฑป"
ไปกันต่อที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท ซึ่งใช้เวลาเดินทางไปจาก อ.แก่งคอย ไม่นาน ทริปนี้ที่ตั้งใจเป็นหลักก็คือ จะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่วัดนี้ เพราะถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของสระบุรี และเป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศ เรียกได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยก็คงไม่ผิด รอยพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นเบื้องซ้าย ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรมเช่นเดียวกับพระพุทธฉาย และต่อมาท่านทรงโปรดให้สร้างมหามณฑปครอบไว้ และสร้างเป็นวัดขึ้นมา
"ด้านหน้าวัดพระพุทธบาท"
บริเวณด้านหน้าวัดพระพุทธบาท มีร้านรวงขายของพื้นเมืองและของที่ระลึกอยู่หลายร้าน เมื่อเดินเข้าไปด้านใน จะมีที่ให้แวะกราบบูชาพระและทำบุญต่างๆ ก่อนที่จะเดินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทบนมณฑปซึ่งอยู่ไม่สูงมากนัก เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทุกวัย และด้านบนก็มีพระพุทธรูป เทวรูปต่างๆ ให้กราบไหว้บูชา และมีกล่องสำหรับให้ทำบุญด้วยปัจจัยเพื่อช่วยทำนุบำรุงต่างๆ ตามศรัทธา ว่ากันว่าถ้าใครมีโอกาสได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทสักครั้งจะนับเป็นมงคลยิ่งในชีวิต เช่น ชาวจีนในไทย จะนิยมไปกราบทุกปีในช่วงวันตรุษจีน 😇
สระบุรียังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาอีกหลายแห่งชวนให้แวะไปเยี่ยมชม ...ตามรอยพระศาสดาในครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนมีลมหายใจระลึกถึงมรณานุสติตลอดเส้นทาง แม้ว่าเราจะไม่สามารถกลับไปแก้ไขการเกิด การเจ็บ และไม่อาจปฏิเสธความชราที่ใกล้เข้ามาทุกขณะจิตได้ก็ตาม ...แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังมีโอกาสเลือกทำได้ นั่นคือ การพิจารณาก่อนตายว่าจะตายอย่างไร้สติหรือมีสติระลึกรู้ว่าปรารถนาจะมาเกิดอีกหรือไม่ ซึ่งหนทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหาคำตอบไว้ให้นี้เป็นสิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกทำ เลือกเดินได้อย่างเท่าเทียม 😇
"รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย"
🫶 ขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน ....ขอโอกาสกดติดตาม กดหัวใจ กดแชร์เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวและสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาต่อไปค่ะ😇😇😇
ท่องเที่ยว
ธรรมะ
ข้อคิด
4 บันทึก
13
5
4
13
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย