8 ก.ย. 2023 เวลา 08:34 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ประวัติสังเขปของหนังในฮ่องกง (ตอนที่ 1)เปิดปูมความเป็นมาหนังฮ่องกง

ทำไมหนังศิลปะการต่อสู้จากจีนแผ่นใหญ่จึงสู้หนังจากฮ่องกงไม่ได้ แล้วทำไมหนังฮ่องกงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงไม่หลงเหลืออยู่เลย โพสต์นี้มีคำตอบ
มีบันทึกไว้ว่าหนังฮ่องกงเรื่องแรกที่ถ่ายทำในปี 1909 หลังจากศิลปะแขนงนี้ได้รับการเผยแพร่ในส่วนอื่นๆ ของโลกได้ไม่นาน แต่มรดกทางวัฒนธรรมนี้ได้สูญหายไป ไม่มีหนังฮ่องกงที่สร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเหลืออยู่ แม้แต่ชาวฮ่องกงเองก็อาจไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมานั้นมากนัก เนื่องจากไม่มีหนังที่สร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเหลือรอด และบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรและบทความข่าวเกี่ยวกับหนังฮ่องกงในยุคแรก ๆ ก็หายาก
เรื่องราวของหนังฮ่องกงสามารถย้อนกลับไปถึงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่ "ศิลปะที่เจ็ด" ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
แม้ว่าฮ่องกงจะไม่เป็นท่าเรือขนาดใหญ่เท่ากับเซี่ยงไฮ้เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 แต่อาณานิคมของอังกฤษยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจในจีน อาณานิคมแห่งนี้เป็นเป็นศูนย์กลางของการติดตามกระแสสมัยใหม่อยู่เสมอ และความเป็นเมืองท่าเรือทำให้มีข้อมูลใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงรับกระแสสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จากตะวันตกได้เร็วกว่าส่วนอื่นๆของโลกยุคร้อยกว่าปีที่แล้วมาก
โรงหนังเข้ามายังอาณานิคมค่อนข้างเร็ว เพียงแค่ 16 เดือนหลังจากที่พี่น้องลูมิแอร์ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องซีเนมาโตกราฟฉายหนังให้ผู้ชมได้ดูเป็นครั้งแรกขึ้นในปี ค.ศ.1897 (แต่ยังช้ากว่าเชี่ยงไฮ้ 1 ปี เมื่อมีการฉายหนังครั้งแรกในเชี่ยงไฮ้เมื่อปี 1896 และหนังจีนเรื่องแรกที่สร้างในเชี่ยงไฮ้เริ่มเมื่อปี 1905)
ได้มีชาวอเมริกันชื่อมอริซ ชาร์เวต์ ได้ล่องเรือไปยังฮ่องกงด้วยเรือกลไฟชื่อ "เปรู" ในเดือนเมษายน 1897 (ปีเดียวกับที่มีการฉายหนังในประเทศไทยเป็นครั้งแรก) โดยนำ "เครื่องฉายหนัง" สองเครื่องไปด้วย เครื่องแรกเป็นน Cinematograph ซึ่งพัฒนาโดยพี่น้อง Lumière ในฝรั่งเศส ส่วนอีกอันเป็น Kinetoscope ที่ผลิตโดยบริษัท Edison ซึ่งเป็นคู่แข่งในสหรัฐฯ
มีรายงานว่านายมอริชได้ฉายภาพยนตร์ในศาลาว่าการฮ่องกง China Mail รายงานว่า “สิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ไม่เคยฉายในฮ่องกงหรือตะวันออกไกลมาก่อน … แต่ทุกคนเคยได้ยินเกี่ยวกับภาพที่น่าอัศจรรย์ที่อยู่บนหน้าจอ”
หนังเรื่้องแรกที่ผลิตในฮ่องกงน่าจะเป็นหนังสั้นเงียบเรื่อง Stealing a Roasted Duck ซึ่งอำนวยการสร้างโดยชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า เบน บรอดสกี และกำกับโดยเหลียงซือป๋อในปี 1909 นายบรอดสกีผู้นี้เป็นนักผจญภัยและพ่อค้า เขาได้ก่อตั้งบริษัท Asia Films ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองนานาชาติ จากนั้นเขาสร้างหนังทั้งหมดสี่เรื่อง ในจำนวนนี้มีสองเรื่องสร้างในฮ่องกง
บิดาหนังฮ่องกง
บรอดสกีสร้างหนัง Chuang Tzu Tests His Wife ในปี 1913 ถือเป็นหนังฮ่องกงเรื่องแรกที่แท้จริง เป็นเรื่องราวคำสอนของนักปราชญ์โบราณ"จวงจื่อ" ที่นับเป็นหนังฮ่องกงเรื่องแรกเพราะบริษัทผู้ผลิต "Chinese-American Film Company” ได้จดทะเบียนในฮ่องกง ตัวหนังกำกับโดย Lai Man-Wai ซึ่งตัวเขาเองรับบทนำหญิงตามประเพณีงิ้วจีนที่เอานักแสดงชายแสดงเป็นตัวละครหญิง ต่อมานายบรอดสกีกลับมายังสหรัฐอเมริกาไม่นานหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างเสร็จ ตัวหนังโดยได้รับการฉายในอเมริกา แต่ไม่เคยฉายในฮ่องกงเลย
Lai Man-Wai นั้นมาจากครอบครัวผู้นำเข้าและค้าข้าวจึงมีฐานะมั่งง เขาได้ร่วมกับ Lai Buk-hoi ผู้เป็นน้องชายก่อตั้งสตูดิโอทำหนังแห่งแรกของฮ่องกงชื่อว่า China Sun ตัวของ Lai Man-Wai นั้นได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งภาพยนตร์ฮ่องกง” China Sun สร้างหนังฮ่องกงเรื่องแรกของตนเองเรื่อง Rouge ในปี 1924-1925 (ซึ่งเรื่องราวเดียวกันกับล่ารัก 59 ปี หรือ Rouge เวอร์ชันของ Stanley Kwan ในปี 1988 เป็นเนื้อเรื่องในส่วนของเลสลี่ จางและเหม่ยเยียนฟางแสดง)
ตัวหนังมี Lai Buk-hoi เป็นผู้กำกับ และ Lai Man-Wai แสดงนำคู่กับ Lim Cho-cho ภรรยาของเขา ทั้งคู่เล่นหนังด้วยกันหลายเรื่องก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่มีเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นทำลายฟิล์มทั้งหมดเพื่อจะเอาแร่เงินในนั้น
หลังจากนั้นพี่น้องตระกูลชอว์ก็เข้ามา
แล้ว Shaw Brothers ก็มาที่ฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ 1930 พี่น้องชอว์เองเริ่มสร้างธุรกิจหนังในเซี่ยงไฮ้ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 จากนั้นจึงหาลู่ทางไปตั้งสำนักงานอยู่ที่สิงคโปร์ในปี 1925 ขณะเดียวกันก็ทำหนังและจัดจำหน่ายในฮ่องกงผ่านทางบริษัทภาพยนตร์เทียนยี่(Tianyi) ของพวกเขา
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1930 ผลงานของเทียนยี่เรื่อง White Gold Dragon (1933) ทำให้หนังฮ่องกงหลุดจากยุคหนังเงียบ เพราะมันเป็นหนังเสียงกวางตุ้งเรื่องแรก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในฮ่องกง ดังนั้น เทียนยี่จึงเริ่มสนใจอาณานิคมนี้จริงจัง และสร้างสตูดิโอภาพยนตร์ในเกาลูน และกลายเป็นผู้สร้างหนังรายใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930
ในเวลาเดียวกันที่เชี่ยงไฮ้ สถานการณ์ย่ำแย่มาก จากเคยเป็นยุคทองของหนังจีน แต่ความวุ่นวายทางการเมือง สงครามระหว่างชาตินิยมกับคอมมิวนิสต์ไปจนถึงสงครามจีน-ญี่ปุ่นที่ร้อนระอุทำให้ธุรกิจหนังในเชียงไฮ้ถึงกับกาลล่มสลาย นักสร้างหนังจำนวนหนึ่งหนีจากจากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างภาพยนตร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ไปยังฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940 การหลั่งไหลเข้าครั้งนี้ได้นำเงินทุน นักแสดงที่มีพรสวรรค์และช่างเทคนิคผู้มีทักษะจำนวนมาก รวมไปถึงคณะอุปรากร ครูสอนงิ้วกวางตุ้งมาสู่ฮ่องกง
จีนห้ามสร้างหนังกำลังภายใน
ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ในปี 1931 รัฐบาลชาตินิยมก๊กมินตั๋งสั่งห้ามการทำหนังเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ หนังแนวกำลังภายใน เนื่องจากคิดว่าหนังเหล่านี้มีความรุนแรงจะส่งผลเสียต่อสังคม เอาเข้าจริงก็เพราะคิดว่าหนัง Wuxia เหล่านี้ยุยงให้เกิดการท้าทายอำนาจและก่อการกบฏ เพราะมักจะมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการลุกฮือของประชาชนต่อต้านรัฐบาล
ซึ่งเป็นผลพวงมาจากหนังซีเรียล The Burning of the Red Lotus Temple (1928-1931) เป็นหนังเงียบของจีนที่กำกับโดยจาง ซื่อฉวน เขาดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง The Tale of the Extraordinary Swordsman เรื่องราวเกี่ยวกับการช่วยเหลือจากผู้กล้าจากวัดบัวแดงที่เต็มไปด้วยกับดัก The Burning of the Red Lotus Temple เป็นหนึ่งในหนังที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจีน
คือมีความยาวรวมกันทุกตอนถึง 27 ชั่วโมง ผลิตโดยบริษัท Mingxing Film Company ออกฉายระหว่างปี 1928 ถึง 1931 จำนวน 19 ตอน แต่ถึงทุกวันนี้ไม่มีสำเนาหนังเหลืออยู่แล้ว ในดังของหนังซีรีส์นี้ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งสั่งห้ามภาพยนตร์ Wuxia ทั้งหมดทันที
จึงเป็นเหมือนการตัดตอนหนังแนวนี้ในจีนไปโดยปริยาย จากนั้นความขัดแย้งรุนแรงและสงครามดำเนินยาวนานมาจนถึงปี 1949 คอมมิวนิสต์จีนถึงสามารถควบคุมประเทศได้ และหนังก็ตกเป็นเครื่องมีโฆษณาชวนเชื่อ หนัง Wuxia หายไปจากแผ่นดินใหญ่ ยิ่งในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมยิ่งมีการสร้างหนังออกมาน้อยมาก กว่าจะมาเริ่มทำหนังกันอย่างจริงจังอีกทีก็เข้าไปยุค 1980 แล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1931 ทำให้คนที่อยากทำหนัง Wuxia และนักแสดงที่มีพรสวรรค์ด้านศิลปะการต่อสู้ย้ายจากเซี่ยงไฮ้ไปยังฮ่องกงกันมาก จากนั้นบรรดาครูมวยฝีมือดี หนีสงคราม หนีคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะครูมวยภาคใต้หลายคนอพยพสู่ฮ่องกง ทำให้ได้เกิดโรงเรียนสอนการต่อสู้กังฟูสู้ขนาดเล็กหลายแห่งเปิดทำการสอนกันมากในยุค 1950 ยิ่งยิ่งข่าวดังในยุคนั้นที่ครูมวยกังฟู 2 คนท้าประลองกันจนหนังสือพิมพ์เขียนข่าวกันใหญ่โต และทำให้นิยายกำลังภายในฮ่องกงเฟื่องฟู
เรื่องเหล่านี้ได้กลายเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตของหนังกังฟูฮ่องกงไปอย่างคาดไม่ถึง
Lai Man-Wai บิดาของหนังฮ่องกง แสดงเป็นบทนำหญิงใน Chuang Tzu Tests His Wife ปี 1913
Lai Man Wai แสดงคู่กับภรรยาใน Rouge ประมาณปี 1924-1925 เรื่องต้นทางของล่ารัก 59 ปี
The Burning of the Red Lotus Temple (1928-1931) ดังจนก๊กมินตั๋งต้องห้ามสร้างหนังกำลังภายใน เพราะกลัวคนลุกฮือ
The Burning of the Red Lotus Temple ประวัติศาสตร์หนังกำลังภายในเรื่องแรก
รัน รัน ชอว์มาทำให้หนังฮ่องกงฉุดไม่อยู่ รูปถ่ายในปี 1968
โฆษณา