9 ก.ย. 2023 เวลา 11:55 • ท่องเที่ยว

วัดเขมาภิรตาราม วรวิหาร .. นนทบุรี

วัดเขมาภิรตาราม เป็นวัดโบราณ เชื่อว่าสร้างสมัยอยุธยา หรือก่อนสมัยอยุธยา .. พระเจ้าอู่ทองทรงบูรณปฏิสังขรณ์เป็นวัดหลวงในสมัยอยุธยา แต่ถูกทิ้งร้างไปนานจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดเขมาภิรตารามเป็นวัดที่อยู่ในสังกัดบัญชีกฐินหลวงของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เดิมเรียกว่า วัดเขมา บางครั้งเรียกว่า "วัดเข็นมา" (คำว่า เขมา มีความหมายว่า ความเกษมสุข ความพ้นจากเครื่องห่วงใย ความปลอดจากกังวลทั้งหลาย)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย .. สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรส (ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เพื่อกราบทูลขอวัดเขมาเป็นวัดสำหรับกฐินในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
.. จากนั้นได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์วัดเขมาพร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูปหล่อเก่าแก่จากพระราชวังจันทรเกษมที่อยุธยามาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และมีการฉลองใน พ.ศ. 2371
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อฉลองพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี แล้วพระราชทานนามเพิ่มว่า “วัดเขมาภิรตาราม”
วัดเขมาภิรตาราม ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลสวนใหญ่ ห่างจากตัวเมืองมาทางด้านใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ด้านหน้าของวัดติดริมฝั่งแม่น้ำ .. เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร
.. เป็นวัดที่จอมพลป. พิบูลสงครามเคยเรียนหนังสือในสมัยเด็ก
Photo : Internet
มหาเจดีย์ที่ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งมีความสูง 30 เมตร ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ... อยู่ด้านหลังโบสถ์
พระอุโบสถ
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงสร้างพระประธานครอบองค์เก่าที่ดั้งเดิมเป็นทองคำใน พ.ศ. ๒๓๗๑
- พระประธานองค์ที่ ๑ พระเพลา ๒.๙๐ เมตร สูงตลอดพระรัศมี ๔ เมตร
พระประธานองค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปโลหะ อัญเชิญจากวังจันทรเกษม จังหวัดอยุธยา มาประดิษฐานเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๑ พระเพลา ๗๔ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๑๐๙ เซนติเมตร พระนามว่า พระพุทธอินแปลง
พระนิรันตราย พระเพลา ๒๘ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๓๑ เซนติเมตร ถูกโจรกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓
- รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก รอบพระประธาน ๘๐ รูป มีชื่อแต่ละองค์สลักปรากฏอยู่ที่ฐานอาสนะ
ผนังด้านหลังพระประธาน .. มรพระพุทธรูปหลายปางในซุ้ม
.. มีพระพุทธรูปประทับยืน
ภาพเขียนเทพชุมนุมตามคติแบบไทย .. ตาที่วัดนี้ดูแปลกตากว่าวัดอื่นๆ มีขบวนเทวดา นางฟ้า วงมโหรี
ภาพจิตรกรรมบนบานประตู งดงามมาก
รูปกระถางต้นไม้แบบจีน และช่อดอกไม้ลวดลายแบบตะวันตก รอบผนังพระอุโบสถ
ตำหนักแดง
พระตำหนักแดงเป็นตำหนักที่สร้างขึ้นด้วยเครื่องไม้เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทภายในพระบรมมหาราชวัง .. โดยพระองค์ทรงมีหน้าที่กำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเสศต้น (ห้องครัว) และการสดึง เป็นต้น
เนื่องจากตำหนักแห่งนี้ทาสีแดง จึงเรียกว่า พระตำหนักแดง
พระตำหนักแดงภายในพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย ตำหนัก 2 หลัง โดยหลังแรกเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ตราบจนพระองค์สิ้นพระชนม์
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงเชิญสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีมาประทับภายในพระบรมมหาราชวัง โดยประทับ ณ ตำหนักแดงหลังนี้ ชาววังจึงเรียกตำหนักแห่งนี้ว่า "พระตำหนักตึก"
ส่วนตำหนักแดงหลังที่ 2 นั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยบริเวณหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมกับพระราชโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เสด็จออกไปประทับ ณ พระราชวังเดิม
.. ซึ่งในระยะเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรื้อหมู่ตำหนักภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อสร้างเปลี่ยนตำหนักไม้เป็นตำหนักตึก
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักแดงที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีไปปลูกที่พระราชวังเดิมด้วย เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีเสด็จสวรรคต ตำหนักแดงในส่วนที่ประทับของพระองค์ได้รื้อไปถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม
ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ พระบวรราชวัง (พระราชวังบวรสถานมงคล) .. ทรงให้รื้อตำหนักแดงที่ถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามไปปลูกถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี
.. พร้อมทั้งทรงรื้อตำหนักแดงในส่วนที่ประทับเดิมของพระองค์ที่พระราชวังเดิมนั้นมาปลูก ณ พระบวรราชวัง
ลักษณะสถาปัตยกรรม
เป็นอาคารสร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลังเป็นทรงไทย มีขนาด 7 ห้องเสา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือนทั่วไป หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่า หน้าจั่วเป็นแบบลูกฟักหน้าพรหม หรือลูกฟักปะกน กรอบหน้าบันประกอบไปด้วย ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แสดงให้เห็นถึงฐานันดรศักดิ์ของผู้อาศัย
ตัวอาคารภายนอก ด้านทิศใต้และตะวันออก มีเสานางเรียงรับเชิงชายคาแสดงให้เห็นถึงลักษณะของอาคารหรือสถานที่สำคัญในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มักสร้างเสาสูงจากพื้นเพื่อรับเชิงชายคามีทางเข้าสู่ภายในตัวอาคารอยู่ทางด้านทิศเหนือ
ภายในตัวอาคารกั้นแบ่งออกเป็น 2 ห้อง อันแสดงเป็นห้องโถงอยู่ทางทิศตะวันออก และห้องบรรทมอยู่ทางทิศตะวันตก ต่อจากด้านทิศตะวันตกมีห้องท้ายพะไลแต่งเป็นห้องสรง หน้าต่างมีทั้งหมด 16 บาน ลักษณะของหน้าต่างทุกบานมีหย่องหน้าต่างแกะสลักเป็นลวดลายดอกพุดตานและขาสิงห์อยู่ตอนล่างซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปัจจุบันมีรูปปั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2
ตู้แสดงเครื่องใช้
การจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆในพระพุทธศาสนา .. พระพุทธรูปสมัยต่างๆ
ตู้พระธรรม
พระตำหนักแดงวัดเขมาภิรตาราม ขึ้นทะเบียนประกาศราชกิจจานุเบกษา เลขที่ ๕๒ หน้า ๓๖๘๘ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะ มีขนาดเท่าเดิม ยกใต้ถุนสูงระหว่างวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ใช้บริเวณใต้ถุนพระตำหนักเป็นที่ตักบาตรทุกวันธรรมสวนะ
พระที่นั่งมูลมณเฑียร
พระที่นั่งมูลมณเฑียรสร้างขี้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นตำหนักหลังหนึ่งของหมู่พระตำหนักแดงในพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นตำหนักไม้ชั้นเดียว หลังคาสองตอน (แบบเรือนแฝด) ประดับเครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันจำหลักปิดทองประดับกระจก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้ที่นั่งบรมพิมานในปัจจุบัน) และพระพุทธนิเวศน์ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งมูลมณเฑียร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ เกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งมูลมณเฑียร จากพระบรมมหาราชวัง (เดิมเป็นตำหนักไม้) ย้ายมาปลูกเป็นตึกไว้ ณ วัดเขมาภิรตาราม
ทรงพระราชอุทิศเป็นที่เรียนชั้นเด็กโตจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗
ต่อมาใช้เป็นห้องสมุดประชาชน .. เมื่อห้องสมุดประชาชนย้ายไปอยู่ที่หลังพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี พระตำหนักจึงใช้เป็นห้องสมุดและห้องเรียนของโรงเรียนกลาโหมอุทิศชั่วคราว.. ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอซ่อมจากกรมศิลปากร
พระที่นั่งมูลมณเฑียรวัดเขมาภิรตาราม ขึ้นทะเบียนประกาศราชกิจจานุเบกษา เลขที่ ๕๒ หน้า ๓๖๘๘ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
ภาพต้นทุเรียน .. ผลไม้ท้องถิ่น นนทบุรี
โฆษณา