10 ก.ย. 2023 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์

เปิดประวัติบ้านพิษณุโลก ที่กลับมาเป็นวอร์รูมทีมยุทธศาสตร์รัฐบาลอีกครั้ง

บรรยากาศความคึกคักกลับคืนสู่ “บ้านพิษณุโลก” หลังนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ใช้เป็น “วอร์รูม” หารือข้อราชการกับทีมนายตำรวจและเลขาธิการนายกฯ เป็นครั้งแรกในวันนี้ (10 ก.ย.) นับเป็นการเปิดศักราชใหม่การใช้งานบ้านพิษณุโลกอีกครั้ง
เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาใช้งาน “บ้านพิษณุโลก” เป็นสถานที่หารือข้อราชการ และเป็นที่ประชุมระดมพลังสมองของบุคคลระดับผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยอีกครั้ง วันนี้ เรามาทำความรู้จัก ประวัติความเป็นมา ของสถานที่แห่งนี้ “บ้านพิษณุโลก” อาคารประวัติศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยตำนาน และเรื่องราวที่หลายคนถึงกับเรียกว่า “บ้านอาถรรพณ์” กันเลยทีเดียว
“บ้านพิษณุโลก” เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2465 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) บุตรชายคนเล็กของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว.ลม้าย พึ่งบุญ) กับพระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ)
ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาคัดเลือกให้เป็นพระนม (แม่นม) ถวายแด่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ (ซึ่งต่อมาก็คือในหลวงรัชกาลที่ 6 นั่นเอง)
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล ตัวบ้านเป็นอาคารแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเวเนเทียน ออกแบบและดูแลการสร้างโดยนายมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตระกูลอนิรุทธเทวาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อให้เป็นราชสมบัติ เนื่องจากเกินกำลังที่จะบำรุงรักษาได้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวจึงได้ย้ายออกไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์อีกแต่อย่างใด
ที่ตั้งหน่วยงานรัฐบาลสมัยสงครามโลก
ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการร่วมรบกับญี่ปุ่น และได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวา เจ้าของบ้าน เพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
พระยาอนิรุทธเทวาได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสนบาทเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2485 หลังจากนั้นมา รัฐบาลยุคนั้นจึงได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ทำการของ "กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น" สำหรับการประสานงานระหว่างสองประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านไทย-พันธมิตร"
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม “บ้านไทย-พันธมิตร” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านสันติภาพ" เพื่อลบภาพลักษณ์ในการเข้าร่วมสงคราม จากนั้นในปี พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อบ้านอีกครั้ง เป็น "บ้านพิษณุโลก" ตามชื่อถนนที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ (ถนนพิษณุโลก) และใช้ชื่อนี้นับจากนั้นเป็นต้นมา
บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีใครอยากพักอยู่
บ้านพิษณุโลก ถูกปรับให้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยมาหลายยุคหลายสมัย เริ่มครั้งแรกในสมัยของพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (พ.ศ. 2522-2523) ที่ได้สั่งการให้ซ่อมแซม แต่รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ บริหารประเทศแค่เพียงระยะสั้นๆ จึงยังไม่ได้ลงมือปรับปรุงอย่างจริงจัง
ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย พ.ศ.2523-2531) จึงได้ดำเนินซ่อมแซมบ้านพิษณุโลกในทันทีเพื่อใช้เป็นบ้านพัก ซึ่งภายหลังซ่อมแซมเสร็จ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ย้ายเข้าไปอยู่ทันที เป็นที่ตื่นเต้นของผู้คนทั่วไป
เรื่องเล่าลือเกี่ยวกับอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนหน้านี้ มีเสียงเล่าลือกันมาเกี่ยวกับเรื่องอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลกว่า “ผีดุ” ไม่มีใครกล้าไปอยู่ ยิ่งเมื่อ พล.อ.เปรมย้ายเข้าไปพักได้เพียง 7 คืน ก็ย้ายกลับไปพักบ้านสี่เสาเทเวศน์เหมือนเดิมโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ เสียงเล่าลือเกี่ยวกับอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก ก็ถูกเล่าลือกันมากกว่าเดิม
ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2531-2534) บ้านพิษณุโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะมีการบูรณะตกแต่งใหม่และใช้เป็นที่ทำงานของ “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ที่ประกอบด้วย
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ
ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
และไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา และบุตรชายของนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)
อย่างไรก็ตาม คณะ รสช.ที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลในยุคนั้น กล่าวหาว่า พล.อ.ชาติชาย ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ดังนั้น ในการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะ รสช. จึงได้เข้ายึดและตรวจค้นบ้านพิษณุโลกอย่างละเอียด สร้างประวัติศาสตร์ในอีกมิติให้กับบ้านพิษณุโลก นอกเหนือจากเรื่องอาถรรพณ์
ในสมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2534-2535) ตัวท่านเองแสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าพำนักที่บ้านพิษณุโลก แต่ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกบ้านแขกเมือง ต่อมาสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้นๆ (เม.ย.-พ.ค. 2535) ก็ไม่ได้ย้ายมาพำนักที่บ้านพิษณุโลกแต่อย่างใด
2
กระทั่งมาถึงสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2535-2538 และ พ.ศ. 2540-2544) มีการปรับโฉมบ้านพิษณุโลกเพื่อเป็นบ้านพักของนายกฯ อีกครั้ง กล่าวกันว่า นายกฯ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกแห่งนี้และอยู่ได้นานทั้งสองสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ท่านใช้เพียง “โซฟาในห้องทำงาน” ซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน ไม่ได้นอนเตียงในห้องนอนหลักของบ้านแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการ “ให้เกียรติแก่เจ้าของบ้าน”
หลังจากยุคของนายชวน หลีกภัย แล้วก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พำนักจนถึงปัจจุบัน มีเพียงแต่ใช้เป็นที่ประชุมและรับแขกเท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลกนี้ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ทายาทสกุลอนิรุทธเทวาผู้เป็นเจ้าของบ้านในยุคสมัยเริ่มแรก และอยู่บ้านนี้ในช่วงวัยเด็ก ยืนยันว่าบ้านพิษณุโลกไม่มีอาถรรพณ์ต่างๆ แน่นอน เพราะไม่เคยมีใครพบเห็นหรือประสบ “ผีดุ” เหมือนที่ใครร่ำลือ “ผมเคยสืบความได้ว่า ตำรวจที่มาเฝ้ากุเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเขาไม่อยากอยู่ที่นี่ จำเจ อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็เลยบอกว่าเจอผี เจออะไรบ้างก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร” ทายาทเจ้าของเดิมบ้านพิษณุโลกกล่าว
อย่างไรก็ตาม วันนี้บ้านพิษณุโลกได้กลับมาเป็นสถานที่ประชุมเรื่องสำคัญๆของรัฐบาลอีกครั้ง เรื่องราวของอาถรรพณ์ไม่น่าจะต้องมีการพูดถึงกันอีก เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องใจรอฟังนั้นเป็นเรื่องยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่รัฐบาลรับปากไว้เสียมากกว่า
โฆษณา