เมื่อสัปดาห์ก่อน ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี ทำให้ธนาคารกลางต้องออกมาแทรกแซงค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าไปกว่านี้ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเงินดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าคาดการณ์ในตลาด
เรื่องที่น่ากังวลมันอยู่ตรงที่ว่า หลังจากการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ผ่านมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจจีนก็ดูเหมือนจะยังหยุดนิ่งอยู่ ดัชนีราคาผู้บริโภคก็หดตัวลง วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยิ่งทำให้การส่งออกแย่ลง อัตราการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาวก็ออกมาไม่ดี จนรัฐบาลต้องหยุดการรายงานตัวเลขในส่วนนี้ไป
บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลัก ๆ และบริษัทลงทุนที่มีชื่อเสียง ต่างทยอยผิดนัดชำระหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มา ทำให้คนเริ่มกลัวกันว่าสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะนำพาให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน
การขาดมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และความกลัวว่าวิกฤตจะลุกลามติดต่อไปยังส่วนอื่น ๆ ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลง บริษัทวาณิชธนกิจหลัก ๆ หลายแห่งต่างปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงเหลือต่ำกว่า 5% เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ยิ่งหนักขึ้น อุปสงค์ภายนอกก็อ่อนแอยิ่งขึ้น และนโยบายที่ช่วยสนับสนุนก็ออกมาน้อยกว่าที่คิดไว้
Nomura, Morgan Stanley และ Barclays ก็ได้ปรับลดคาดการณ์จากครั้งก่อนเช่นกัน นั่นหมายถึงจีนจะไม่สามารถ บรรลุการเติบโตเป้าหมายที่ 5.5% ได้
เศรษฐกิจจีนเริ่มซบเซาลงไปตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน เมื่อแรงฟื้นตัวจากในช่วงต้นปีเริ่มซาลงไป แต่ความกังวลที่เพิ่มมากในเดือนนี้ คือการที่บริษัท country garden บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุด และ Zhongrong Trust บริษัททรัสต์ ต่างพากันผิดนัดชำระหนี้
ขณะที่ Evergrande ยังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ปัญหาของ Country Garden ก็กลายเป็นความกังวลใหม่ต่อเศรษฐกิจจีนขึ้นมา
ทางกรุงปักกิ่งได้พยายามออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ตอนนี้แม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่ ๆ กลับเริ่มจะเดินไปติดอยู่ตรงขอบเหวว่าจะผิดนัดชำระหนี้เมื่อไหร่ จึงยิ่งเน้นย้ำถึงความท้าทายในการควบคุมวิกฤตที่ต้องเผชิญ
ขณะเดียวกัน การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดูเหมือนว่าจะเริ่มกระจายไปยังอุตสาหกรรมทรัสต์เพื่อการลงทุน เป็นมูลค่ากว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
ความตึงเครียดทางการคลังอย่างรุนแรง เห็นได้จากการที่ระดับหนี้ท้องถิ่นไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อธนาคารจีนเท่านั้น แต่ยังบีบให้รัฐบาลมีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และขยายบริการสาธารณะได้น้อยลง
ขณะนี้กรุงปักกิ่งได้เปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ย และยังมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อช่วยตลาดอสังหาริมทรัพย์ ช่วยผู้บริโภค และช่วยธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างก็มองว่าจีนมีหนี้มากเกินกว่าจะใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งจะนำไปสู่ระดับหนี้มีเพิ่มขึ้นจนย้อนกลับมาเป็นปัญหาในอนาคตได้อีก-prachachat
2 ถูกใจ
1 แชร์
306 รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 2
    โฆษณา