12 ก.ย. 2023 เวลา 06:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Ep. 10 | Psychometrics: ศาสตร์แห่งเครื่องมือวัดทางจิตวิทยา

👉
ในบทความครั้งก่อน (Eps. 8, 9) เรามีพูดถึงลักษณะทางไซโคเมทริก (psychometric) เช่น ความเที่ยง (reliability) และความตรง (validity) ซึ่งเป็นปัจจัยในการตัดสินว่า แบบทดสอบบุคลิกภาพ (personality test) สามารถประเมินบุคลิกภาพได้จริงหรือไม่
ในบทความนี้ เราจะมาปูพื้นฐานกันว่า psychometrics คืออะไร และลักษณะทางไซโคเมทริกขั้นพื้นฐานมีอะไรบ้าง
🤓 1. Psychometrics
จิตวิทยา ซึ่งถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง ใช้หลักการเชิงประจักษ์ (empirical approach) หรือการเห็นได้ด้วยตา ในการศึกษาจิตใจและพฤติกรรมมนุษย์
ซึ่งวิธีการที่เป็นแก่นสำคัญของหลักการเชิงประจักษ์ คือ การวัด (measurement) ซึ่งทำให้เราสามารถระบุสิ่งที่เราต้องการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพิสูจน์และพิจารณาด้วยตาเห็นต่อไปได้
ทั้งนี้ การวัดทางจิตวิทยา (psychological test) ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบบุคลิกภาพ ความฉลาด (intelligence) ความสามารถ (ability) และลักษณะทางจิตใจอื่น ๆ คือ กระบวนการเปรียบเทียบพฤติกรรม* ระหว่างบุคคลอย่างเป็นระบบ (Cronbach, 1960) และการนำกระบวนการนี้ไปใช้ เรียกว่า การทดสอบทางจิตวิทยา (psychological testing; Furr et al., 2014)
ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า การวัดทางจิตวิทยามีความแม่นยำและน่าเชื่อถือ จึงได้มีการศึกษาลักษณะต่าง ๆ ของเครื่องมือวัด (measurement tool) เช่น แบบประเมินตัวเองและแบบทดสอบต่าง ๆ
ซึ่งศาสตร์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ เรียกว่า psychometrics
😎 2. ลักษณะทางไซโคเมทริกขั้นพื้นฐาน: ความเที่ยงและความตรง
ลักษณะทางไซโคเมทริกและวิธีการตรวจสอบลักษณะเหล่านี้ของเครื่องมือวัดทางจิตวิทยาอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของเครื่องมือ
เช่น แบบทดสอบความฉลาดที่ใช้นักจิตวิทยาในการเก็บคำตอบจากผู้ทำแบบทดสอบ ผ่านการนำเสนอสิ่งเร้าอย่างเป็นระบบตามคู่มือ และแบบทดสอบความฉลาดที่ทำบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งประเมินความฉลาดจากการนำเสนอสิ่งเร้าที่เปลี่ยนไปตามคำตอบของผู้ทำแบบประเมินและตรวจจับความเร็วในการตอบสนองในระดับเสี้ยววินาที อาจต้องใช้เทคนิคและมีลักษณะทางไซโคเมทริกแตกต่างกัน แม้ว่าจะประเมินความฉลาดเหมือนกันก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางไซโคเมทริกขั้นพื้นฐานที่เครื่องมือวัดทางจิตวิทยาต่าง ๆ จะต้องมี มีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ
(1) ความเที่ยง หรือความสอดคล้องในการประเมิน
(2) ความตรง หรือความสามารถในการประเมินสิ่งที่ถูกออกแบบมาให้ประเมิน
☝️ 2.1. ความสัมพันธ์ระหว่างความเที่ยงและความตรง
ระหว่าง 2 ลักษณะนี้ ความตรงเป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดในการนำเครื่องมือทางจิตวิทยาต่าง ๆ ไปใช้ในการวัด เพราะจุดประสงค์ คือ เราต้องการรู้ “ปริมาณ” ของพฤติกรรมที่เรากำลังศึกษา อย่างไรก็ตาม การจะได้ความตรง เครื่องมือทางจิตวิทยาจะต้องมีความเที่ยงในระดับที่ “รับได้” ก่อน
เหตุผลก็คือ ถ้าหากว่า เครื่องมือวัดไม่มีความเที่ยง คือ ไม่สามารถบอก “ปริมาณ” พฤติกรรมที่คงที่ได้ (เช่น วัดครั้งแรก บอกว่า มีบุคลิกภาพชอบเข้าสังคม “สูง” แต่วัดครั้งที่สอง บอกว่า “มีในระดับ “ต่ำ”) เราจะไม่สามารถบอกได้ด้วยความมั่นใจว่า สิ่งที่เครื่องมือวัดออกมาได้ เป็นสิ่งที่เราต้องการจริงหรือไม่ (เช่น เป็นบุคลิกภาพชอบเข้าสังคมจริงหรือเปล่า)
ในทางกลับกัน หากเครื่องมือมีความเที่ยง (เช่น ไม่ว่าจะวัดกี่ครั้งก็ให้ระดับบุคลิกภาพชอบเข้าสังคมเหมือนกันทุกครั้ง) เราก็พอจะสามารถบอกได้ด้วยความมั่นใจระดับหนึ่งว่า เครื่องมือวัดของเรา “อาจ” มีความตรง
ที่ใช้คำว่า “อาจ” เพราะการที่เครื่องมือมีความเที่ยงแล้ว ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความตรงเสมอไป เพราะแม้ว่าเครื่องมือจะให้คะแนนของลักษณะทางจิตวิทยาในระดับที่สม่ำเสมอ แต่สิ่งที่วัดออกมาจริง ๆ อาจเป็นลักษณะอื่นก็ได้ (เช่น วัดบุคลิกภาพชอบพูดคุยแทนชอบเข้าสังคม)
การที่จะบอกได้อย่างมั่นใจขึ้นว่า เครื่องมือมีความตรง จะต้องการหลักฐานสนับสนุนมากกว่าความเที่ยงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หลักฐานเหล่านี้อาจไม่มีประโยชน์นัก หากเครื่องมือขาดความเที่ยงไป เพราะความเที่ยงจะกำหนดความตรงสูงสุดที่เครื่องมือวัดจะมีได้ (Ashton, 2023)
⏭️ 3. ตอนต่อไป
ในบทความต่อไป เราจะมาลงลึกรายละเอียดของความเที่ยงและความตรงกันว่า ความเที่ยงและความตรงมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทสามารถทดสอบอย่างไรได้บ้าง
⚡ หมายเหตุ
* พฤติกรรม (behaviour) ในทางจิตวิทยา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) แบบที่สังเกตเห็นได้ด้วยตา (observable หรือ overt) เช่น การสูบบุหรี่ การกิน การเข้าสังคม และ (2) แบบที่สังเกตเห็นไม่ได้ด้วยตา (unobservable หรือ covert) เช่น ความคิด คติ ดังนั้น ในบางครั้ง พฤติกรรมอาจหมายถึงลักษณะทางจิตใจที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น ความรู้และความคิด ด้วย
#psychology #individualdifference #personality #psychometrics #psychometricproperties #reliability #validity #จิตวิทยา #บุคลิกภาพ #ไซโคเมทริก #ความเที่ยง #ความตรง
📃 อ้างอิง
Ashton, M. C. (2023). Basic concepts in psychological measurement. In Individual Differences and Personality (pp. 1–29). Elsevier. https://doi.org/10.1016/B978-0-323-85950-9.00003-0
Cronbach, L. J. (1960). Essentials of psychological testing (2nd ed.). Harper & Row.
Furr, R. M., & Bacharach, V. R. (2014). Psychometrics: An introduction (2nd ed.). SAGE Publications.
ภาพปก: Image by azerbaijan_stockers on Freepik

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา