11 ก.ย. 2023 เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์

แผนเก็บเงิน 4 เดือนสุดท้าย ของคนอยากมี “เงินก้อน" ก่อนหมดปี 2023

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 เป็นต้นมา ค่าครองชีพของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยไม่เคยลดลง ล่าสุดเฉลี่ยครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 22,372 บาทต่อครัวเรือน
ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 พบว่าภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ที่มีการสำรวจความคิดเห็นในปี 2552 โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408.70 บาท ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11.5% จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711.84 บาทต่อครัวเรือน
นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่าคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76% ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน และ 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2% กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการรูดบัตรเครดิตมาใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง
จากภาระหนี้สินและการใช้จ่ายเกินตัว มีคำถามตามมาว่าหากต้องการมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือเหลือเงินแบ่งไปเก็บออม ควรทำอย่างไร คำตอบ คือ เก็บเงินก่อนนำไปใช้จ่าย อย่างน้อยๆ เดือนละ 10-15%
ตัวอย่าง เก็บเงิน 15% ของเงินเดือนแต่ละเดือน
➡️เงินเดือน 15,000 บาท เก็บ 2,250 บาท
➡️เงินเดือน 20,000 บาท เก็บ 3,000 บาท
➡️เงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 4,500 บาท
➡️เงินเดือน 50,000 บาท เก็บ 7,500 บาท
สมมติว่า สิ้นปีที่จะถึงนี้ต้องการมีเงินเก็บสักก้อน หลายคนอาจมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเหลืออีกเพียง 4 เดือนคงไม่ทันการณ์ แต่ในความจริง “ไม่สายเกินไป” ที่จะเริ่มต้นเก็บเงิน ที่สำคัญถ้าทำได้รับรองมีเงินเก็บเต็มกระเป๋าแน่นอน
✅1. #รู้เส้นทางการเงินของตัวเอง
หลายคนไม่รู้ว่าเงินเดือนหมดไปกับอะไรบ้าง เพราะมักคิดแต่เรื่องใช้จ่าย หากเป็นแบบนี้ก็จะเก็บเงินไม่อยู่ ดังนั้น ถ้าอยากเก็บเงินให้อยู่ ควรเริ่มจากจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายประจำวัน จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลการเงิน เช่น สมุดบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการลงทุน การใช้จ่ายเงิน เพื่อทำให้รู้เส้นทางเงินของตัวเอง
เช่น รายรับมาจากไหน เท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน กี่บาท เมื่อบวกลบออกมาแล้วเป็นอย่างไร วิธีการนี้จะทำให้รู้ว่ามีหลายอย่างที่ไม่ควรซื้อ บางคนถึงกับตกใจ “ซื้อไปได้อย่างไร” “ซื้อตอนไหน” ก็ทำให้เกิดอาการเสียดาย
✅2. #ลดความอยากได้อยากมี
ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้ หรือใช้เงินเกินตัว คือ การใช้จ่ายไปกับข้าวของฟุ่มเฟือย เช่น ช้อปปิ้งทุกเดือน ดังนั้น หากแก้พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ ด้วยการถามตัวเองว่า “ซื้อแล้ว จะใช้หรือไม่” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็จะเลือกเก็บเงินเอาไว้ ดังนั้น ผู้ที่รู้จักควบคุมความอยากได้ อยากมี จะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนอย่างแน่นอน
หรือพูดง่ายๆ คือ ประหยัด แต่การที่ประหยัดมากขึ้นไม่ได้ทำให้มีเงินเหลือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นหนทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่วางเอาไว้วิธีหนึ่งเท่านั้น เพราะเพียงแค่ประหยัดได้มากขึ้น เท่ากับมีเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเท่านั้น
คำว่าประหยัดในที่นี้ หมายถึง การใช้เงินเท่าที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย เช่น ปีที่แล้วเพิ่งซื้อมือถือ ปีนี้มีรุ่นใหม่ออกมาก็ซื้อทันที ซึ่งเคล็ดลับการลดความฟุ่มเฟือย ให้เริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองมีการประหยัดแค่ไหน จากคำถาม “ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินมากขึ้นหรือไม่” “ซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเท่านั้นหรือไม่” หรือ “ที่ผ่านมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นหรือไม่”
สมมติว่า นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี (4 เดือน) หยุดช้อปปิ้งเสื้อผ้า อาจมีเงินเก็บถึง 4,000 บาท
1
✅3. #หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง
สำหรับผู้ที่มีบัตรเครดิตหลายใบบวกกับบัตรกดเงินสด ควรพิจารณาหยุดการใช้จ่ายผ่านบัตรเหล่านี้ เพราะเมื่อไหร่ที่รูดผ่านบัตรเหล่านี้และชำระหนี้ด้วยวิธีขั้นต่ำ และหากงวดไหนไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ก็จะใช้วิธีกดจากบัตรใบแรก เพื่อชำระหนี้หนี้บัตรใบที่สอง ผลลัพธ์คือ มีดอกเบี้ยจ่ายสูงและไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 16% ส่วนดอกเบี้ยบัตรกดเงินสดอยู่ที่ระดับ 17%
ดังนั้น ถ้าต้องการจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนให้มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็ควรใช้เท่าที่จำเป็นและชำระหนี้เต็มจำนวน เพื่อป้องกันการเสียดอกเบี้ย หรือหากไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ต้องใช้จ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น
✅4. #ยกเลิกการเป็นสมาชิกที่ไม่จำเป็น
ทุกวันนี้ เจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ มีวิธีโฆษณาโปรโมท ให้ผู้คนสนใจสมัครสมาชิกรายปีอย่างง่ายดาย มารู้ตัวอีกทีก็กดสมัครสมาชิกไปเรียบร้อย แน่นอนว่าค่าสมาชิกรายปีก็หลายร้อยบาทหรือระดับพันบาท
ซึ่งวิธีหนึ่งที่ทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น คือ การยกเลิกการเป็นสมาชิกบางประเภทที่ไม่มีความจำเป็น หรือเข้าไปใช้บริการน้อยมากจนไม่มีความคุ้มค่า สมมติว่ายกเลิก 1 ประเภทที่มีค่าสมาชิกเดือนละ 1,000 บาท เมื่อถึงสิ้นปี (4 เดือน) ก็จะมีเก็บ 4,000 บาท
✅5. #เก็บเงินแบบอัตโนมัติ
ทุกๆ วัน ผู้คนมักจะเจอหลุมพรางเรื่องการใช้จ่ายง่ายมากขึ้น ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ กลยุทธ์การประหยัดมาต่อสู้ ซึ่งเทคนิคที่ได้ผลที่สุดและลงมือทำได้ทันที คือ เก็บเงินแบบอัตโนมัติ (DCA) โดยเมื่อเงินเดือนถูกโอนเข้าบัญชี ก็ให้ตัดเงินไปเก็บออมโดยอัตโนมัติ เช่น เงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 4,500 บาท (เก็บ 15% ของเงินเดือน) เมื่อถึงสิ้นปี (4 เดือน) ก็จะมีเก็บ 18,000 บาท
จากตัวอย่าง หากหยุดช้อปปิ้งเสื้อผ้า, หยุดเดินตลาดนัดก็มีเงินเก็บ, ยกเลิกการเป็นสมาชิกรายเดือน 1 ประเภท และเก็บเงินแบบอัตโนมัติ เมื่อถึงสิ้นปีนี้จะมีเงินเก็บรวมทั้งหมด 26,000 บาท (4,000 + 4,000 + 18,000) ซึ่งเงินเก็บจำนวนนี้ถือว่ามากพอสมควร และหากเริ่มต้นทำแบบนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม (12 เดือน) ก็จะมีเงินเก็บถึง 78,000 บาท
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การมีเงินเก็บสักก้อน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้ว อยู่ที่การบริหารจัดการและการตัดสินใจของเราด้วยว่า อยากให้เป้าหมายนี้สำเสร็จได้ในปีนี้เลยหรือไม่ ถ้าใช่ ขอให้ลงมือเริ่มต้นทำด้วยการ “เก็บก่อนใช้” จะมากหรือน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราจะมีวินัยเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้หรือเปล่า?
#aomMONEY #MoneyManagement #การบริหารจัดการเงิน #อยากมีเงินก้อน #อยากมีเงินเก็บ #เงินออม ดูน้อยลง
โฆษณา