Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2023 เวลา 11:30 • ท่องเที่ยว
วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรวิหาร (2) .. พระวิหาร
วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรวิหาร .. ภายในพระวิหารหลวงมี “พระศรีศากยมุนี” เป็นพระประธานสำริดขนาดใหญ่ องค์พระและภายในวิหารดูสุกสว่าง เนื่องจากเพิ่งได้รับการบูรณะเสร็จสิ้น โดยทางวัดได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร บูรณปฏิสังขรณ์ปิดทองพระพุทธศรีศากยมุนี ฐานพุทธบัลลังก์และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมโดยรอบ รวมทั้งยังบูรณะปิดทองลายฉลุฝ้าเพดานและติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในพระวิหารหลวงอีกด้วย
“พระศรีศากยมุนี” .. เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในสมัยสุโขทัย ด้วยขนาดหน้าตัก 6.25 เมตร สร้างในสมัยพระยาลิไท เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย
.. มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า .. พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. ๑๘๙๐ – ๑๙๑๙ ปีครองราชย์) แห่งสุโขทัย โปรดเกล้าฯ ให้หล่อและทำการฉลองในปีพุทธศักราช ๑๙๐๔ .. ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามแห่งนี้
พระพุทธลักษณะพระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวลงมาถึงระดับพระนาภี มีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน
ลักษณะพระพักตร์และพระเศียรที่ปรากฏ คือ พระรัศมีเป็นเปลวสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษ์รูปมะนาวตัด เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกออกจากกัน ระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่ พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม จุดสังเกตที่ปลายนิ้วเสมอกันทั้ง ๔ นิ้ว ถือเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ที่ดัดแปลงจากแบบโบราณ
ด้านหน้าฐานชุกชี ที่ประดิษฐาน พระะศรีศากยมุนี มีช่องประดิษฐานพระสรีรังคารของรัชกาลที่ ๘ ตรงผ้าทิพย์ด้านหน้าฐาน
ด้านหลังองค์ “พระศรีศากยมุนี” มี “แผ่นศิลาจำหลักสมัยทวารวดี” ที่งดงามล้ำค่า บนแผ่นหินนั้นมีภาพสลักพระพุทธเจ้าขณะทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์อยู่ในตอนล่าง ส่วนตอนบนเป็นภาพขณะทรงแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
.. โดยมีรูปปั้นของปัญจวัคคีทั้ง 5 อยู่ด้านหน้าภาพสลัก
พุทธศิลป์ “เทศนาธรรมโปรดพุทธมารดา” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
บริเวณด้านหลังฐานชุกชีของ “พระศรีศากยมุนี” พระประธานในวิหารใหญ่ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร มีภาพสลักนูนต่ำบนแผ่นหินปูน แสดงภาพพุทธประวัติสำคัญในตอน “เทศนาธรรมโปรดพุทธมารดา ที่ดาวดึงส์” และตอน “ยมกปาฏิหาริย์” ที่เมืองสาวัตถี ที่เชื่อกันว่าถูกย้ายมาจากเมืองนครปฐมโบราณมาไว้ที่อยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ติดผนึกอยู่
ศิลปะของภาพสลัก แบ่งพุทธประวัติออกเป็นสองตอนด้วยเส้นลวดเป็นแถบกว้าง วางลวดลายสิงห์ผงาดเอียงด้านข้างคู่กับรูปคนแคระ โดยมีเสาหม้อน้ำปูรณฆฏะคั่นสลับ ปิดด้วยเส้นลวดบัวที่มีลายลูกปัดอัญมณีเม็ดกลมทั้งด้านบนและด้านล่าง อันเป็นศิลปะนิยมแบบอนุราธปุระ–ลังกา ในคติความเชื่อแบบนิกายเถรวาท
ภาพสลักนูนต่ำภายในกรอบด้านล่าง เป็นเหตุการณ์และเรื่องราวในพุทธประวัติตอน “ยมกปาฏิหาริย์” แบบเถรวาทวาท ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในพรรษาที่ 7 หลังจากวันตรัสรู้ เพื่อกำราบพวกพวกนอกศาสนา (เดียรถีย์) ที่เมืองสาวัตถี
Photo : Internet
พระพุทธเจ้าสมณโคดม ประทับห้อยพระบาทบนภัทรบัลลังก์ .. มีพระอินทร์และพระพรหมถือแส้จามรเป็นบริวารอยู่ทางด้านข้าง ที่ปลายพระบาทเป็นภาพของ “มนุษย์นาคนันทะ-นนฺท” และ“อุปนันทะ-อุปนนฺท” ยกดอกบัวจากปัฐพีขึ้นรองพระบาท
กลุ่มบุคคลทางด้านขวาล่าง ที่สวมมงกุฎคือพระเจ้าปเสนทิโกศล และเทพยดา .. ที่ในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากมายเหลือคณานับ โดยแทรกรูป “คน (ยักษ์) แคระและคุหยกะ” บริวารของท้าวกุเวรผู้อำนวยโชคลาภสักการะ ในฐานะบริวารแห่งความมั่งคั่ง อันเป็นเอกลักษณ์เด่นทางคติศิลปะของอนุราธปุระและอานธระ ทั้ง “สังขนิธิ” สวมหมวกหอยสังข์ และใส่ใบหน้าของ “ปัทมนิธิ” สวมหมวกทรงดอกบัว คุหยกะและคนแคระผู้ชดใช้กรรม (มีเชือกล่าม) อยู่ร่วมในกลุ่ม
ด้านบนเป็นภาพของ พระพุทธเจ้าจับคู่ (ยมก – แปลว่า เป็นคู่) 8 องค์ .. องค์ตรงกลางคือพระพุทธเจ้าเนรมิต ประทับบนต้นมะม่วงใหญ่ “คัณฑคามพฤกษ์” ที่ออกผลเป็นช่ออยู่เต็มต้น ในอิริยาบถเดินจงกรม ประทับ แสดงเทศนาธรรม ประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงเทศนาธรรม และบรรทมไสยาสน์
ส่วนล่างฝั่งขวา เป็นภาพของบุคคล 6 คน ที่กำลังตื่นตระหนก บางคนกำลังลุกหนีโดยมีคนอื่นจับขาดึงไว้ หมายถึงกลุ่มเดียรถีย์ ประกอบด้วย ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะและนิครนถ์นาฏบุตร โดยคนที่ลุกยืนยกมือในกลุ่มบุคคล หมายถึง “ศาสดามหาวีระ” ผู้นำลัทธิเชนในยุคเดียวกันกับพระพุทธเจ้า โดยคำว่า “นิครนถ์” มีความหมายว่า ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัดหรือเครื่องผูกพัน นิกายนี้จึงไม่สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกาย
ภาพสลักด้านบน .. เป็นภาพต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากแสดง “ยมกปาฏิหาริย์” แล้ว .. พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับใต้ต้นปาริชาติ ใกล้พระมหาเจดีย์จุฬามณีและสุธรรมาเทวสภาศาลา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อจำพรรษาเป็นเวลาสามเดือน
ทรงเทศนาธรรม พระอภิธรรมปิฎก โปรดพุทธมารดเพื่อเป็นการสนองพระคุณ ซึ่งพระนางสิริมหามายาได้ไปจุติเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) เสด็จลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) จนบรรลุโสดาปัตติผล
ครั้นถึงวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงจากเทวโลกลงสู่โลกมนุษย ในวัน “มหาปวารณา - เทโวโรหนะ” (วันออกพรรษา) วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 .. ที่เรียกว่า “เสด็จลงจากดาวดึงส์” ที่เมืองสังกัสสะ ได้เกิดอัศจรรย์เป็นเนินใหญ่เชื่อมพรหมโลก อเวจีมหานรก โลกมนุษย์และจักรวาลหลายแสนเป็นเนื้อเดียวกัน เทพยดาจึงได้แลเห็นพวกมนุษย์ มนุษย์ได้เห็นเทพยดา สัตว์นรกได้เห็นมนุษย์และเทพยดา เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก
ภาพสลักแสดงภาพของพระพุทธเจ้าประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ ปาง “ปรลัมภาปทาสนะ” บนบัลลังก์ภัทรอาสน์ ... พระหัตถ์ขวายกขึ้น ยกขึ้นจีบนิ้วแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม-จักร) ในความหมายของพระธัมมจักกัปปวัตตนสูต เป็นท่ามือที่เรียกว่า “วิตรรกะมุทธา” มีความหมายถึง “วงล้อแห่งธรรมจักร” แสดงการ “สั่งสอน” หรือ “เทศนา” พระหัตถ์ซ้ายวางราบที่เหนือพระเพลาใต้พระอุทร
ทรงแสดงธรรมเทศนา ใต้ต้นไม้ใหญ่ ที่มีการประดับประดาด้วยเครื่องถนิมพิพาภรณ์ มีผ้าแพรพรรณผืนยาวและสายสร้อยมาลัยดอกไม้หอม เป็นเครื่องสักการบูชาพาดอยู่บนกิ่งก้าน รอบพระเศียรและพระวรกายด้านบน ทำเป็นประภามณฑลล้อมรอบ ประดับด้วย “ลวดลายกระหนก -พรรณพฤกษาต่อเนื่อง” และลายลูกแก้วอัญมณีล้อมรอบ ด้านซ้ายและขวาเป็นภาพของเทพยดา อันหมายถึงพระอินทร์และพระพรหม
มีภาพของพระนางสิริมหามายาถือดอกไม้มาลัยในพระหัตถ์ แสดงอาการฟังพระธรรมเทศนา แวดล้อมด้วยหมู่เทพสตรีกำลังถวายการอัญชลี โดยมีพานเครื่องสูง 5 ชุด ใส่เครื่องบูชาบายศรี และพวงมาลัยดอกไม้หอมที่บริเวณแท่นบูชาด้านล่าง อีกฝั่งหนึ่งเป็นเหล่าเทพยดาฝ่ายชายกำลังนั่งฟังพระธรรม ถวายอัญชลีสาธุการ
“พระสุนทรีวาณี” เทพธิดาตามคติในศาสนาพุทธ ... มีหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาพระธรรมและพระไตรปิฎก พระสุนทรีวาณีมีต้นกำเนิดจากวัดสุทัศน์ โดยเกิดจากภาพนิมิตของสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒนมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ฯ รูปที่3 และเป็นที่เคารพศรัทธาของรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างยิ่ง ผู้คนมักมากราบขอพร
นอกจากจะกราบพระและเดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ภายในวิหารหลวงก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจที่ไม่ควรพลาดชม อาทิ พระพุทธรูปปางต่างๆ ภายในพระวิหาร
ภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรวิหาร
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวงนั้น สร้างสรรค์อย่างวิจิตรจากพื้นจรดเพดาน .. ว่าด้วยเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมทั้งแปดต้น เขียนภาพเรื่องไตรภูมิโลก สัณฐานว่าด้วยภพภูมิ โลก และจักรวาล ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา เหนือกรอบประตูและหน้าต่าง
มีภาพชุดจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษข่อยบรรจุในกรอบไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่งประดับอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่าง ช่องละ ๓ ภาพ รวม ๔๘ ภาพ เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๔
สำหรับภาพทั้งหมดนั้นปัจจุบันเหลือ ๔๖ ภาพ เสียหายไป ๒ ภาพ เป็นภาพที่ประดับเหนือช่องประตูกลาง เมื่อครั้งเกิดไฟไหม้บานประตูไม้แกะสลักฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๒ ในปี ๒๕๐๒ (ประตูไม้ชิ้นนี้ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ภาพชุดนี้ถือเป็นภาพชุดจิตรกรรมที่เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
ตามคติการสร้างเมืองแบบโบราณนั้น รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดสุทัศน์ขึ้นกลางพระนครเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล การออกแบบพระวิหารหลวงจึงจำลองเป็นเขาพระสุเมรุและภาพชุดจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์ จึงได้รับการสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับคติความเชื่อดังกล่าว
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุทัศนเทพวรารามปรากฏอยู่ในพระอุโบสถและพระวิหาร สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จนเสร็จสมบูรณ์ แต่ต่อมาคงจะชำรุดจึงเขียนซ่อมในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยพิจารณาจากเทคนิคในการเขียนภาพจิตรกรรมบางภาพมีลักษณะผิดแผกไปจากสมัยรัชกาลที่ 3 และจากจดหมายเหตุต่าง ๆ เรื่องราวที่เขียนภายในพระอุโบสถเป็นเรื่องปัจเจกพุทธและพุทธประวัติ ส่วนเรื่องราวที่เขียนในพระวิหารเป็นเรื่องอดีตพุทธและไตรปิฎก
ภาพจิตรกรรมที่เสาทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสภายในพระวิหารหลวง เป็นภาพเรื่องไตรภูมิเฉพาะกามภูมิ ภาพชาดก และภาพธรรมนิทาน เขียนปะปนกันอยู่บนเสา 8 ต้น รวมทั้งหมด 32 ด้าน
การลำดับภาพจะจัดภาพเรียงไปตามผังภาพไตรภูมิ โดยช่วงบนของเสาเขียนเป็นยอดเขาในไตรภูมิ ช่วงกลางของเสาทุกต้นเขียนภาพเรื่องราวที่เกิดในโลกมนุษย์ และช่วงล่างของเสาเกือบทุกต้นเขียนภาพเรื่องราวที่เกิดในป่าหิมพานต์ ยกเว้นบางต้นเขียนเรื่องอสูรพิภพและยมโลก ส่วนภาพชาดกและธรรมนิทานเขียนแทรกไว้ทั้งในส่วนของโลกมนุษย์และป่าหิมพานต์
ภาพสัตว์หิมพานต์ที่อยู่ในกรอบกระจกเหนือประตูหน้าต่างภายในพระวิหารหลวงได้รับอิทธิพลจากเรื่องไตรภูมิพระร่วงและอาจได้รับอิทธิพลจากไตรภูมิโลกวินิจฉัย ..
.. ซึ่งจิตรกรได้นำคติและแนวคิดต่าง ๆ จากเรื่องดังกล่าวมาผสมกับจินตนาการของตน แล้วผูกเขียนขึ้นเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ที่มีความสวยงามและผิดแปลกไปจากสัตว์ธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ภาพสัตว์หิมพานต์เหล่านี้ยังได้รับอิทธิพลจากเรื่องรามเกียรติ์และอิทธิพลจากศิลปกรรมจีน ซึ่งปรากฎในลักษณะรูปแบบของสัตว์หิมพานต์ เช่น อสูรวายุภักษ์ กิเลน เป็นต้น
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม จะมีภาพสัตว์หิมพานต์และสัตว์ชนิดต่าง ๆ ปรากฏอยู่หลายแห่ง
… ที่สำคัญคือในกรอบกระจกเหนือประตูหน้าต่าง และเสาพระวิหาร ภาพสัตว์หิมพานต์มีความสวยงามและมีลักษณะผิดแปลกไปจากสัตว์ธรรมดาทั่วไป บางชนิดเป็นสัตว์ 4 เท้า บางชนิดเป็นสัตว์ 2 เท้า แต่มีร่างกายส่วนบนป็นมนุษย์ ยักษ์ หรือเป็นสัตว์ต่างชนิดกัน
เรื่องราวในวรรณคดี
ภาพวาดการค้าขายกับต่างประเทศ
วิหารหลวงวัดสุทัศน์ และที่มาของ “เปรตวัดสุทัศน์”
“เปรต” เป็นสัตว์ในอบายภูมิประเภทหนึ่ง ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องเกี่ยวกับไตรภูมิ มีรูปร่างต่างๆกัน มีความหิวโหยทุกข์ทรมาน มีเรื่องเล่าขานกันว่า มีผู้พบเห็นเปรตที่วัดสุทัศน์แห่งนี้ จนมีคำกล่าวกันว่า “แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์”
สำหรับแร้งวัดสระเกศนั้น มาจากเรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ 4 มีโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาด คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย จนต้องเอาศพไปกองทิ้งไว้บริเวณวัดสระเกศ มีแร้งมากินซากศพจำนวนมาก
ส่วนเรื่อง “เปรตวัดสุทัศน์” มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากจิตรกรรมบนเสาด้านข้างขององค์พระศรีศากยมุนี ในพระวิหาร ซึ่งวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีรูปหนึ่งเป็นรูปเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่และมีพระสงฆ์กำลังยืนพิจารณาสังขาร ซึ่งภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต เป็นที่ร่ำลือกันว่าหากใครได้มีโอกาสไปกราบไหว้พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวง ต้องไปดูรูปจิตรกรรม "เปรตวัดสุทัศน์" ที่ขึ้นชื่อนี้
Photo : EJeab Academy
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าว่า ในอดีตบริเวณหน้าพระวิหารหลวง มีผู้พบเห็นเปรตในเวลาค่ำคืนบ่อยครั้ง จนกระทั่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ขณะที่ยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ยังเคยเปรยกับเปรต ความว่า "อยู่ด้วยกันนะ อย่าให้ชาวบ้านได้เดือดร้อน" จากนั้นเปรตก็ไม่มาปรากฏอีก
ข้อสันนิษฐานอีกเรื่อง มีว่า “เปรตวัดสุทัศน์” อาจเป็นความเข้าใจผิดของผู้ที่มองเห็นเสาชิงช้าที่อยู่บริเวณหน้าวัดในเวลาเช้ามืดที่หมอกลง หรือต้นไม้ยามค่ำคืน แล้วหลงคิดว่าเป็นเปรตก็อาจเป็นไปได้
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารหลวงวัดสุทัศน์ แสดงภาพ “สัตว์นรก” ในนรกภูมิ ตามความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ที่กล่าวถึงภูมิทั้งสาม ได่แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ โดยนรกภูมินั้นเป็นส่วนหนึ่งของกามภูมิ ที่ผู้ทำบาปจะไปเกิดเพื่อรับผลกรรมชั่ว โดยมีบรรยายไว้ในบันทึกโบราณหลายฉบับ เช่น สมุดภาพไตรภูมิ ไตรภูมิพระร่วง คัมภีร์ต่างๆ ฯลฯ
นรกภูมิ ประกอบด้วยมหานรก 8 ขุม มียมโลกนรก 320 ขุม อยู่รอบ 4 ทิศๆ ละ 10 ของมหานรกแต่ละขุม อุสสทนรก 128 ขุม อยู่รอบๆ 4 ทิศ ๆ ละ 4 ของมหานรกแต่ละขุม นรกขุมที่ลึกที่สุดเรียกว่า “โลกันตนรก” เป็นนรกที่อยู่ระหว่างช่องว่างของจักรวาลทั้งสามจักรวาลที่มาบรจบกัน มืดมนไม่มีแสงใดๆ
กลอง.. เขียนบอกเอาไว้ว่า ห้ามตีเล่น ใช้เฉพาะช่วงที่พระเทศน์
***NOTE เรื่องเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าแสดง ยมกปาฏิหารย์
“ ....ครั้งหนึ่งมีท่านเศรษฐี แกะสลักบาตรขึ้นมาจากปุ่มไม้แก่นจันทร์ นำไปแขวนไว้บนยอดเสาไผ่ที่สูง 15 วา พร้อมประกาศว่า หากมีลัทธิศาสนาใดมีอิทธิฤทธิ์เหาะเหิน ขึ้นไปนำบาตรลงมาจากยอดเสาได้ จะขอเป็นผู้อุปภัมภกค้ำจุนลัทธินั้นไปตลอดชีวิต...
... บรรดาเจ้าลัทธิหรือเดียรถีย์ที่ชื่อเสียงทั้ง 6 คน ได้แก่ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะ และนิครนถ์นาฏบุตรต่างก็อยากได้บาตรไม้แก่นจันทร์ แต่ไม่มีเจ้าลัทธิใดสามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้เลย นิครนถ์นาฏบุตรจึงได้นัดแนะกับลูกศิษย์ว่า จะทำทีแสดงว่ามีอิทธิฤทธิ์ หากท่านกำลังจะทำท่าเหาะขึ้น ให้เหล่าศิษย์ดึงขาเอาไว้ แล้วอ้างว่าเหล่าศิษย์ไม่อยากให้ตนแสดงปาฏิหาริย์ให้คนธรรมดาไร้อิทธิฤทธิ์เห็น จะทำสิ้นฤทธิ์ แต่ท่านเศรษฐีรู้ทัน ไม่ยอมมอบบาตรไม้แก่นจันทร์ให้...
...เวลาผ่านไป 7 วัน ยังไม่มีใครสามารถเหาะขึ้นไปเอาบาตรแก่นไม้จันทร์ลงมาได้ ทำให้ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในโลกนี้คงไม่มีพระอรหันต์อยู่จริง ต่างนินทากันว่าทุกลัทธิล้วนหลอกลวง
พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑลภารวาชะเถระ กำลังออกบิณฑบาตรอยู่ได้ฟังชาวเมืองวิพากษ์วิจารณ์ คิดว่าชาวเมืองนั้นกำลังดูหมิ่นพระศาสนา จึงประกาศให้ชาวเมืองได้รับรู้ว่า ในโลกนี้มีพระอรหันต์จริง โดยยกให้พระปิณโฑลภารวาชะเถระ เป็นผู้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศ นำบาตรไม้แก่นจันทร์ที่แขวนไว้ลงมา...
...ท่านเศรษฐีเห็นดังนั้นแล้วก็ให้ปิติใจว่า ในโลกนี้มีพระอรหันต์อยู่จริง ชาวเมืองเมื่อได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระปิณโฑลภารวาชะเถระ จึงพากันชุมนุมติดตามพระเถระที่วิหารเพื่อหวังให้ท่านแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ได้ชมอีก จนเสียงไปถึงพระกรรณของพระพุทธเจ้า...
...เมื่อทรงทราบเรื่องราว จึงทรงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ทรงติเตียนพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ และบัญญัติสิกขาบทห้ามพระภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อีก บัญญัติสิกขาบทห้ามพระภิกษุใช้บาตรไม้ หากฝ่าฝืนจะต้องอาบัติทุกประการ ทรงให้นำบาตรไม้แก่นจันทร์ไปทุบให้เป็นผงเพื่อทำยาหยอดตาแจกจ่าย...
...นิครนถ์นาฏบุตรและสาวกต่างเก็บความแค้นใจ เมื่อเหล่าพวกเดียรถีย์รู้ว่า พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็เข้าใจผิดว่าเมื่อพระพุทธองค์บัญญัติสิกขาบทแล้ว พระพุทธองค์ก็จะไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้เองด้วย จึงดีใจเพราะเป็นโอกาสที่จะได้ล้างแค้น เอาชนะกับพระพุทธองค์
.. จึงท้าประลองฤทธิ์ระหว่างเจ้าลัทธิด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงรับคำท้าด้วยการจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ใต้ต้นอชลปาลนิโคตร นิครนถ์นาฏบุตร จึงได้สั่งให้ลูกศิษย์ไปตัดถอนต้นมะม่วงให้หมดในเมือง เพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าได้มีโอกาสแสดงปาฎิหาริย์ แต่นายคัณฑะผู้รักษาสวนหลวงนำมะม่วงมาถวาย ทรงให้ปลูกมะท่วงขึ้นใหม่และทรงล้างพระหัตถ์ลงบนปากหลุม ทำให้มะม่วงโตในวันนั้นเลยสูงใหญ่ ชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ตามชื่อของนายคัณฑะ เป็น “มหาปาฏิหาริย์” (มะม่วงโต) ครับ...
...นิครนถ์นาฏบุตรและบรรดาเจ้าลัทธิอื่นตั้งปะรำพิธีสูงใหญ่ด้วยไม้ตะเคียนเพื่อแสดงอวดฤทธา (กายกรรม – มายากล) แต่เกิดพายุพัดจนปะรำหักพัง พระพุทธจึงได้แสดง “ยมกปาฎิหาริย์”
พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้วในอากาศเหนือต้นมะม่วง แล้วเสด็จขึ้นสู่ที่จงกรมนั้น กระทำปาฏิหาริย์ให้บังเกิดเป็นพรุทธเจ้าคู่ ทั้งยืน – จงกรม ขัดสมาธิ ไสยาสน์ มีสายน้ำและแสงไฟพุ่งมาจากพระวรกายสลับกันไป แสงไฟที่พุ่งออกมานั้นเป็น “ฉัพพรรณรังสี” 6 สีสลับกัน เมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก ทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่ง ทรงให้พุทธเนรมิตแสดงพระอาการสลับกันกับพระพุทธองค์ เมื่อทรงตั้งปัญหาถามพระพุทธเนรมิตก็ตรัสวิสัชนาแก้สลับกันไป ...
...เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงมหาปาฎิหาริย์แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทที่มาร่วมชุมนุมจนหลายคนบรรลุมรรคผล...
...ภายหลังจากที่พายุได้พัดปะรำพิธีพวกเดียรถีย์พังหมด จนไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ - กลมายาได้ และยังได้เห็นปาฏิหาริย์แห่งพระพุทธองค์แล้ว ก็มีความช้ำใจหนัก นิครนถ์นาฏบุตร สัญชยเวลยบุตร เจ้าลัทธิและสาวกหลายคนกระอักเลือดจนสิ้นใจ ส่วนเจ้าลัทธิและสาวกที่เหลือก็พากันอพยพออกจากเมืองสาวัตถี...”
หลังจากการแสดงยมกปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้ายังได้แสดงปาฏิหาริย์ เสด็จสู่ดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดา ด้วยการก้าวเพียง 3 ก้าวเท่านั้น
บันทึก
3
1
2
3
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย